วันอาทิตย์, มิถุนายน 23, 2024
หน้าแรกการเมืองกางไทม์ไลน์ “หมอไห่” กับข้อหารับจ๊อบ-ขาดคุณสมบัติ ชัดๆ

Related Posts

กางไทม์ไลน์ “หมอไห่” กับข้อหารับจ๊อบ-ขาดคุณสมบัติ ชัดๆ

“….เวทีเสวนา “เปิดกฎหมาย : ประธาน กสทช.ขาดคุณสมบัติหรือไม่” ในรายงานของ กมธ.ไอซีทีนั้นระบุอย่างชัดเจนว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ตรวจสอบ ประกอบหนังสือตอบยืนยันจากสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณฯ ยังทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย โดยมีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และเป็นแพทย์ที่รับค่าตอบแทนรายชั่วโมง อันมีสถานะเป็น “ลูกจ้างชั่วคราว” ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ การที่ ศาสตราจารย์ นพ.สรณ ยินยอมให้ธนาคารกรุงเทพเสนอชื่อเพื่อขอความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการเป็นกรรมการของธนาคารกรุงเทพ และยินยอมให้เสนอชื่อต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของธนาคารเพื่อให้ผู้ถือหุ้น ชัดเจนเสียขนาดนี้ ก็ไม่รู้ว่าเจ้าตัวจะยังคงดั้นเมฆยืนยันว่าตนเองยังคงมีคุณสมบัติครบถ้วน ใครหน้าไหนก็ไม่สามารถจะปลดตนพ้นตำแหน่งได้อีกหรือ?…”

กางไทม์ไลน์ “หมอไห่” กับข้อหารับจ๊อบ-ขาดคุณสมบัติ ชัดๆ ต้องพ้นเก้าอี้ ปธ.กสทช.หรือไม่? เรียกได้ว่าเป็น “ดาบ 2” ฟันซ้ำก็ว่าได้

กับเวทีเสวนา “เปิดกฎหมาย : ประธาน กสทช.ขาดคุณสมบัติหรือไม่” ที่สภาผู้บริโภคจัดขึ้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่มีการหยิบยกประเด็นที่กำลังเป็นข้อถกเถียงของสังคมว่า ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขาดคุณสมบัติหรือไม่

จากการที่เจ้าตัวยังคงดำเนินการรักษาผู้ป่วยใน รพ.รามาธิบดี ซึ่งเข้าลักษณะ “ต้องห้าม” ตามมาตรา 8(2) พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553  ที่ระบุว่า “ต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ…” และผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้าง หรือพนักงานของหน่วยงานรัฐภายใน 15 วัน ตามมาตรา 18 ของ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หรือ พรบ.กสทช.ด้วย

ทั้งยังมีประเด็นในเรื่องการลาออกจากราชการที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 18 ซึ่งต้องลาออกก่อนได้รับการสรรหาและแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช.

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มธ.

โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มธ.ที่เห็นว่า เอกสารของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ส่งให้ กมธ.ไอซีที วุฒิสภา ยังคงสร้างความคลุมเครือให้แก่สังคมหลายประเด็น ทั้งประเด็นที่มหาวิทยาลัยมหิดลชี้แจงว่าตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม.2564 จนถึงวันที่ 1 เมษายน 65 นพ.สรณยังคงมีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 12 เมษายน 65 มีสถานะเป็นแพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมง 

ก่อให้เกิดคำถามว่าในช่วงเวลาดังกล่าว นพ.สรณยังคงเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือไม่ เพราะ นพ.สรณได้รับการสรรหาและโหวตจากที่ประชุมวุฒาสภาให้เป็นกรรมการ กสทช.เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 64 หากนับระยะเวลา 15 วันที่ต้องลาออกจากทุกตำแหน่งเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ กสทช.เต็มเวลา จะครบกำหนดภายในวันที่ 4 มกราคม 2565 ซึ่ง นพ.สรณ ควรจะได้แสดงหลักฐานว่า ได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตามเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว

แต่หลักฐานที่ได้มา และจากหนังสือชี้แจงของมหาวิทยาลัยมหิดลเองกลับระบุว่า นพ.สรณได้ลาออกวันที่ 8 มกราคม 2565 ซึ่งหากมีการตีความโดยนับเอาวันหยุดเข้าไปด้วยก็อาจมองได้ว่า ยังอยู่ในช่วงเวลา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด แต่ประเด็นการเป็นแพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมงหลังจากนั้น ก็ก่อให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า  นพ.สรณ ยังคงเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยมหิดลใช่หรือไม่

ซึ่งประเด็นนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542  ให้ความหมายของคำว่าลูกจ้างไว้ว่า “ผู้รับจ้างทำการงานผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร โดยมิคำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น

“ยกตัวอย่างกรณี นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยเป็นพิธีกรรายการทำอาหารและได้รับเพียงค่ารถสำหรับการมาทำงานเท่านั้น สุดท้ายต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นค่าจ้าง ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ที่ระบุว่า ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใด ๆ ในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร กรณีของ นพ.สรณ นั้น หากเข้าข่ายการเป็นลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ ควรที่จะถือกติกาและข้อบังคับต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับกรณีอื่น ๆ”

ขณะที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม (กมธ.ไอซีที) วุฒิสภา ได้จัดทำรายงานผลตรวจสอบคุณสมบัติของ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ โดยระบุว่า เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการ กสทช. พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะให้ประธานวุฒิสภาจัดทำความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลให้ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณพ้นจากตำแหน่ง

ในรายงานของ กมธ.ไอซีทีนั้นระบุอย่างชัดเจนว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ตรวจสอบ ประกอบหนังสือตอบยืนยันจากสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณฯ ยังทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย โดยมีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย และเป็นแพทย์ที่รับค่าตอบแทนรายชั่วโมง อันมีสถานะเป็น “ลูกจ้างชั่วคราว” ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล มีผลทำให้ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณฯ เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติขัดต่อกฎหมายตามมาตรา 8 (2) และ(3) แห่งพรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553

นอกจากนี้ การที่ ศาสตราจารย์ นพ.สรณ ยินยอมให้ธนาคารกรุงเทพเสนอชื่อเพื่อขอความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการเป็นกรรมการของธนาคารกรุงเทพ และยินยอมให้เสนอชื่อต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของธนาคารเพื่อให้ผู้ถือหุ้น เลือกเป็นกรรมการนั้น มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 18 พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง รวมทั้งต้องเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นใดที่มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ขัดแย้ง

กรณีหลังนี้ยังมีหลักฐานรายงานการประชุม กสทช.ครั้งที่ 9/2565 วันที่ 27 เมษายน 65 ที่ ศาสตราจารย์ นพ.สรณฯ ในฐานะประธาน กสทช. ได้เสนอให้ที่ประชุมมีมติรับทราบ และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นที่ประธาน กสทช.จะรับตำแหน่งเป็น “กรรมการอิสระ” ของธนาคารกรุงเทพด้วยได้หรือไม่?

สะท้อนให้เห็นว่า การเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพ มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ความเห็นชอบให้เป็นกรรมการธนาคารแล้ว การที่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณฯ มิได้ลาออกจากการเป็นกรรมการอิสระของธนาคาร และยังได้มีความพยายามที่จะขอดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระของธนาคารไปพร้อม จึงเป็นการฝ่าฝืนและขัดต่อเจตนารมณ์ของ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553  และยังฝ่าฝืนมาตรา 18 ที่กำหนดให้ต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง รวมทั้งต้องเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ อิสระอื่น หลังจากได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ กสทช. อีกด้วย

กมธ.ไอซีที เห็นว่า ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายตามพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 มาตรา 18 มาตรา 20 และมาตรา 26 จึงเสนอความเห็นเพื่อประธานวุฒิสภา ได้จัดทำความเห็นนำเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้ประธาน กสทช.พ้นจากตำแหน่งต่อไป

*ชัดเจนเสียขนาดนี้ ก็ไม่รู้ว่าเจ้าตัวจะยังคงดั้นเมฆยืนยันว่าตนเองยังคงมีคุณสมบัติครบถ้วน ใครหน้าไหนก็ไม่สามารถจะปลดตนพ้นตำแหน่งได้อีกหรือ?*

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts