หนี้ครัวเรือน แบงก์เข้มสินเชื่อ กำลังซื้อเปราะบาง ฉุดยอดขายรถยนต์ป้ายแดง 4 เดือนร่วงกราว แต่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ายังเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 36.30%
การประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SMT ภายในช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2568 ทำให้วงการรถยนต์ถูกจับตามองถึงอนาคตของค่ายต่างๆว่าจะมีอีกกี่ค่ายเดินตามรอย เพราะก่อนหน้านี้ บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ประกาศเตรียมปิดโรงงานประกอบรถยนต์ของบริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย จำกัด (TCSAT) ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ในสิ้นเดือน ธ.ค.67 นี้ โดยทั้งสองค่ายจะหันไปนำเข้ารถยนต์ทั้งคันจากต่างประเทศ มาจำหน่ายแทน
ขณะที่ภาพรวมภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ยังคงชะลอตัว เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูง แบงก์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เศรษฐกิจเติบโตในอัตราต่ำ และ กำลังซื้อเปราะบาง
โดยยอดขายรถใหม่ตั้งแต่มกราคม-เมษายน 2567 มีทั้งสิ้น 210,494 คัน ลดลง 23.9% ประกอบด้วย รถยนต์นั่งขายได้ 82,903 คัน ลดลง 15.2% รถเพื่อการพาณิชย์ ขายได้ 127,591 คัน ลดลง 28.7% โดย 10 ยี่ห้อรถยนต์ชั้นนำมียอดขายประจำเดือนมกราคม – เมษายน 2567 ดังนี้
โตโยต้า 78,232 คัน ลดลง 17.4% ส่วนแบ่งตลาด 37.2%
อีซูซุ 31,300 คัน ลดลง 48.3% ส่วนแบ่งตลาด 14.9%
ฮอนด้า 30,847 คัน ลดลง 4.7% ส่วนแบ่งตลาด 14.7%
บีวายดี 10,944 คัน เพิ่มขึ้น 50.2% ส่วนแบ่งตลาด 5.2%
มิตซูบิชิ 9,804 คัน ลดลง 29.1% ส่วนแบ่งตลาด 4.7%
ฟอร์ด 7,950 คัน ลดลง 42.9% ส่วนแบ่งตลาด 3.8%
เอ็มจี 6,283 คัน ลดลง 24.2% ส่วนแบ่งตลาด 3.0%
นิสสัน 3,726 คัน ลดลง 41.8% ส่วนแบ่งตลาด 1.8%
มาสด้า 3,438 คัน ลดลง 47.1% ส่วนแบ่งตลาด 1.6%
เกรท วอลล์ มอเตอร์ 3,131คัน ลดลง 14.8% ส่วนแบ่งตลาด 1.5%
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2567 มีรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 35,755 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – เมษายนปีที่แล้ว 36.30% ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 48,528 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – เมษายนปีที่แล้ว 58.41% แสดงให้เห็นว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ยังไปได้ในสถานการณ์ซบเซาเช่นนี้