วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. ตรวจสอบกรณีศูนย์บำบัดยาเสพติดใน จ.ปัตตานี ถูกร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิฯ แนะหน่วยงานสนับสนุนจัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลอย่างเหมาะสม

Related Posts

กสม. ตรวจสอบกรณีศูนย์บำบัดยาเสพติดใน จ.ปัตตานี ถูกร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิฯ แนะหน่วยงานสนับสนุนจัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลอย่างเหมาะสม

(กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 20/2567)

กสม. ตรวจสอบกรณีศูนย์บำบัดยาเสพติดใน จ.ปัตตานี ถูกร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิฯ แนะจัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลอย่างเหมาะสม – ที่ปรึกษา กสม. ร่วมประชุม ASEAN Consultation ว่าด้วยการนำหลักการไม่ลงโทษ ไปใช้กับเหยื่อจากการค้ามนุษย์

วันที่ 14 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางรัตติกุล จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 20/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. ตรวจสอบกรณีศูนย์บำบัดยาเสพติดใน จ.ปัตตานี ถูกร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิฯ แนะหน่วยงานสนับสนุนจัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลอย่างเหมาะสม

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ระบุว่า เมื่อประมาณเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 ขณะที่ผู้ร้องถูกส่งตัวเข้ารับการบำบัดยาเสพติด ณ ศูนย์บำบัดยาเสพติดแห่งหนึ่งในตำบลบาระเฮาะ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ได้พบเห็นเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกร้องลงโทษผู้เข้ารับการบำบัดด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น หากผู้ใดคิดหลบหนีจะถูกรุมทำร้ายร่างกาย โดยใช้เท้ากระทืบและใช้ไม้ทุบตีจนได้รับบาดเจ็บ แล้วจับล่ามโซ่ตรวนไว้กับเสา บางรายถูกทำโทษโดยถูกบังคับให้ลงไปแช่อยู่ในบ่อปฏิกูล เป็นเวลา 7 วัน เป็นต้น จากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 บัญญัติรับรองว่า บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การกระทำใดที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และการทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้ ขณะที่อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) กำหนดให้รัฐภาคีป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันมีลักษณะที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นกัน

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า ผู้ร้องไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่ของศูนย์บำบัดยาเสพติดแห่งดังกล่าวลงโทษโดยการทำร้ายร่างกายหรือใช้โซ่ตรวนล่าม เพียงแต่กล่าวอ้างว่า พบเห็นการกระทำในลักษณะดังกล่าวกับผู้เข้ารับการบำบัดรายอื่น แต่ไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ณ ศูนย์บำบัดฯ ก็ไม่พบการกระทำในลักษณะดังกล่าว และไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นความจริงตามที่ผู้ร้องได้ร้องเรียน ในชั้นนี้ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ศูนย์บำบัดยาเสพติดแห่งดังกล่าว ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีลงโทษผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ของศูนย์บำบัดฯ ให้ข้อมูลยอมรับว่าเคยใช้โซ่ตรวนกับผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดบางรายเพื่อควบคุมพฤติกรรมของผู้เข้ารับการบำบัดรายที่มีอาการทางจิต มีพฤติกรรมทำร้ายร่างกายผู้อื่น ก่อเหตุทะเลาะวิวาท และพยายามหลบหนี แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกการใช้โซ่ตรวนมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว เนื่องจากศูนย์บำบัดฯ ไม่ได้รับบุคคลที่มีอาการทางจิตเข้ารับการบำบัดอีก อย่างไรก็ดี พบว่าประกาศกฎเกณฑ์การรับบุคคลเข้ารับการบำบัดของศูนย์บำบัดฯ ข้อหนึ่งระบุไว้ว่า หากผู้บำบัดทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ลักขโมย หลบหนี อาละวาด กระทำผิดกฎของศูนย์บำบัด อนุญาตให้ล่ามโซ่ได้ทุกกรณี ซึ่ง กสม. เห็นว่า แม้การใช้โซ่ตรวนกับผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดเมื่อกระทำผิดกฎจะเป็นกรณีที่ศูนย์บำบัดฯ ประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไปและบุคคลที่จะเข้ารับการบำบัดต้องยอมรับเงื่อนไขจึงจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้ก็ตาม แต่การใช้โซ่ตรวนส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกาย สุขภาพ อนามัย และจิตใจของผู้เข้ารับการบำบัด และไม่ใช่วิธีการช่วยเหลือให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้ฟื้นฟูร่างกายและหายจากภาวะติดยาเสพติดได้ ประกอบกับ กสม. ได้เคยพิจารณาเกี่ยวกับการใช้เครื่องพันธนาการต่อผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด ตามรายงานผลการตรวจสอบที่ 466/2557 ลงวันที่ 24 เดือนพฤศจิกายน 2557 โดยมีความเห็นสรุปว่า ผู้เข้ารับการบำบัดไม่ใช่ผู้ต้องขังตามคำพิพากษาของศาลที่จะสามารถใช้เครื่องพันธนาการประเภทใด ๆ ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อจำกัดอิสรภาพ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การที่ศูนย์บำบัดฯ ใช้โซ่ตรวนต่อผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดในช่วงเวลาก่อนที่จะยกเลิกวิธีการดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กสม. ยังมีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ศูนย์บำบัดยาเสพติดตามคำร้องนี้ซึ่งจัดตั้งในลักษณะโรงเรียนสอนศาสนาที่ร่วมมือกับชุมชนและผู้นำศาสนาแต่ละหมู่บ้านดำเนินการสอนศาสนาให้ผู้เข้ารับการบำบัดมาตั้งแต่ประมาณปี 2552 จะช่วยให้ปัญหายาเสพติดในตำบลบาระเฮาะลดลงได้ แต่ศูนย์บำบัดดังกล่าวยังไม่ได้ขอรับการจัดตั้งเป็นสถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดแต่อย่างใด กรณีนี้ แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้มีการปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย อันได้แก่ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างครบถ้วนและถูกต้อง ทำให้การบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของศูนย์บำบัดแห่งดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แม้สาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามคำร้องนี้เกิดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ไม่ได้ตระหนักอย่างดีพอถึงผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิและเสรีภาพของผู้เข้ารับการบำบัด ไม่ได้เป็นผลจากการไม่บังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ตาม แต่เมื่อศูนย์บำบัดแห่งดังกล่าวยังคงทำหน้าที่ในการบำบัดผู้ติดยาเสพติดตามปกติ จึงย่อมมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และแม้ศูนย์บำบัดฯ จะได้ยื่นหนังสือขอจัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งขณะตรวจสอบตามคำร้องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย และหากได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ก็จะเข้าข่ายเป็นสถานที่ควบคุมตัวบุคคลซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ด้วย

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้ศูนย์บำบัดฯ ผู้ถูกร้อง ยกเลิกข้อความตามประกาศกฎเกณฑ์การรับบุคคลเข้ารับการบำบัดในศูนย์บำบัดของผู้ถูกร้องที่กำหนดให้ใช้โซ่ตรวนต่อผู้เข้ารับการบำบัด และกำชับเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกร้องอย่างสม่ำเสมอมิให้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎเกณฑ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงสาธารณสุขประสานงานกับจังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบาระเฮาะ เร่งรัดให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ให้ข้อแนะนำ ตลอดจนให้การสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นแก่ศูนย์บำบัดฯ ในการจัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ภายหลังการจัดตั้งเสร็จสิ้น ทั้งนี้ ในระหว่างกระบวนการเพื่อจัดตั้ง ให้หน่วยงานของรัฐข้างต้นร่วมกันตรวจสุขภาพผู้เข้ารับการบำบัดเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง รวมถึงให้การช่วยเหลือและให้คำปรึกษาในการบำบัดรักษาผู้เข้ารับการบำบัดด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts