เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับการประสานงานจากองค์กรภาคประชาสังคมแห่งหนึ่ง ขอความช่วยเหลือกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าจับกุมนาย อี ควิน เบอดั้บ (Y Quynh BDAP) นักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามกลุ่มชาติพันธุ์มองตานญาด (Montagnards)
จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า บุคคลดังกล่าวอยู่ระหว่างการขอลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม และอยู่ในความคุ้มครองของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จึงมีเหตุควรเชื่อได้ว่าการส่งตัวบุคคลดังกล่าวกลับประเทศต้นทางอาจทำให้ได้รับอันตราย กสม. จึงส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์สถานการณ์และประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยได้มีหนังสือถึงผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เน้นย้ำถึงหลักการไม่ผลักดันหรือส่งกลับบุคคลไปยังดินแดนที่มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในอันตราย (non-Refoulement) ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวยังได้รับการกำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
ต่อมามีรายงานข่าวว่านาย อี ควิน เบอดั้บ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 กสม. จึงมีความกังวลว่าทางการไทยอาจส่งตัวนาย อี ควิน เบอดั้บ กลับประเทศเวียดนามและอาจได้รับอันตราย จึงขอให้รัฐบาลดำเนินการกรณีข้างต้นในแนวทางที่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทย รวมถึงการนำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 มาใช้เพื่อคุ้มครองบุคคลจากการไม่ถูกส่งกลับไปสู่อันตรายตามหลักการ non-refoulement ทั้งนี้ กสม. จะติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
13 มิถุนายน 2567