วันอังคาร, กรกฎาคม 2, 2024
หน้าแรกการเมืองเลขาธิ(พิ)การ กสทช. อีกผลงานสะท้อนความฟอนเฟะ

Related Posts

เลขาธิ(พิ)การ กสทช. อีกผลงานสะท้อนความฟอนเฟะ

“….ไม่เพียงกรณีประธาน กสทช.ที่เกิดปัญหาเรื่องการถูกตรวจสอบว่าขาดคุณสมบัติเป็นกรรมการ กสทช. ในส่วนของ “เลขาธิการ กสทช.” ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรนี้ ก็วุ่นวายไม่แพ้กัน เพราะผ่านมาวันนี้ครบ 4  ปีเข้าไปแล้ว นับตั้งแต่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการฯ เมื่อ 1 กรกฎาคม 2563  กสทช.ยังไม่สามารถคัดเลือกและตั้งเลขาธิการคนใหม่ได้ มีการฟ้องร้องกันไปมาระหว่างประธาน กสทช.และกรรมการ กสทช.ด้วยกัน เป็นประเด็นขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างประธาน กสทช.และกรรมการ กสทช.ด้วยกัน จนทำให้องค์กร กสทช.แตกดังโพล๊ะอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์แทรกซ้อน จากกรณีที่ กสทช.อนุมัติงบสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ที่มีการกล่าวหา นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ปล่อยให้การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) นำเอาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดบอลโลกที่ กสทช.ร่วมให้การสนับสนุนไปดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้องค์กร กสทช. วันนี้ต้องอยู่ในสภาพที่ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก”  อีกทั้งเรื่องสำคัญๆ ถูกแขวนค้างพิจารณากันมาหลายนัด ตอกย้ำความฟอนเฟะของหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระของแทร่!!!…”

เลขาธิ(พิ)การ กสทช. …. อีกผลงานสะท้อนความฟอนเฟะ

นอกจากกรณีการตรวจสอบคุณสมบัติของ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ที่ยังคงหาบทสรุปไม่เจอ

ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา (กมธ.ไอซีที) ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน ได้จัดทำรายงานการตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช. ก่อนสรุปความเห็นว่าขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ก่อนจัดทำข้อเสนอแนะให้ประธานวุฒิสภาจัดทำข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯให้พ้นจากตำแหน่ง

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์

แต่ประธาน กสทช.ก็ “ดับเครื่องชน” กมธ.ไอซีที ด้วยการทำหนังสือโต้แย้งไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ระงับยับยั้งการจัดทำข้อเสนอแนะไปยังนายกฯให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ โดยระบุว่า ข้อสรุปของ กมธ.ไอซีที เต็มไปด้วยอคติ ไม่มีกระบวนการตรวสอบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กลายเป็นประเด็นปัญหาที่ยังคงไร้ข้อสรุป จ่อจะโยนเผือกร้อนให้วุฒิสภาชุดใหม่เข้ามารับไม้ต่อ

ไม่เพียงกรณีประธาน กสทช.ที่เกิดปัญหา ในส่วนของ “เลขาธิการ กสทช.” ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรนี้ ก็วุ่นวายไม่แพ้กัน เพราะผ่านมาวันนี้ครบ 4  ปีเข้าไปแล้ว นับตั้งแต่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการฯ เมื่อ 1 กรกฎาคม 2563  กสทช.ยังไม่สามารถคัดเลือกและตั้งเลขาธิการคนใหม่ได้

แม้ก่อนหน้านี้ประธาน กสทช.จะมีความพยายามแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่โดยอาศัยคำสั่งประธาน กสทช. แต่กลับกลายมาเป็นประเด็นขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างประธาน กสทช.และกรรมการ กสทช.ด้วยกัน จนทำให้องค์กร กสทช.แตกดังโพล๊ะอยู่ในปัจจุบัน 

ก่อนหน้านี้ “กมธ.ไอซีที” ได้จัดทำรายงานผลศึกษาเรื่อง “หลักเกณฑ์ ระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.” ซึ่งประธาน กสทช.ใช้อำนาจรวบรัดดำเนินการตั้งกรรมการคัดเลือกด้วยตนเอง  ท่ามกลางข้อทักท้วง อย่างรุนแรงจาก กสทช.เสียงข้างมาก   

ก่อนที่ กมธ.ไอซีทีจะจัดทำรายงานเสนอให้สำนักนายกฯ – และ ป.ป.ช. เข้ามาดำเนินการสอบความผิดปกติของกระบวนการตั้งเลขาฯกสทช. ที่ล่าช้ามากว่า 3 ปี ทำให้ต้องตั้ง “รักษาการเลขาธการ” มาจนจะครบวาระ โดยกมธ.เห็นว่าการทำหน้าที่ของประธาน กสทช.เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่-กระทบการทำงาน ส่งผลทำให้ผลประโยชน์ชาติเสียหาย เพราะเป็นองค์กรดูแลคลื่นความถี่ได้ผลประโยชน์จากคลื่นความถี่จึงกระทบต่อการทำงาน และประโยชน์สาธารณะ

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์แทรกซ้อน จากกรณีที่ กสทช.อนุมัติงบจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 ที่มีการกล่าวหา นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.ที่ปล่อยให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นำเอาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดบอลโลกที่ กสทช.ร่วมให้การสนับสนุนไปดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.

ก่อนที่ กสทช.เสียงข้างมากจะมีมติให้เปลี่ยนรักษาการเลขาธิการ เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่กลับถูกประธาน กสทช. “หักดิบ” ลงนามในคำสั่งเปลี่ยนรักษาการเลขาธิการที่ว่า ก่อนที่ประธาน กสทช.จะลุยไฟชงชื่อนายไตรรัตน์เข้าสู่ที่ประชุม กสทช.เพื่อให้ความเห็นชอบในเวลาต่อมา

 แต่ กสทช.เสียงข้างมากก็ “หักดิบ” ว่าที่เลขาธิการ กสทช.จนกลายมาเป็นมหากาพย์แห่งความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก โดยรักษาการเลขาธิการฯได้ยื่นฟ้องกสทช.เสียงข้างมากต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯพ่วงรองเลขาธิการฯ ที่ถูกแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่รักษาการแทนเข้าไปด้วย ล่าสุดศาลได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวเอาไว้พิจารณา

ทำให้เส้นทางการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ชะงักงันเข้าไปอีก เพราะไม่สามารถจะดำเนินการใด ๆ ได้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ทำให้องค์กร กสทช. วันนี้ต้องอยู่ในสภาพที่ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” แม้รักษาการเลขาธิการจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช.ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ แต่ ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ด้วยอาศัยอำนาจที่ประธาน กสทช.กระเตงอยู่

การประชุมบอร์ด กสทช.เพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญ ๆ อย่างกรณีพิจารณาแผนปฏิบัติการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคมประจำปี 2565 ฉบับที่ 3 ภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 3  (พ.ศ. 2565) แผน USO 3 ภายใต้กรอบวงเงินกว่า 5,862 ล้าน  ที่มีเรื่องของ ระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุข วงเงินกว่า 3,991 ล้าน เพื่อให้ รพ.สต. สามารถข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้ต้องถูกแขวนค้างพิจารณากันมาหลายนัด

ลามไปถึงระบบโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะภายใต้กรอบงบประมาณ 1,371.85 ล้านบาท ที่จะจัดสรรไปยังที่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นหลัก ยังคงถูกแขวนเอาไว้โดยยังไม่ได้ข้อยุติจ่อจะลากยาวกันต่อไปเช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องเคาะโต๊ะแต่ก็ปิดบัญชีไม่ลง

 *ตอกย้ำความฟอนเฟะของหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระของแทร่!!!*

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts