วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 4, 2024
หน้าแรกท้องถิ่นผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเร่งสางปัญหาการถือครองที่ดินโดยตัวแทนอำพรางคนต่างด้าว

Related Posts

ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเร่งสางปัญหาการถือครองที่ดินโดยตัวแทนอำพรางคนต่างด้าว

2 กรกฎาคม 2567 – จันทบุรี // นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน นายทิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสิริน
ชาวเพ็ชรดี ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 3 และคณะ ร่วมกับนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และกอ.รมน.จังหวัดจันทบุรี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางป้องกันปัญหาการถือครองหรือครอบครองที่ดินโดยตัวแทนอำพรางของคนต่างด้าว (นอมินี) ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เร่งพัฒนากฎหมายให้ทันการณ์ ป้องปรามความเสียหายจากทุนต่างชาติ


นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า การประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในจังหวัดจันทบุรี เพื่อนำไปสู่ การป้องกัน และแก้ไขปัญหา ในเชิงระบบ รวมถึง การลงพื้นที่ เพื่อดูสภาพพื้นที่ ที่ได้รับแจ้งว่ามีการร้องเรียนไปยัง คณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ว่า กรณีมีกลุ่มนายทุนต่างชาติเช่าและเข้าซื้อที่ดินที่ใช้ทําการเกษตรปลูกผลไม้ที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ เช่นจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด โดยเฉพาะสวนทุเรียน โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 67 ได้ลงพื้นที่จังหวัดตราดเพื่อแสวงหาข้อจริงและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและจำหน่ายทุเรียน พบข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหากลุ่มทุนต่างชาติ เข้ามาเช่าหรือครอบครองที่ดินเพื่อปลูกและจำหน่ายผลไม้เศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะทุนจีนที่มีการถือครองที่ดินสวนผลไม้


ซึ่งดำเนินการเองทั้งหมดตั้งแต่ผลิต จำหน่ายจนถึงส่งออก ซึ่งจะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำต่อเกษตรกรไทย ในการนี้ได้ขอให้ภาครัฐเร่งตรวจสอบการถือครองที่ดินที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายนอมินีและรีบแก้ไขโดยเร็ว สำหรับในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีกว่าร้อยละ 80 พบว่าสวนผลไม้ในหลายอําเภอ
กลุ่มทุนต่างชาติเริ่มมีบทบาทมากขึ้นทั้งทำเลการเพาะปลูก สถานที่การรับซื้อ จนถึงวิธีการส่งออกผลไม้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ทำเลดีน่าลงทุน เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างมาก นอกจากนี้ยังมีกรณีประชาชนได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎรว่า กรณีกรมป่าไม้ได้เปิดให้เช่าที่ดินในป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเคยอนุญาตใหบริษัทเอกชนเช่าเพื่อปลูกสวนป่าเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว โดยการยื่นขอเช่าในครั้งนี้บริษัทที่ยื่นคำขอมีพฤติการณ์เข้าข่ายนอมินีของกลุ่มนายทุนชาวจีนเพื่อนําที่ดินไปทําสวนทุเรียนด้วย หากปล่อยให้กระบวนการนี้ดําเนินต่อไป พื้นที่เกษตรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยอาจถูกกลุ่มนายทุนต่างชาติเข้าเช่าหรือซื้ออีกจํานวนมาก เป็นปัญหาเรื้อรังและกระจายกว้างต่อไปหากยังคงไม่มีการแก้ไขหรือกำหนดมาตรการใด ๆ เพื่อป้องกันและป้องปรามรายได้ของประเทศจะสูญเสียมหาศาล


ดังนั้น ในวันนี้จึงจัดประชุมหารือร่วมกับนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานที่ดินจังหวัดจันทบุรีและสาขา สำนักงานพานิชย์จังหวัดจันทบุรีและสาขา สำนักงานสรรพากรพื้นที่จันทบุรีและสาขา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดจันทบุรี (กอ.รมน.จังหวัดจันทบุรี) ตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดจันทบุรี สำนักงานทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 (ชลบุรี) อำเภอแก่งหางแมว เทศบาลตำบลพวา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว และผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมทั้งร่วมประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings ในคราวเดียวกันกับจังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดปราจีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบสถานการณ์กลุ่มทุนต่างชาติ พบว่า ในจังหวัดจันทบุรีมีบริษัทที่คนต่างด้าวร่วมเป็นผู้ถือหุ้นหรือร่วมลงทุน ราว 800-900 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของผู้ที่จดทะเบียนนิติบุคคลประมาณ 3,900 ราย และยังมีพื้นที่แปลงใหญ่กว่า 1,300 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนซ่อง ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมวที่ ได้มีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการ ว่า อาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นนอมินีของคนต่างด้าวเตรียมดำเนินการทำสวนผลไม้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรมที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ประชาชนสามารถขอเช่าเพื่อทำประโยชน์ได้ ขณะนี้มีเอกชนได้ยื่นขออนุญาตเข้าใช้ 3 ราย เป็นนิติบุคคล 2 รายและเอกชน 1 ราย อาจจะมีผู้แสดงความประสงค์ขอเช่าเพิ่มเติมอีก และมีข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ว่าได้แจ้งข้อสงสัยว่าบริษัท 2 ใน 3 รายดังกล่าวแยกชื่อเป็น 2 ชื่อในนามบริษัทและห้างหุ้นส่วนมาขอเช่าพื้นที่แต่เป็นเจ้าของเดียวกัน อาจเป็นการเลี่ยงกฎหมายและเอื้อประโยชน์จากการขอเข้าใช้พื้นที่ได้ง่ายขึ้น จึงขอให้ภาครัฐเร่งตรวจสอบเพราะเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ควรได้จัดสรรให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ที่ยังไม่มีที่ดินทำกินเข้าใช้จะเป็นประโยชน์มากกว่าหรือไม่ ซึ่งจากการลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ผู้ยื่นคำขอทั้ง 3 ราย ยังมีข้อพิจารณา ในเรื่อง พื้นที่ทับซ้อนเนื่องจาก จำนวนพื้นที่ที่ผู้ขอแต่ละราย ยื่นคำขอมา มีบางส่วนที่ทับซ้อนกัน และบางส่วน อยู่นอกเหนือ เขตพื้นที่ ที่จะอนุญาต จึงทำให้ กระบวนการการพิจารณา ต้องหาข้อยุติให้ได้เสียก่อน ด้วยเหตุที่ ระเบียบคณะกรรมการ ว่าด้วยการใช้ประโยชน์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มิได้กำหนด แนวทาง วิธีการ แก้ไขปัญหา กรณีดังกล่าวไว้ จึงเห็นว่า ควรมีการปรับปรุง ระเบียบคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อให้มีหลักเกณฑ์หรือวิธีการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท อีกทั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า การดำเนินการใดของรัฐ หรือที่รัฐจะอนุญาต ให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้น อาจมีผลกระทบ ต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญ ของประชาชนหรือชุมชน รัฐ ต้องจัดให้มีการรับฟัง ความคิดเห็น ของผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ดำเนินการ หรืออนุญาต ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

นายทรงศัก กล่าวเพิ่มว่า ความคิดเห็นและการดำเนินการในชั้นนี้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ต้องบังคับใช้กฎหมายโดยดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ตรวจสอบการจดทะเบียนทุกระยะและการเปลี่ยนแปลงสถานะนิติบุคคล เฝ้าระวังตั้งแต่ต้นทางตามมาตรการตรวจสอบที่ดินที่ถือครองโดยคนต่างด้าวของกรมที่ดิน และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหานอมินีให้หมดไป รวมถึงการตรวจสอบภาษีอากรของบริษัทนิติบุคคลที่จดทะเบียนชำระบัญชีเสร็จ รวมถึงตรวจสอบการลงทุน การบริหารจัดการของคนต่างด้าวในรูปแบบของนิติบุคคลไทยแต่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ รวมถึงการบริหารจัดการที่มีอำนาจเหนือผู้ถือหุ้นคนไทยอย่างเข้มงวด นอกจากนี้เพื่อให้เป็นกลไกที่สำคัญที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบในระดับนโยบายทั้งส่วนกลางและพื้นที่ต้องบูรณาการร่วมกัน พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้แก่คนไทยในการเฝ้าระวังการกระทำผิดของคนต่างด้าว รวมถึงมาตรการกำหนดเขตที่ดิน (Zoning) แบบเฝ้าระวัง สิ่งที่สำคัญต้องแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัตินิยามคำว่า “คนต่างด้าว” เพื่อความชัดเจนและครอบคลุมถึงอำนาจในการบริหารจัดการเหนือนิติบุคคลของคนต่างด้าว และสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนอำนาจในการบริหารจัดการการดำเนินการของนิติบุคคล สุดท้ายต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนซึ่งมีอยู่หลายฉบับทั้งกฎหมายเฉพาะและยกร่างกฎหมายกลางที่เกี่ยวกับตัวแทนอำพรางและการทำธุรกรรมอำพราง


“ปัญหาคนต่างด้าวหรือชาวต่างชาติถือครองหรือครอบครองที่ดินโดยอาศัยตัวแทนอำพรางหรือนอมินีพบมากขึ้นในหลายพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่ด้านการเกษตร โดยมีนายทุนต่างชาติทั้งในรูปแบบการให้คนสัญชาติไทยถือครองที่ดินแทนโดยผ่านความสัมพันธ์ทางครอบครัว (การสมรสกับคนไทยหรือการถือครองโดยบุตร) การเช่าหรือซื้อผ่านผู้มีสัญชาติไทย การจัดตั้งเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยที่ถือหุ้นอันเป็นทุนมากกว่ากึ่งหนึ่งของนิติบุคคลนั้น แล้วมีการถ่ายโอนหุ้นให้แก่คนต่างด้าวในภายหลัง การใช้นิติบุคคลสัญชาติไทยซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์สูงกว่าราคาทุน ทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างกว้างขวาง ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่ครอบคลุม ทำให้การใช้บังคับกฎหมายไม่มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็วจะทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย โดยที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้ศึกษาปัญหาดังกล่าวและลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ของจังหวัดที่ปรากฎเป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เช่น เชียงใหม่ ตาก สุราษฎร์ธานี และได้ขยายผลลงพื้นที่ในจังหวัดตราดและจันทบุรี โดยภายหลังจากนี้จะเร่งสรุปผลในทุกมิติ และเสนอต่อครม. เพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง หรือการตรากฎหมายเกี่ยวกับตัวแทนอำพรางหรือนอมินี (Nominee) ขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อเป็นมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพและลดช่องว่างของกฎหมายและเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายของแต่ละหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพภายในเดือนกันยายน 2567ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่โดยเร็ว” นายทรงศัก กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts