วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์“ราชทัณฑ์ แจงกรณีผู้ต้องขังถูกกระทำชำเราภายในเรือนจำ”

Related Posts

“ราชทัณฑ์ แจงกรณีผู้ต้องขังถูกกระทำชำเราภายในเรือนจำ”

วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 จากกรณีสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวผู้ต้องขังเรือนจำกลางบางขวาง กล่าวอ้างถูกวางยานอนหลับจนโดนกระทำชำเราภายในเรือนจำ และได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ติดตามความคืบหน้าในกรณีดังกล่าว นั้น

กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากเรือนจำกลางบางขวางว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 โดยผู้ต้องขังรายนี้ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า ถูกเพื่อนร่วมห้องกระทำชำเราภายในห้องนอน ซึ่งมีผู้ต้องขังอยู่ร่วมกัน จำนวน 3 คน เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการสอบปากคำเบื้องต้น และนำตัวส่งให้แพทย์โรงพยาบาลเรือนจำกลางบางขวาง ตรวจร่างกายและจิตใจ พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567

ทั้งนี้ เรือนจำกลางบางขวาง ได้มีคำสั่งลงโทษผู้ต้องขังที่ก่อเหตุเรียบร้อยแล้ว สำหรับประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง ยานอนหลับ ทางเรือนจำฯ ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบ โดยสอบปากคำผู้ต้องขัง รายดังกล่าวได้ความว่าผู้ต้องขังทั้ง 3 คน ได้ทานกาแฟจากแก้วเดียวกันโดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนจนหมดแก้ว หลังจากนั้นผู้ต้องขังที่เป็นผู้เสียหายเกิดอาการง่วงจนหลับไป กระทั่งรู้สึกตัวและโวยวายกับผู้ก่อเหตุ จนเพื่อนร่วมห้องอีกคนตื่นขึ้น ซึ่งกาแฟดังกล่าวเป็นกาแฟที่ขายจากร้านสวัสดิการของเรือนจำฯ ซึ่งขายให้กับผู้ต้องขังทั่วไป ส่วนประเด็นเรื่องมียานอนหลับ หรือเป็นยาชนิดใดหรือไม่ ในประเด็นนี้ เรือนจำฯ มีแนวทางการปฏิบัติในการจ่ายยาให้กับผู้ต้องขังที่รัดกุมยากต่อการซุกซ่อน รวมทั้งมีมาตรการในการตรวจสอบควบคุมเพื่อป้องกันการลักลอบนำยาประเภทยานอนหลับหรือยาควบคุมไปใช้ในทางที่ผิดได้  

นอกจากนี้ในระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบฯ ได้มีการแยกผู้ต้องขังออกมาจากแดนที่เกิดเหตุ โดยมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและดูแลสภาพจิตใจอย่างใกล้ชิด ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์การถูกล้อเลียนหรือถูกกลั่นแกล้งจากผู้ต้องขังอื่นที่อยู่ร่วมกันในแดน ซึ่งผู้ต้องขังคนดังกล่าว ไม่มีอาการผิดปกติและสามารถอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังอื่นได้ตามปกติ

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า กรมราชทัณฑ์ได้ให้ความสำคัญในการป้องกันการใช้ความรุนแรงในเรือนจำ ทั้งจากผู้ต้องขังด้วยกันเองหรือจากเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา)ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังภายใต้แนวคิดพื้นฐานเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การไม่เลือกปฏิบัติ การห้ามทรมานและปฏิบัติที่ทารุณโหดร้าย โดยมุ่งเน้นการให้เรือนจำที่มีความปลอดภัยสำหรับทุกคน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts