“…‘วิรุตม์’ ยกบทเรียนคดี ‘แตงโม’ และคดีแพะต่างๆสะท้อนวิกฤตกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวนต้องปฏิรูปโดยเร็ว แนะรัฐบาล-สส.หนุนร่างแก้ไข ป.วิ อาญา ยกระดับอัยการให้เห็นพยานหลักฐานทันทีที่เกิดเหตุเหมือนทั่วโลก…”
6 เม.ย.2565 พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวถึงบทเรียนคดีการเสียชีวิตของแตงโม-น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ดาราสาวชื่อดัง ว่า จากปัญหาความชุลมุนวุ่นวายในการสอบสวนคดีอาญาของตำรวจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคดีแพะต่างๆ คดีครูจอมทรัพย์ คดีหวย 30 ล้าน คดีน้องหญิง หรือคดีน้องชมพู่ รวมไปถึงการสอบสวน ‘คดีน้องแตงโม’ หรือ ‘นิดา’ ดาราสาวที่ตกจากเรือและจมน้ำเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ซึ่งไม่เป็นที่เชื่อถือยอมรับของประชาชนนั้น
“โดยการสอบสวนมีปัญหาตั้งแต่การไม่เก็บรักษาเรือซึ่งเป็นวัตถุพยานสำคัญไว้ในที่ปลอดภัย และการไม่สอบปากคำพยานบุคคลไว้ทันที รวมทั้งพิรุธในการสั่งที่ลึกลับของ ตร.ผู้ใหญ่ให้เปลี่ยนสถานที่ชันสูตรศพจากแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ตามระบบปกติไปเป็นสถาบันนิติเวชตำรวจแทน ทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือผลการตรวจ จนต้องให้สถาบันนิติเวช กระทรวงยุติธรรมตรวจใหม่อีกครั้ง รวมทั้งการพยายามเสนอให้อัยการสั่งฟ้อง”กระติก”ในข้อหาที่ไม่สำคัญไปก่อน ซึ่งอัยการเห็นว่า อาจส่งผลเสียหายต่อคดีหลัก จนต้องคืนสำนวนกลับไปให้ตำรวจรวมไว้และดำเนินการใหม่ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือหนักขึ้นไปอีก” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวสะท้อนถึง ‘วิกฤตกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวน’ เชิงโครงสร้าง ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่ความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนอย่างร้ายแรงยิ่ง ต้องได้รับการปฏิรูปโดยเร็ว โดยเรื่องที่สำคัญก็คือ “การให้อัยการมีอำนาจ ‘เข้าตรวจสอบและควบคุม’ การสอบสวนคดีอาญาสำคัญ หรือ ‘ทุกคดีที่มีปัญหา’ ทันทีที่เกิดเหตุ” เช่น กรณีการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของน้องแตงโมนี้ แทนที่อัยการไทยจะทำได้แค่ ‘นั่งนอนดูทีวี’ และรออ่าน ‘สำนวนสอบสวน’ ของตำรวจแล้วสั่งคดีไป โดยที่ไม่มีโอกาสได้เห็นพยานหลักฐานและสถานที่เกิดเหตุของจริงอะไรแม้แต่นิดเดียว ซึ่งเสี่ยงต่อความผิดพลาดในบทบาทการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญของอัยการในทุกประเทศที่เจริญทั่วโลกอย่างยิ่ง
“การแก้ไขปัญหาดังกล่าวทำได้ง่ายนิดเดียว เพียงรัฐบาล หรือ สส. เข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการสอบสวนเพียง 1-2 มาตราเท่านั้น ซึ่งผู้แทนราษฎรแทบทุกคนทั้งสภาก็พร้อมที่จะผ่านเป็นกฎหมายให้อยู่แล้ว ไม่ต้องพิจารณาร่วมกับวุฒิสภาแต่งตั้ง ซึ่งมีตำรวจผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งคอย ค้านหรือ ป่วน อยู่ ทำให้กฎหมายในลักษณะที่เป็นการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างแท้จริงเช่นนี้ผ่านได้ยาก” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวด้วยว่า การแก้ไข ป.วิ อาญา ดังกล่าว จะเป็นการยกระดับอัยการไทยให้ได้มีโอกาสเห็นพยานหลักฐานรวมทั้งสถานที่เกิดเหตุเช่นเดียวกับอัยการในทุกประเทศที่เจริญทั่วโลก แก้ปัญหาการ ‘นั่งอ่านนิยายสอบสวน’ แล้ว ‘สั่งฟ้อง’ ‘สั่งไม่ฟ้อง ‘ หรือ ‘งดการสอบสวน’ คดีไปตามที่ตำรวจเสนอมาให้พิจารณาสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจทั้งฝ่ายผู้ต้องหาที่ไม่ได้กระทำผิด และผู้เสียหายในคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องเช่นปัจจุบัน