เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 ก.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารประชาอารักษ์ กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พล.ต.ต.คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผบก.ทล., พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.3 บก.ทล., พ.ต.ท.นฤทธิ์ ผูกจิตรรอง ผกก.2 บก.ป., พ.ต.ท.ภาณุมาศ แสงส่ง รอง ผกก.3 บก.ป., พ.ต.ทฐิติวัสส์ แซมเขียว รอง ผกก.7 บก.ทล., พ.ต.ท.อิทธิศักดื์ ค้ำคูณ ชุดวิเคราะห์อาชญากรรมบนทางหลวง, นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมแถลง “ปฏิบัติการปราบรถเถื่อนวิ่งเกลื่อนเมือง”
พล.ต.ต.โสภณ กล่าวว่า จากสถานการณ์อาชญากรรมปัจจุบันในหลายๆคดีที่ผ่านมา จะสังเกตเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด, การลักลอบค้าอาวุธ, การลักลอบขนย้ายแรงงานต่างด้าว, การฉ้อโกง หลอกจำนำรถอาชญากรรมมีการใช้รถยนต์ในการกระทำความผิด โดยมีการติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอม เพื่อปิดบังอำพรางการกระทำความผิดหลีกเลี่ยงไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบได้โดยง่าย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. มีนโยบายให้ปราบปรามอย่างเร่งด่วน โดยมอบหมายให้ บก.ทล ซึ่งมีหน้างานเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดบนท้องถนนโดยตรงเป็นกำลังหลักในการตรวจสอบ/ตรวจยึดรถยนต์ และมี บก.ป.ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงสืบสวนขยายผลดำเนินคดีตามกฎหมาย
พล.ต.ต.มนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.6 บก.ป. ได้ทำการสืบสวนถึงขบวนการผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการสวมทะเบียน ป้ายภาษี และคู่มือการจดทะเบียน ก่อนเข้าตรวจค้น บ้านพักแห่งหนึ่ง ใน อ.เมืองเลย จ.เลย พบข้อมูลเลขทะเบียน ข้อมูลป้ายภาษี ข้อมูลยี่ห้อรถยนต์ ข้อมูลตัวถังรถยนต์ จำนวน 2,000 กว่ารายการ ซึ่งเชื่อว่าเป็นข้อมูลเอกสาร ที่มีการปลอมขึ้นมาเพื่อจัดจำหน่ายไปยังลูกค้าที่มีการสั่งซื้อ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ป. ได้ตรวจสอบข้อมูลป้ายทะเบียน พบว่า เลขทะเบียนส่วนใหญ่ เป็นป้ายทะเบียน ว่าง ซึ่งไม่มีข้อมูลในระบบของกรมการขนส่งทางบก บางเลขทะเบียนมีการใช้งานกับรถยนต์จำนวนมากถึง 26 คัน จึงได้ประสานข้อมูลกับ บก.ทล. และวางแผนเพื่อติดตามจับกุมปราบปรามทั้งขบวนการ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง สามารถตรวจยึดรถยนต์ได้ทั้งหมด 23 คัน ซึ่งขณะทำการตรวจยึด พบว่ามีการใช้รถยนต์ดังกล่าวในการกระทำความผิดลักษณะต่างๆ เช่น พกพาอาวุธสงคราม, ขนยาเสพติด, ขนแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
พล.ต.ต.มนตรี กล่าวต่อว่า ก่อนจะส่งข้อมูลต่อมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม เพื่อทำการตรวจสอบและสืบสวนขยายผลดำเนินคดีกับเครือข่าย ผู้กระทำความผิด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ารถยนต์ส่วนใหญ่ มีเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นบริษัทสินเชื่อรถยนต์ (ไฟแนนซ์) โดยผู้ครอบครองได้ทำการเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทไฟแนนซ์ จากนั้นจึงนำรถยนต์ไปจำนำกับผู้รับจำนำ โดยบางส่วนตั้งใจจะขาย ขณะที่บางส่วนก็ถูกผู้รับจำนำเชิดหนีนำรถยนต์ไปขาย และในส่วนของผู้ที่มาซื้อต่อนั้น บางรายก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นรถหลุดจำนำ แต่เนื่องจากเห็นว่าราคาถูกหรืออาจตั้งใจจะนำไปใช้ในการกระทำความผิด บ้างก็ไม่รู้ว่าเป็นรถยนต์ที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย ถูกผู้รับจำนำรถย้อมแมวขาย จนคิดว่าเป็นรถที่ถูกต้อง เนื่องจากผู้รับจำนำรถมีการขายโดยปลอม ทั้งป้ายทะเบียนและคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมด รวมทั้งยังขายในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดทั่วไปอีกด้วย จากการสืบสวนขยายผลนำมาสู่การตรวจค้นจับกุมกลุ่มผู้กระทำความผิด จำนวน 4 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียน/ป้ายทะเบียนภาษีปลอม โดยมีการเข้าตรวจค้นสถานที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 จุด ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ราชบุรี ชัยภูมิ และศรีสะเกษ พร้อมทั้งสามารถตรวจยึดรถยนต์ที่ผิดกฎหมาย ได้เพิ่มเติมอีก 2 คัน
พล.ต.ต.คงกฤช เปิดเผยว่า ขณะเดียวกันในห้วงเดือนก.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง ยังสามารถตรวจยึดรถยนต์ตู้ทึบ ซึ่งภายในมีการบรรทุกรถจักรยานยนต์ จำนวน 7 คัน จากการตรวจสอบพบว่า เป็นรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักขโมยมาและมีการแจ้งความ ร้องทุกข์ไว้แล้ว ซึ่งในส่วนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามได้สืบสวนขยายผลต่อเนื่อง จนพบความเชื่อมโยงของเครือข่ายขบวนการสักรถจักรยานยนต์รายสำคัญ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผลติดตามจับกุมเพิ่มเติม ทั้งนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง สามารถสกัดจับกุมกลุ่มผู้กระทำความผิดใช้รถยนต์ในการลำเลียงยาเสพติด ในเส้นทางทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 197 ราย เป็นยาเสพติดประเภทยาบ้ากว่า 116 ล้านเม็ด, ยาไอซ์ 1,500 กก. และเฮโรอีน 1,000 กก., ซึ่งสามารถตรวจยึดจับกุมรถสวมป้ายทะเบียนว่าง ได้อีกกว่า 67 คัน ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นป้ายทะเบียนแดงจำนวน 43 คัน และป้ายทะเบียนขาว จำนวน 24 คัน นอกจากนี้ยังสามารถจับกุมขบวนการขนแรงงานต่างด้าวได้ 3,070 รายและจับกุมการกระทำความผิดทางอาญาทั่วไปที่เกิดขึ้นบนท้องถนนได้อีกกว่า 2,298 ราย
ขณะที่ นายเสกสม กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมักมาจากเรื่องของการโอนลอยทั้งนั้น จึงฝากถึงพี่น้องประชาชนที่ไปรับโอนซื้อรถต่างๆ ขอแนะนำว่าอย่ารับโอนลอย ขอให้มาดำเนินการให้ถูกต้อง ที่กรมการขนส่งทางบกหรือที่สำนักงานขนส่งที่รถนั้นจดทะเบียนอยู่ เพื่อจะได้ตรวจสอบความถูกต้องของตัวรถและของทะเบียนรถรวมถึงใบคู่มือจดทะเบียนรถ เมื่อมีการโอนเรียบร้อยค่อยจ่ายเงิน.