“…….หรือว่าแท้จริงเป็น ‘สำนวนไม่ตรงปก’ คือสรุปเสนอให้อัยการสั่งฟ้อง แต่พยานหลักฐานไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลพิพากษาลงโทษได้! ซึ่งถ้าอัยการเห็นเช่นนั้น ก็ควร “สั่งให้มีการสอบสวนจนสิ้นสงสัย”เหมือนในกรณีที่ ‘คุณสาวิตรี สัมฤทธิ์สุขโชค’ อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงนนทบุรี สั่งคืนสำนวนที่ตำรวจเสนอให้ฟ้องกระติกข้อหาให้การเท็จ นำกลับไปรวมกับคดีหลักและเสนอมาใหม่ อัยการไม่ควร ‘สั่งฟ้องมั่วๆ’ ไป ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะจะไม่มีใครสามารถสอบสวนหรือดำเนินคดีในข้อหาใดให้เกิดความยุติธรรมกับน้องแตงโมได้อีกต่อไป..”
เงื่อนงำ ความตายโดยผิดธรรมชาติ ของ น้องแตงโม หรือ นิดา (ภัทรธิดา) ดาราสาวที่ผู้คนซึ่งสนใจ
ความตายที่เป็นปริศนาคาใจ ผู้คนแทบทั้งประเทศจนกระทั่งบัดนี้
โดยยังไม่มีคำตอบหรือคำอธิบายถึง พฤติการณ์แห่งการตาย จากตำรวจผู้รับผิดชอบการสอบสวนว่า
เธอ ตกจากเรือเร็วและจมน้ำตายกลางลำน้ำเจ้าพระยาตามที่คนบนเรือทุกคนบอก โดยที่ไม่มีใครสามารถช่วยชีวิตแม้กระทั่งโยนเสื้อชูชีพหรือห่วงยางไปให้เกาะลอยคอไว้ได้อย่างไร?
เพราะการสอบสวนคดีอาญาหรือว่าการชันสูตรพลิกศพประเทศไทย ถูกตำรวจผู้ใหญ่ พูดมั่ว ว่า เป็นความลับราชการ ตลอดมา ไม่สามารถบอกใครรู้ได้ แม้แต่ผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์หรือรายงานการชันสูตรศพก็เป็นความลับสำหรับประชาชนทุกคน!
เว้นแต่ “สื่อ” หรือ “ทนายพวกเดียวกัน” ที่ตำรวจผู้ใหญ่ให้ดูอะไรแล้วเข้าใจยอมรับได้ง่ายๆ ก็ “แอบบอก” เป็นพิเศษเฉพาะตัวได้!
คำถามย้อนไปตั้งแต่เธอถูกผู้จัดการส่วนตัวชวนให้ไปลงเรือเร็วในวันและเวลาดังกล่าวด้วย วัตถุประสงค์ใด?
เป็นการชวนไปเพื่อพักผ่อนชมวิวสวยด้วยความหวังดี ไม่มีสิ่งใดแอบแฝงตามที่กระติกพูดจริงหรือไม่?
ประเด็นนี้คงไม่มีใครรู้ดีเท่าตัวกระติกและปอ รวมทั้งโรเบิร์ตเท่านั้น?
รวมทั้ง เหตุตกเรือ เกิดจากการกระทำของใคร เพราะมีการขัดใจจนเกิดการใช้กำลังผลักให้ตกไปโดยเจตนา หรือว่าเล็งเห็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ประชาชนบางส่วนตั้งข้อสงสัยหรือไม่?
หรือ มีการประทุษร้าย ไม่ว่าจะเป็น การพยายามลวนลาม รวมทั้งการ ใช้สารมึนเมาและสารกระตุ้นอื่นใดแอบใส่ในแก้วไวน์ส่งให้เธอดื่มจนไม่สามารถครองสติได้ ทำให้เสียหลักพลัดตกไป
ข้อสงสัยเหล่านี้ ตำรวจได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานและได้มีการตรวจพิสูจน์ไว้อย่างครบถ้วนหรือไม่?
หากทั้งหมดนั้นไม่ใช่ แต่เป็นเพราะความประมาทของนายปอ โรเบิร์ต และแซน คนสามคนบนเรือตามที่ตำรวจแจ้งข้อหาตามมาตรา 291
ซึ่งคำถามก็คือ การสอบสวนมีพยานหลักฐานอะไรยืนยันการกระทำผิดข้อหาประมาทที่ ทุกคนให้การปฏิเสธ เช่นนั้น?
และสุดท้าย อัยการจะสามารถสั่งฟ้องและพิสูจน์การกระทำผิดจนสิ้นสงสัยในชั้นศาลและนำไปสู่การพิพากษาลงโทษบุคคลทั้งสามได้ “ไม่มีโอกาสยกฟ้อง” อย่างแน่นอน ตามที่ตำรวจสรุปสำนวนการสอบสวนเสนอให้อัยการพิจารณา
หรือว่าแท้จริงเป็น สำนวนไม่ตรงปก คือ สรุปเสนอให้อัยการสั่งฟ้อง แต่พยานหลักฐานไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลพิพากษาลงโทษได้กันแน่?
ซึ่งถ้าอัยการเห็นเช่นนั้น ก็ควร “สั่งให้มีการสอบสวนจนสิ้นสงสัย”
เหมือนในกรณีที่ คุณสาวิตรี สัมฤทธิ์สุขโชค อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงนนทบุรี สั่งคืนสำนวนที่ตำรวจเสนอให้ฟ้องกระติกข้อหาให้การเท็จไปรวมไว้กับคดีหลักและเสนอมาใหม่
อัยการไม่ควร “สั่งฟ้องมั่วๆ” ไป ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะจะไม่มีใครสามารถสอบสวนหรือดำเนินคดีในข้อหาใดให้เกิดความยุติธรรมกับน้องแตงโมได้อีกต่อไป
ประมาท คือการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง และ การกระทำให้นั้นเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตายบัญญัติไว้ในมาตรา 291
ซึ่งอัยการต้องบรรยายฟ้องและแสดงพยานหลักฐานให้ศาลเห็นอย่างชัดเจน จนปราศจากข้อสงสัย ว่า ทั้งสามคนได้กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังอย่างไรจนเป็นเหตุให้น้องแตงโมตกเรือไป?
คดีนี้มีข้อพิรุธเกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่บนเรือทุกคนมากมาย
ตั้งแต่ไม่มีใครสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวของเธอซึ่งเป็น “ดาราและแขกคนสำคัญ” ของเรือและในห้องโดยสารซึ่งกว้างยาวเพียงสามสี่เมตรนั้น เมื่อเธอลุกขึ้นยืนและต้องขอทางบางคนเดินไปท้ายเรือ ปีนข้ามแนวกั้นที่อันตรายไปนั่งปัสสาวะโดยมี “แซน” นอนยื่นขาให้จับไว้เป็นเวลาไม่น่าจะต่ำกว่าสองสามนาที?
รวมทั้งขณะที่เธอเสียหลักตกน้ำไป ก็ไม่มีใครโดยเฉพาะผู้ขับเรือได้ยินเสียงร้องหรือสิ่งผิดปกติอะไร นอกจากเสียงตะโกนบอกของแซนเท่านั้น?
และหลังเกิดเหตุที่ได้พยายามหาร่างหรือศพเธอไม่พบ ทุกคนต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้านไป วิ่งหาที่ปรึกษาและทนายความกันวุ่นวาย!
ทั้งที่ตำรวจยังไม่ได้มีการแจ้งข้อหาว่าใครกระทำความผิดอาญาอะไรเลย?
พวกเขากลัวอะไร หากแต่ละคนแน่ใจว่าไม่ได้กระทำผิดในเรื่องใด เมื่อได้เข้าพบพนักงานสอบสวน ถูกซักถามรู้เห็นอะไรก็พูดไปตามจริง ไม่จำเป็นต้องซักซ้อมหรือแต่งคำพูดอะไรให้สอดคล้องกัน
นอกจากนั้น ในการปฏิบัติของตำรวจต่อการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและเก็บรักษาวัตถุพยาน รวมทั้งการสั่งเปลี่ยนสถานที่ชันสูตรศพจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ตามปกติ ให้ไปเป็นสถาบันนิติเวชวิทยาตำรวจ อย่างไม่มีเหตุผล
ก่อให้เกิดปัญหา “ความน่าเชื่อถือ” ต่อรายงานการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ
และ ลามไปจนถึงความเชื่อถือต่อผลการตรวจชันสูตรศพโดยสถาบันนิติเวชวิทยาตำรวจอีกด้วย!
ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้ ประชาชนก็ยังไม่มีโอกาสรู้และเห็นผลการตรวจว่า น้องมีบาดแผลและร่องรอยเล็กใหญ่ในจุดใดและน่าจะเกิดจากวัตถุชนิดใด ในขณะที่ยังมีชีวิตและลมหายใจ
ก่อนหรือหลังตกจากเรือ?
และ ถ้าตกจากด้านท้ายเรือตามคำบอกของแซนจริง แผลยาวขนาดใหญ่ในบริเวณหน้าขาอ่อนด้านขวาด้านในจะสามารถโดนใบพัดหรือฟินเรือบาดขณะแล่นจนเกิดแผลเช่นนั้นได้จริงหรือไม่?
การพิสูจน์บาดแผลขนาดใหญ่นี้ว่าเกิดจากการโดนวัตถุชนิดใดและเมื่อใดอย่างเชื่อถือได้
เป็นคำตอบที่สำคัญที่สุดต่อการสรุป “พฤติการณ์แห่งการตาย” ให้ความยุติธรรมกับน้องแตงโมและทุกๆ คน