สืบเนื่องจากได้มีผู้เสียหายถูกกลุ่มมิจฉาชีพติดต่อเข้ามาทำความรู้จักบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และได้คุยกันต่อผ่านแอปพลิเคชัน Line จนเกิดความสนิทสนม ต่อมาจึงชักชวนให้ร่วมลงทุนเทรดหุ้นต่างประเทศ อ้างว่าได้รับผลตอบแทนสูง จนผู้เสียหายหลงเชื่อและมีการโอนเงินให้กลุ่มผู้ต้องหา รวม 9 ครั้ง รวมมูลค่ากว่า 3,730,000 บาท และผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กก.1 บก.สอท.5 ในเวลาต่อมา
พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 ส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย โดย พ.ต.อ.กฤษดา มานะวงศ์สกุล ผกก.1 บก.สอท.5 จึงได้นำทีมเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนลงพื้นที่ติดตามจับกุมคนร้ายในเวลาต่อมา
จากการสืบสวนทำให้ทราบว่า กลุ่มมิจฉาชีพได้เปิดบัญชีธนาคารในรูปแบบบริษัทเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และใช้เป็นช่องทางการรับโอนเงินที่ได้จากผู้เสียหาย จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า หลังจากเหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีม้าของบริษัทแล้ว จะมีการโอนเงินออกไปยังบัญชีม้าแถวอื่นๆ ในทันที โดยบัญชีม้าบริษัทที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้ในครั้งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.หนองคาย จ.ระยอง จ.พิษณุโลก และ จ.พระนครศรีอยุธยา และไม่มีการประกอบกิจการจริงแต่อย่างใด จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายค้นกลุ่มบริษัทดังกล่าว
ต่อมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน กก.1 บก.สอท.5 ได้กระจายกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมายทั้ง 4 แห่ง ดังนี้ จุดที่ 1 บริษัท พี ซี อินเตอร์เนชั่นเนลเทรด จำกัด ตั้งอยู่พื้นที่ ม.9 ต.นาทับไฮ อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย ซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แต่พบว่ามีสภาพเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ ในชุมชน มีโต๊ะเพียงแค่ 1 โต๊ะ
จุดที่ 2 บริษัท แฟชั่นนิสต้า จำกัด ตั้งอยู่พื้นที่ ถนนมาบยา ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ซึ่งจดทะเบียนการค้าเป็นบริษัทขายปลีกเสื้อผ้า แต่พบว่าเป็นห้องแถวชั้นเดียวสำหรับพักอาศัย ภายในไม่มีการประกอบกิจการแต่อย่างใด
จุดที่ 3 ห้างหุ้นส่วนจำกัด พีรยา การค้า ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.8 ต.วัดพริก อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก ซึ่งจดทะเบียนการค้าเพื่อจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป อาหารสัตว์ แต่พบว่ามีสภาพเป็นบ้าน 2 ชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ ไม่มีการประกอบกิจการค้าแต่อย่างใด
จุดที่ 4 บริษัท พรสินาพรรณ ทรานสปอร์ต จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.4 ต.ชะแมบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา จดทะเบียนการค้าเพื่อขนส่งสินค้าและคนโดยสารทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่พบว่าสภาพจริงเป็นร้านขายของชำและบ้านพักอาศัย ไม่มีการประกอบกิจการบริษัทแต่อย่างใด
ทั้งนี้จากการตรวจสอบความเชื่อมโยงของกลุ่มบริษัทดังกล่าว พบว่ามีการหลอกลวงผู้เสียหายจากทั่วประเทศ ซึ่งมีเหยื่อทยอยเข้าแจ้งความแล้ว จำนวน 27 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 70,391,813 บาท
พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องไว้แล้ว จำนวน 9 ราย และจับกุมได้แล้ว จำนวน 4 ราย ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมการบริษัทและเปิดบัญชีธนาคาร โดยผู้ต้องหายอมรับและเปิดเผยว่า ตนได้รับการว่าจ้างให้ไปจดทะเบียนพาณิชย์ในลักษณะห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ บริษัทจำกัด เพื่อนำไปเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่ง 1 คน จะต้องเปิดบัญชีธนาคารให้ได้จำนวน 5 บัญชี โดยจะได้รับค่าตอบแทนบัญชีละ 7,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าจ้างการเปิดบัญชีม้าในนามบุคคลธรรมดา ซึ่งขณะนี้ทางตำรวจไซเบอร์อยู่ระหว่างขยายผลเพื่อจับกุมนายทุนและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ร่วมกันโดยทุจริตหรือหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ซึ่งการกระทำผิดดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 14,000 บาท นำตัวส่งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป