ตามที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ทำให้มีการปิดศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีทุกแห่ง ส่งผลให้เด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีกว่าสองพันคน ต้องหยุดเรียนกลางคัน นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจขยายตัวและส่งผลกระทบไปยังศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ ซึ่งรองรับเด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติจำนวนหลายหมื่นคน ทั้งทางด้านการศึกษา ความปลอดภัยระหว่างที่บิดามารดาต้องไปทำงาน หากเด็กต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง ย่อมเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์ ล่วงละเมิดทางเพศ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่กำหนดให้การดำเนินการใด ๆ รัฐต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาและโอกาสทางการศึกษา อีกทั้งยังส่งผลต่อท่าทีของรัฐบาลที่เห็นชอบให้ถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ
การปิดศูนย์การเรียนเหล่านี้ ในขณะที่หน่วยงานรัฐ และสถานศึกษาในพื้นที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะรองรับเด็ก จะส่งผลกระทบกับเด็กอย่างรุนแรง และอาจส่งผลถึงเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่จะมารองรับด้วย
ทั้งนี้ กสม. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติแบบเหมารวม และเร่งดำเนินการจดแจ้งลงทะเบียนศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติทั่วประเทศ พร้อมรายละเอียดเด็กที่อยู่ในความดูแล ตามแนวทางที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ดำเนินการขึ้นทะเบียนจดแจ้งศูนย์การเรียนรู้กับศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว จำนวน 63 แห่ง ประมาณ 18,000 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาของเด็ก การคุ้มครองเด็ก สุขภาพ และอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็ก
กสม. พร้อมประสานความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขและคลี่คลายปัญหาในเชิงระบบ และนโยบาย เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเด็กทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
8 กันยายน 2567