ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ – 13 กันยายน 2567 นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม พาตัวแทนผู้เสียหายที่ถูกสองสามีภรรยาชักชวนหลอกลงทุนหุ้น โดยแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงและนักการเมืองมูลค่าความเสียหาย 30 ล้านบาท เข้าแจ้งความกับตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับสองสามีภรรยา หลังถูกหลอกชักชวนให้ร่วมลงทุน
นายแทนคุณ กล่าวว่า กลุ่มผู้เสียหายที่ลงทุนในกลุ่มฟอเร็กซ์เดิม ได้ถูกชักชวนจากสองสามีภรรยาให้มาร่วมลงทุนเทรดหุ้นกับตัวเอง หลังจากที่ฟอเร็กซ์เดิมมีคดี โดยมี 2 บริษัทที่เปิดมาใหม่เพื่อชักชวนลงทุน เริ่มต้นการลงทุนที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 316,000 บาท และยังแอบอ้างไปยังบุคคลสำคัญของประเทศและนักการเมือง โดยมีการไปถ่ายภาพและตีสนิทด้วย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่ามีผู้สนับสนุนเป็นผู้ร่วมลงทุนและอยู่เบื้องหลัง เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ พบมีผู้เสียหาย 30 ราย
มูลค่าความเสียหายมากกว่า 30 ล้านบาท
ด้านน.ส.สลิสา ผู้เสียหาย กล่าวว่า เดิมทีได้ลงทุนหุ้นฟอเร็กซ์ แต่ช่วงปี 2565 เริ่มมีปัญหา ระหว่างนั้นก็ถูกชักชวนจากน.ส.ชมพูนุช ให้มาร่วมลงทุนกับตัวเอง เพื่อเทรดหุ้น และทองคำ โดยเขาแนะนำว่าอย่าถอน อย่าฟ้อง และให้เปลี่ยนมาลงทุนกับเขาเองเพื่อเอาเงินคืน ช่วงเดือนมกราคม 2566 จึงลงทุนไปรอบเดียวจำนวน 316,000 บาท และได้กู้เงินจากเขามาลงเพิ่มอีกจำนวน 60,000 บาท ทั้งนี้หากได้กำไร ในเดือนแรกจะถอนเงินคืนได้เฉพาะส่วนที่ได้กำไรเท่านั้น แต่เมื่อครบ 1 เดือนตัวเองก็ยังไม่สามารถถอนได้ และหากลงทุนครบ 3 เดือน จึงจะสามารถถอนพอร์ตได้ แต่เมื่อครบกำหนดก็ไม่สามารถถอนเงินคืนได้เลย จากนั้นได้มีการประวิงเวลาไม่ให้มาแจ้งความ บอกว่าแจ้งไปก็ไม่ได้เงินคืน เสียเวลา และเสียเงินเพิ่มในการจ้างทนาย ประกอบกับผู้ที่มาชักชวนตัวเองให้ไปลงทุนเป็นเพื่อนด้วย
ผู้เสียหายอีกราย เล่าว่า เป็นญาติกับน.ส.ชมพูนุช ได้ชักชวนให้มาร่วมลงทุน ซึ่งส่วนตัวเล่นไม่เป็น จึงฝากให้เขาเทรดให้ เมื่อต้องการจะถอนเงินคืนจะมีข้ออ้างต่างๆ มาอ้างเสมอเพื่อไม่ให้ถอนเงิน และนำบุคคลอื่นมาอ้าง โดยได้ร่วมลงทุนไปเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ได้ลงรอบเดียวจำนวนเงิน 316,000 บาท ทั้งนี้กลัวว่าเขาจะหนีออกไปต่างประเทศ
ผู้เสียหาย เล่าว่า ตัวเองรู้จักกับผู้เสียหายซึ่งเป็นญาติกับน.ส.ชมพูนุช โดยได้รู้จักและเจอกันที่สำนักงานทนายความ เขาได้มาชักชวนให้ร่วมลงทุน โดยจะได้รับผลตอบแทน 10% จึงได้ร่วมลงทุนจำนวน 250,000 บาท เมื่อปี 66 และรู้ว่าโดนหลอกเพราะมีคนมาเตือนว่าอย่าให้เงินญาติ เนื่องจากถูกโกง ส่วนสาเหตุที่ไว้ใจร่วมลงทุน เพราะเขามีโปรไฟล์ดี เชื่อใจเพราะเพื่อนเป็นญาติกัน และมีผลตอบแทนจำนวนมาก แบบรายเดือน รายสัปดาห์ โดยผู้หญิงเป็นคนชักชวนให้ร่วมลงทุน ส่วนสามีเป็นผู้ดูแลหรือไลฟ์โค้ช
นายแทนคุณ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการหลอกลวงชักชวนผู้เสียหายลงทุน โดยมี 3 อย่าง คือ 1.มีโปรไฟล์ที่ดี กินหรูอยู่แพง หากกล่าวอ้างว่ามีผลตอบแทนเกิน 10% ขึ้นไปให้สงสัยไว้ก่อนว่าหลอกลวง 2. ถ้าหากถอนไม่ได้ ไม่มีการลงทุนหรือมีผลิตภัณฑ์ชัดเจนว่าไปซื้อสินค้า หรือไปบงทุนกับอะไร ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนได้ว่าอาจเป็นไปได้ว่าหลอกลวง 3.หากสืบหาตัวตนไม่เคยเจอ บริษัทที่มีอยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีเว็บไซต์ หรือพึ่งเปิดไม่นาน ก็ควรระมัดระวังอย่าหลงเชื่อ