ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.,พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก.พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. , พ.ต.อ.สมรภูมิ ไทยเขียว รอง ผบก.ปปป. ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ. ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปปป. นำทีมงานออกสืบสวนกรณีมีการทุจริตเงินค่าธรรมเนียมการจัดการขยะมูลฝอยท้องถิ่นในพื้นทึ่ จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. นำโดย พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4 บก.ปปป. และเจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ปปป. พร้อมทีมงาน ป.ป.ท นำโดย นายสุภาพ ศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเขต 6 , ร้อยตำรวจเอกสมบูรณ์ อินทร์ทับ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ และนายภาณุวัฒน์ สร้อยศรีสุข นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ นำหมายจับศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6รุดจับกุมตัว นายสุริโย (สงวนนามสกุล) เจ้าหน้าที่ อบต. ตาคลี เนื่องจากมีหน้าที่ในการเก็บขยะ และค่าธรรมเนียม ซึ่งได้เก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการขยะจากชาวบ้านกว่า 100 หลังคนเรือน หลังละ 15 บาท ทั้งรายเดือนและรายปี แต่อมเงินไว้ใช้เอง ไม่ส่งเข้ารัฐ อีกทั้งยังนำบิลเก่ามาสับขาหลอกหน่วยงาน เป็นเหตุให้ อบต.ตาคลี ได้รับความเสียหาย ร้อง ป.ป.ท. จนออกหมายจับ ให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุด
พ.ต.อ.ศานุวงษ์ คงคาอินทร์ ผกก.4บก.ปปป. ได้สอบถามผู้ต้องหาได้ความว่า เหตุเกิดตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ. 2556 ผู้ต้องหารับสารภาพว่ามีการเก็บเงินจริงโดยตนมีหน้าที่ในการเก็บขยะอยู่แล้วและเป็นผู้ที่จะต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจัดการขยะจากชาวบ้านทุกหลังคาเรือนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนโดยมีหมู่บ้านในความรับผิดชอบประมาณ 5-6 หมู่บ้าน รวมกันนับ 1,000 หลังคาเรือน โดยค่าธรรมเนียมดังกล่าวเก็บเดือนละ 15 บาท แต่ก็มีบางหลังคาเรือนที่ไม่ได้จ่ายเป็นรายเดือนแต่ขอเสนอจ่ายเป็นรายปี ปีละ 180 บาท เป็นเหตุให้ตนมองเห็นช่องว่างในการที่จะเอาเงินมาใช้โดยไม่ต้องนำส่งคืนแก่รัฐ เพราะตนจะนำบิลเก่ามาสลักหลังหลอกกับทาง อบต. ว่าเป็นบิลเงินรายเดือน หรือรายปี สลับกันไปเพื่อที่จะได้นำส่วนต่างจากบิลดังกล่าวมาเก็บไว้ใช้ ทำมาเป็นเวลานานหลายครั้ง จนทาง อบต.ตาคลี จับได้ว่ามีการนำส่งเงินไม่ครบตามจำนวน เป็นเหตุให้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง ป.ป.ท. ให้ดำเนินคดีจนกว่าจะถึงที่สุด ในส่วนของผู้ต้องหาก็หลบหนีหมายเรียกไม่ยอมมาพบเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ตามหมาย อ้างว่าเงินแค่ไม่กี่บาทคงไม่เสียหายเท่าไรนัก จึงหลบหนีเรื่อยมาจนกระทั่งถูกออกหมายจับ และถูกจับกุมในวันนี้และรับสภาพตามข้อเท็จจริงทุกอย่าง
การกระทำในครั้งนี้โผล่ชัดว่าทุจริตชัดเจน เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. จึงได้ทำการสืบสวนจนพบว่าได้หลบหนีจากภูมิลำเนาที่จังหวัดสระบุรี มาอยู่ที่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาทไปพบตัวอยู่กลางตลาดที่แผงขายผลไม้ จึงได้ทำการจับกุม และได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า “เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่ง ผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172)” ก่อนนำส่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ดำเนินคดีต่อไป
จึงขอฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า แท้จริงแล้วการจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือน เป็นเรื่องที่ทุกคนควรที่จะช่วยกันลดขยะมูลฝอยที่ต้นทางมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการลด, การใช้ซ้ำและการรีไซเคิล โดยทุกภาคส่วนควรเข้าร่วมรับผิดชอบในการจัดการขยะ ซึ่งทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับทุกๆคน ทุกหมู่บ้าน เพื่อให้การจัดการขยะนั้นมีมาตรฐาน มาตรการและเพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะเหล่านี้ ซึ่งในกรณีนี้ การใช้บุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลเข้าไปเก็บค่าธรรมเนียมนั้น จะนำไปสู่การเกิดช่องว่างให้กระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หากระบบการตรวจสอบขององค์กรไม่ดีพอ ดังนั้นประชาชนสามารถที่จะลดช่องว่างในการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ได้โดยการใช้ระบบ “ท้องถิ่นดิจิทัล (DGA)”นอกจากจะเป็นการลดช่องว่างในการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่แล้ว ประชาชนยังสามารถที่จะส่งหลักฐานการชำระผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงการตรวจสอบสถานะการชำระได้ อีกทั้งยังได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นอีกด้วย และไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาทุจริตอยู่บนความทุกข์ร้อนของประชาชน
นอกจากนั้น จะขอเตือนพี่น้องประชาชนว่าการหนีหมายเรียก สามารถเป็นเหตุให้สันนิษฐานว่าจะหลบหนีและอาจนำไปสู่การออกหมายจับได้ หากท่านได้รับหมายเรียกไม่ว่าจะให้ไปเป็นพยาน หรือให้ไปพบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าฐานะอะไรก็ตาม ขอให้ท่านรีบแจ้งกับหน่วยงานผู้ออกหมายนั้นๆ ให้ทราบ เพราะว่าหากเกิดการขัดขืนไม่ไปตามหมายเรียกหรือตามนัด ไม่ว่าความผิดนั้นจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ปานใด ท่านก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ดังเช่นกรณีในครั้งนี้
หากพบการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้ สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่สายด่วน กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) โทร. 02-1919191, สายด่วน ป.ป.ช. 1205 (สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ), สายด่วน ป.ป.ท. 1206 (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) และสายด่วน ป.ป.ง. โทร. 02-2193600(สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)