วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมกรมคุมประพฤติสรุป 7 วันอันตรายสงกรานต์ เมาขับสูงถึง 7,141 คดี

Related Posts

กรมคุมประพฤติสรุป 7 วันอันตรายสงกรานต์ เมาขับสูงถึง 7,141 คดี

วันที่ 18 เม.ย.65 นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า สถิติคดีเข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติวันสุดท้ายของ 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลสงกรานต์ 17 เมษายน 2565 มีคดีรวมทั้งสิ้น 1,337 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 1,222 คดี ติด EM 2 ราย และขับเสพ 115 คดี จังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสูงสุดมี 2 จังหวัดได้แก่ สุรินทร์และกรุงเทพ จำนวน 398 คดี อันดับสองจังหวัดเชียงราย จำนวน 343 คดี และอันดับสามจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 330 คดี

สรุปสถิติ 7 วันอันตรายระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2565 คดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติมีคดีรวมทั้งสิ้น 7,925 คดี จำแนกเป็น

คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 7,141 คดี คิดเป็นร้อยละ 90.11
คดีขับเสพ จำนวน 765 คดี คิดเป็นร้อยละ 9.65
คดีขับรถประมาท จำนวน 19 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.24

ศาลสั่งติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวหรือกำไล EM คดีขับรถขณะเมาสุรายอดสะสม 7 วัน จำนวนทั้งสิ้น 13 ราย ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี(สาขาเดชอุดม) จำนวน 10 ราย รองลงมาสุโขทัย 3 ราย โดยมีเงื่อนไขห้ามออกจากที่พักอาศัย ตั้งแต่เวลา 19.00 น. – 05.00 น. เป็นเวลา 7 วัน

ทั้งนี้ สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศเฝ้าติดตามและควบคุมดูแลผู้กระทำผิดตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring Control Center – EMCC) เปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราช่วงสงกรานต์ ปี 2564 จำนวน 6,061 คดี ปี 2565 จำนวน 7,141 คดี สถิติคดีเพิ่มขึ้น 1,080 คดี คิดเป็นร้อยละ 17.82

ตลอดช่วง 7 วันอันตราย กรมคุมประพฤติโดยสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชน และอำนวยความสะดวก ประจำจุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น จำนวน 366 จุด และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ ประชาชน ภาคีเครือข่าย เจ้าหน้าที่ และผู้ถูกคุมความประพฤติ จำนวน 8,866 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดบริการ เพื่อให้ประชาชนเดินทางด้วยความปลอดภัย

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมคุมประพฤติให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมกันดูแลผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ โดยเฉพาะผู้กระทำผิดในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราทุกราย จะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่า มีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา กรมคุมประพฤติจะส่งเข้ารับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำหรับผู้กระทำผิดที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำ ต้องเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้นในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นระยะเวลา 3 วันต่อเนื่อง และยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts