“…. มีการนำเสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงอันตรายของโครงสร้างการผลิตไฟบ้านเราในปัจจุบัน ที่สัดส่วนการผลิตไฟของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) เหลืออยู่เพียง 33.90% เท่านั้น ขณะที่เอกชนมีสัดส่วนการผลิตไฟไปถึง 57.09% กับเรื่องที่กำลังเป็นเผือกร้อน จากประเด็นที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ขึ้นเวที Economic Forum 2024 ของ The Standard และได้วิพากษ์ธุรกิจไฟฟ้าของประเทศว่า หากไม่เร่งปฏิรูปวันนี้เราจะตายกันหมด โดย ดร.สมเกียรติ ระบุว่า ประชาชนคนไทยต้องรู้แล้วว่า เราจะให้ผู้ขายไฟฟ้ามากำหนดอนาคตของประเทศบนต้นทุนของประชาชนและธุรกิจต่างๆ ไม่ได้อีกแล้ว วันนี้ไฟฟ้าคือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศ หากไม่เร่งปฏิรูปปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเราจะตายกันหมด…”
ดราม่าปฏิรูปพลังงานไฟฟ้าไทย
ปลดล็อคทุนพลังงาน-ปัดกวาดบ้านตัวเองก่อน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของทิศทางพลังงานและค่าไฟฟ้ากำลังสร้างแรงกระเพื่อมต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยอยู่ในเวลานี้
หลังจากรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประกาศเดือนหน้า ตั้งคณะกรรมการร่วม JTC เพื่อดำเนินการเจรจาการนำทรัพยากรบนพื้นที่ทับซ้อนหรือพื้นที่อ้างสิทธิ์ไทย-กัมพูชา ตามกรอบ MOU44 ที่กำลังถูกเครือข่ายอะไรต่อมิอะไรออกมาร้องแรกแหกกระเชอ พยายามโยงว่าคือการขายชาติ เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อ และจะทำให้ไทยสูญเสียดินแดน
ไหนจะเรื่องที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อโครงสร้างอัตราค่าไฟในงวดแรกของปีหน้า 2568 (ม.ค.-เม.ย.68 ) ว่าจะลงเอยอย่างไร
จะยังคงตรึงอัตราค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยต่อไป หรือขยับอัตราค่าไฟขึ้นไป 5.26 บาทต่อหน่วยเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ กฟผ.บางส่วน หรือปรับขึ้นไปสุดซอย 5.49 บาทเพื่อล้างหนี้แสนล้านให้ กฟผ.ไปเลย
ไหนจะเรื่องที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พลังงานสะอาดเฟส2 อีก 3,600 เมกะวัตต์ ที่ตั้งเกณฑ์รับซื้อแบบ “เก็บตก” จากผู้ผลิตไฟที่เคยยื่นไว้ในรอบแรกแต่ไม่ได้รับการพิจารณา ทำให้สังคมพากันตั้งข้อกังขาว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ทำไมไม่เปิดประมูลใหม่ และทำไมจะต้องเร่งจัดซื้อในเมื่อสำรองไฟฟ้า Reserve Margin ของประเทศยังบานฉ่ำ
ล่าสุดยังมีข่าวเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ประธานและกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ที่ว่างลง 4 คน (จากทั้งชุด 7 คน) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ที่ถูกพรรคฝ่ายค้านออกมากระตุกเบรก อ้างว่า กรรมการสรรหาบางคนเป็น “ร่างทรง” กลุ่มทุนพลังงานไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
ทำให้ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงานต้องสั่งให้ชะลอกระบวนการสรรหา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รวมทั้งชะลอโครงการรับซื้อไฟในเฟส2 เอาไว้ก่อนจนกว่าจะตรวจสอบ-เคลียร์หน้าเสื่อเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นของสังคมให้กระจ่าง
ตีปลาหน้าไซ/หรือใบสั่งตั้ง กกพ.
จะว่าไป การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา กกพ.นั้น ในแวดวงพลังงานต่างตั้งข้อสังเกตเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า หากไล่เลียงรายชื่อ 8 กรรมการสรรหาที่ล้วนแล้วแต่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง
ไม่ว่าจะเป็น นายณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน นายประสงค์ พูนธเนศ และ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อดีตปลัดคลัง นายพสุ โลหาชุน อดีตปลัดอุตสาหกรรม ที่เหลือก็เป็นตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรม สถาบันอุดมศึกษา และตัวแทนเอ็นจีโอนั้น
คนในระดับ “ซือแป๋ยังเรียกพี่” แบบนี้จะมีใครไปชี้นิ้วสั่งการเขาได้หรือ? และหากในกรรมการสรรหาข้างต้นจะมี “ร่างทรง” กลุ่มทุนพลังงานเล็ดรอดเข้ามาจริงสักคนสองคนแล้วจะทำให้กรรมการสรรหาทั้งชุดกลายเป็นเป็ดง่อย ชี้ไม้เป็นนก หรือชี้ช้างเป็นลาได้หรือ? ไม่สามารถจะใช้วิจารณญานเลือกและสรรหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เพราะถูก “สนตะพาย” ได้หรือ?
ก็แค่การตีปลาหน้าไซ เพราะไม่ว่าจะตั้งใครมาก็เชื่อได้ว่าหนีไม่พ้นข้อวิพากษ์อยู่แล้ว ทั้งที่กรรมการสรรหาส่วนใหญ่หาได้อยู่ในแวดวงพลังงาน และถึงแม้จะเคยดำรงตำแหน่งในบริษัทพลังงาน แต่ก็เป็นกิจการของรัฐโดยตรง
“แทนที่จะช่วยกันจับตาและตรวจสอบตัวว่าที่ กกพ.” ที่จะเข้ามาจริงๆ ในอนาคตเป็นใคร? มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนพลังงานหรือเป็น “ร่างทรง” กลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ถึงเวลานั้นค่อยออกมาร้องแรกแหกกระเชอยังจะพอทำเนา”
ปลุกผีปฏิรูปพลังงาน (ที่ไม่มีวันจบ)
กับเรื่องที่กำลังเป็นเผือกร้อน จากประเด็นที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ขึ้นเวที Economic Forum 2024 ของ The Standard และได้วิพากษ์ธุรกิจไฟฟ้าของประเทศว่าหากไม่เร่งปฏิรูปวันนี้ เราจะตายกันหมด
โดย ดร.สมเกียรติ ระบุว่า ประชาชนคนไทยต้องรู้แล้วว่า เราจะให้ผู้ขายไฟฟ้ามากำหนดอนาคตของประเทศบนต้นทุนของประชาชนและธุรกิจต่างๆ ไม่ได้อีกแล้ว วันนี้ไฟฟ้าคือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศ หากไม่เร่งปฏิรูปปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเราจะตายกันหมด
มีการนำเสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นถึงอันตรายของโครงสร้างการผลิตไฟบ้านเราในปัจจุบัน ที่สัดส่วนการผลิตไฟของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) เหลืออยู่เพียง 33.90% เท่านั้น ขณะที่เอกชนมีสัดส่วนการผลิตไฟไปถึง 57.09%
โดยผู้ผลิตไฟเอกชนรายใหญ่ (IPP) ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 1.บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (Gulf) มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าในมือ 4,888 เมกะวัตต์ 2.บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH Group) มี 4,161 เมกะวัตต์ 3.บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC ) 3,473 เมกะวัตต์ และ 4.บมจ.ผลิตไฟฟ้า EGCO Group 2,276 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวในแวดวงพลังงานได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากดูข้อมูลที่ประธานทีดีอาร์ไอสะท้อนออกมา ก็ให้น่าแปลกใจ เพราะเกิดมาก็เพิ่งถึงบางอ้อเอาวันนี้ว่า การตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนจะ IPP SPP VSPP ในช่วงระยะ 10-15 ปีเศษที่ผ่านมานี้ ผู้ขายไฟฟ้าเป็นผู้กำหนดราคาหรือ?
“ไม่ใช่กระทรวงพลังงาน ไม่ใช่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรอกหรือที่เป็นผู้กำหนดอัตรารับซื้อผ่านนโยบายการแข่งขัน ใครเสนอราคาต่ำสุดก็ได้โครงการไปหรอกหรือ ยิ่งกับไฟฟ้าพลังงานทดแทน ไฟฟ้าทางเลือก หรือพลังงานสะอาดทั้งหลายแหล่ที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายรับซื้อจะให้ค่าธรรมเนียมพิเศษจูงใจการผลิต Feed in Tarif : FIT หรือค่า Adder แก่ผู้ผลิตไฟซึ่งก็ล้วนมาจากนโยบายรัฐทั้งสิ้น ก่อนเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันเสนอราคา”
ส่วนจะกำหนดต้นทุน และอัตรากำไรไว้เหมาะสมหรือไม่? ให้กำรี้กำไรแก่เอกชนจนสำลักมากไปหรือไม่ อย่างไรนั้นคงต้องย้อนกลับไปถามกระทรวงพลังงานและกกพ.ในอดีตกันเอง และคงต้องถามท่านนักวิชาการ “กูรู้” ทั้งหลายด้วยว่า
ตอนที่รัฐบาล คสช.เขาตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานอย่างถึงพริกถึงขิง จนมาถึงการตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดปลายปีก่อนนั้น พวกท่านมัวไปนั่งหายใจรวยริน หรือ นั่งเอามือ “ซุกหีบ” กันอยู่ไหนหรือ ถึงไม่ออกมาปกป้องหรือร้องแรกแหกกระเชอให้สาธารณะชนได้รับรู้ตื้นลึกหนาบางบรรดาความอัปยศทั้งหลายเหล่านี้
“อย่างการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนพลังงานทางเลือกในอดีตที่ได้ค่า FIT 9-12 บาทต่อหน่วยนั้น กำไรทะลักล้นจนถึงขนาดที่บริษัทพลังงานเลื่องชื่อ “วินเอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” ที่มีข่าวว่าตัว นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และผู้นำจิตวิญญาน “ด้อมส้ม” ที่ออกมาจุดพลุคัดค้านการจัดซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนระลอกใหม่ก็ถือหุ้นอยู่ด้วยนั้น
แต่ละปีบริษัทพลังงานรายนี้ ขายไฟฟ้าให้รัฐปีละ 10,000 ล้านบาท โดยได้รับเงินส่วนเพิ่ม Adder จากการขายไฟให้รัฐในระดับ 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์ไปจนถึงปี 2570-72 ทำให้บริษัทมีกำไรสูงถึงปีละ 5,000 ล้านบาท สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นผู้นำจิตวิญญานด้อมส้มจะออกมากระทุ้งให้รัฐสังคายนา หรือฉีกสัญญาขายไฟทิ้งบ้าง
“บริษัทพลังงานรายนี้ มีกำไรทะลักล้นจนสำลักขนาดไหน ก็ถึงกับทำเอาผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ร่วมก่อตั้งบริษัทมาเปิดศึกชิงหุ้นส่วน ชิงอำนาจบริหารกันอย่างถึงพริกถึงขิง ถึงขนาดผู้ถือหุ้นบางกลุ่มเปิดสายเลือดฟ้องร้องตัดขาดกันเองภายในครอบครัวจนถึงขนาดญาติพี่น้องยังไม่เผาผีกัน”
หนังม่วนเก่า กฟผ.ถูกบอนไซ
ส่วนประเด็นสัดส่วนการผลิตไฟในปัจจุบัน ที่ กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่เพียง 33.9% ขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนมีสัดส่วนการผลิตมากถึง 57.09% อะไรนั้น ก็คงต้องย้อนถามกลับไปยัง “กูรู้” ทั้งหลายแหล่ รวมทั้งนักวิชาการ TDRI ว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเอกชนข้างต้นนั้นนับรวมไปถึง RATCH Group และ EGCO Group ด้วยหรือไม่?
กลับกันหากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในวันนี้ไม่ใช่กิจการของรัฐ แต่เป็นของตระกูลชินหรือกลุ่มทุนพลังงานโดยตรง กำลังการผลิตไฟของเอกชนในส่วน RATCH และ EGCO ที่กำลังตีปี๊บกันอยู่นี้จะถูกเหมารวมว่าเป็นโรงไฟฟ้าของเอกชน หรือเหมารวมว่าเป็นของตระกูลชินหรือทุนพลังงาน!
ไม่ต้องเดาก็รู้ เพราะทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดี ทั้งสองโรงไฟฟ้าที่มาจาก กฟผ.เองเป็นผู้ดึงเอกชนเข้ามาร่วมจัดตั้งตามนโยบายเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าดึงเอกชนเข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้า ก่อนจะแปรรูปนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ก่อนขยับไปเป็นการตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนตามมา
ที่สำคัญ ไม่ว่าบริษัทเอกชน จะได้รับสิทธิ์ในการผลิตไฟฟ้า จะโรงไฟฟ้า IPP SPP VSPP หรือจะโรงไฟฟ้าทดแทน ไฟฟ้าทางเลือกอะไรก็ตาม สุดท้าย ผู้ผลิตเหล่านี้ ก็ต้องขายไฟให้กับ กฟผ. และ 2 การไฟฟ้า ที่เป็นผู้ผูกขาดระบบสายส่งทั้งหมดอยู่ดี
แตกต่างจากต่างประเทศ ที่เปิดซื้อขายไฟกันอย่างเสรี ผู้ผลิตสามารถจำหน่ายไฟให้กับประชาชน หรือ ภาคธุรกิจได้โดยตรงโดยมีการแข่งขันแบบเดียวกับธุรกิจอื่นๆ
แล้วจะมาตีขลุมว่า กฟผ.ถูกบอนไซได้อย่างไร???
ข้อเสนอ ปฏิรูปพลังงานในฝัน
จะว่าไปหากโครงสร้างพื้นฐานด้านกิจการไฟฟ้ามันสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับประเทศและประชาชนคนไทยโดยเฉพาะต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนประเทศแล้ว ทำไมรัฐบาลและกระทรวงพลังงานถึงไม่คิดจะจัดตั้ง “กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน” เพื่อซื้อคืนโรงไฟฟ้าจากเอกชนกลับมาเป็นของรัฐแบบนโยบายซื้อคืนรถไฟฟ้าของกระทรวงคมนาคมไปเลย
หรือไม่ก็วางนโยบายพลังงานไฟฟ้าเสียใหม่ โดยรัฐเป็นผู้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าแล้วจ้างเอกชนผลิต ให้แข่งขันกันเสนอราคาผลิตรูปแบบเดียวกับที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม.จ้างเอกชนก่อสร้างและเดินรถ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงโดยที่รัฐบาลยังคงเป็นเจ้าของ สามารถจะกำหนดอัตราค่าโดยสารให้ถูกอย่างไรก็ได้ หรือจะ “ขาดทุนบักโกรก” อย่างไรก็ได้ จริงไม่จริง!!!
ที่เห็นและเป็นไปวันนี้ ก็ต่อสู้อยู่เพียงแค่จะให้ กฟผ.ได้สิทธิผูกขาดการผลิตและขายไฟโดยไม่เคยมีใครลงไปตรวจสอบเลยว่าต้นทุนผลิตไฟ กฟผ.เมื่อเทียบกับที่เอกชนผลิต หรือขายโดยตรงนั้นเป็นอย่างไร?มีด้วยหรือกิจการที่รัฐผลิตเองตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำแล้วมีราคาถูกกว่าเอกชน กิจการอะไรหรือเอาปากกามาวง!!!