บอร์ดอีวี เคาะขยายเวลาการผลิตชดเชยรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าตามมาตรการ EV3 ให้ยกยอดไป EV3.5 แต่ไม่ให้ได้รับเงินอุดหนุน จนกว่าจะผลิตชดเชยตามมาตรการเดิมครบถ้วน ป้องกันภาวะรถยนต์ล้นตลาด และพยุงสถานการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดอีวี ซึ่งมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่อง “การขยายเวลาการผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3” ซึ่งเป็นข้อเสนอจากกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ให้พิจารณาขยายเวลาเงื่อนไขการผลิตชดเชยสำหรับผู้ผลิตที่ได้รับเงินสนับสนุนตามมาตรการ EV3 ซึ่งเดิมกำหนดว่าต้องผลิตให้ครบถ้วนตามสัญญาภายในปี 2567-2568 เนื่องจากยอดขายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอยู่ในภาวะหดตัว จากปัญหาความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือข้อเสนอดังกล่าว โดยพิจารณาสถานการณ์ตลาดรถยนต์ของไทยในปัจจุบันที่อาจมีความเสี่ยงจากภาวะอุปทานล้นตลาด (Oversupply) ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามราคาที่รุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ บอร์ดอีวี จึงมีมติให้ปรับปรุงเงื่อนไขมาตรการ EV3 ที่เดิมกำหนดให้ต้องผลิตรถยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าในอัตราส่วน 1 : 1 เท่า (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 1 คัน) ภายในปี 2567 หรือ 1 : 1.5 เท่า ภายในปี 2568 โดยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายเวลาผลิตชดเชยตามมาตรการ EV3 ไปผลิตชดเชยภายใต้เงื่อนไขของมาตรการ EV3.5 ได้ (ผลิตชดเชย 2 เท่า ภายในปี 2569 หรือ 3 เท่า ภายในปี 2570)
โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการขยายเวลาข้างต้นจะไม่ได้รับเงินอุดหนุน รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าในส่วนที่นำเข้าหรือผลิตภายใต้มาตรการ EV3.5 ก็จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนเช่นเดียวกัน จนกว่าจะผลิตชดเชยได้ครบตามจำนวนที่ได้รับสิทธิขยายเวลา