“….กับเรื่องที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือ”ดีอี”ดำเนินการยกร่างแก้ไขพระราชกำหนดมาตราการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ “กม.ไซเบอร์” ที่จะบังคับให้แบงก์หรือสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการมือถือ (Operator)ต้องร่วมกันรับผิดชอบกรณีประชาชนที่เป็นลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน หรือดูดเงินไปจากบัญชี หากกฏหมายที่ออกมาเปิด “ช่องโหว่”ให้ประชาชนผู้เสียหาย”เคลม”ค่าเสียหายเอากับแบงก์และค่ายมือถือได้ง่ายเหมือไหร่ เราอาจได้เห็นขบวนการ “ขุดทอง”ผุดขึ้นมาป็นดอกเห็ด เพื่อ “สุมหัว”หลอกเคลมความเสียหายเอากับแบงก์และค่ายมือถือได้ทุกเมื่อ แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ที่ พยายามหาช่องทางและกระทำทุกวิถีทางในอันที่จะหลอกลวงผู้คนให้ตกเป็นเหยื่อ จะไม่หาช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อย่อนรอยกลับมาไล่ ” ตบทรัพย์-ขุดทอง” หรือ? ถึงเวลานั้นความเสียหายอาจประเมินค่าไม่ได้ เพราะเงินฝากของประชาชนจะกลายเป็น “เหยื่อที่แท้จริง”…”
เกาไม่ถูกที่คัน!
ถอดบทเรียนประกัน”เจอ จ่าย จบ”
ก่อนบังคับ”แบงก์-โอปอร์เรเตอร์””ร่วมรับผิดชอบแก๊งคอลล์
******
กำลังเดินมาถึงโค้งสุดท้ายจ่อคิวจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบ(แบบม้วนเดียวจบ!)
กับเรื่องที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือ”ดีอี”ดำเนินการยกร่างแก้ไขพระราชกำหนดมาตราการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ “กม.ไซเบอร์” ที่จะบังคับให้แบงก์หรือสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการมือถือ (Operator)ต้องร่วมกันรับผิดชอบกรณีประชาชนที่เป็นลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน หรือดูดเงินไปจากบัญชี
หลังจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลสิงคโปร์ทำสำเร็จมาแล้วจากการทำคลอดกฏหมายบังคับให้สถาบันการเงินและค่ายมือถือต้องร่วมกันรับผิดชอบกรณีประชาชนที่เป็นลูกค้าแบงก์และค่ายมือถือถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน หรือดูดเงินไปจากบัญชีโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค.68 เป็นต้นไป
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.กระทรวงดีอี เลยปิ๊งไอเดียกลับไปยกร่างแก้ไขกฏหมายปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ของไทยตามบ้าง โดยจะออกเป็น “พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)”เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องเข้าสู่สภาผู้แทนฯอีก พร้อมประกาศเป็น”วาระเร่งด่วน”ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกหลอกได้โดยง่าย
แต่จะเป็นการแก้ไขปัญหาถูกจุด เป็นปราการไล่ปราบปรามแก๊งอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้จริง หรือเป็น “ดาบ2คม”ที่อาจทำให้แบงก์และค่ายมือถือ”สำลัก”มาตรการปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์จนทำเอาแบงก์หรือสถาบันการเงินเจริญรอยตามธุรกิจประกันภัยก่อนหน้าหรือไม่
เพราะอะไรที่ผุดกันออกกันมาอย่างง่ายดาย เอะอะก็ให้ลูกค้าผู้เสียหายเข้าถึงและเคลมความเสียหายกันได้อย่างง่ายดายนั้น มันมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วกับธุรกิจประกันภัยประกันที่ “สำลัก”พิษกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ”จนต้องล้มระเนระนาดกันมาแล้ว!
#ถอดบทเรียนประกันภัย”เจอ จ่าย จบ”
กรณีบริษัทประกันที่ต้องล้มระเนระนาดจากกรมธรรม์ประกันเจอ จ่าย จบโควิด-19″ก่อนหน้านี้ที่ทำเอาบริษัทประกันน้อยใหญ่ล้มระเนระนาด ที่ยังเหลือรอดมาได้ก็อยู่ในสภาพ”หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง”นั้น เกิดขึ้นในช่วงปี 63-64 ที่ถือเป็นปีทองของธุรกิจประกันชีวิต -ประกันภัยจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนได้รู้ซึ้งถึงบทบาทการทำประกันชีวิต
หลายสิบริษัทได้เข็นกรมธรรม์”เจอ จ่าย จบ”ออกมาขายกันอย่างครึกโครมฟันรายได้กรมธรรม์เข้าบริษัทกันสะพัด นัยว่าแค่ปีเศษมีการขายกรมธรรม์ประเภทนี้ออกไปไม่ต่ำกว่า10 ล้านกรมธรรม์กันเลยทีเดียว
แต่คล้อยหลังไม่ถึงขวบปี ประกัน”เจอ จ่าย จบ”ก็ทำพิษทำเอาบริษัทประกันน้อยใหญ่หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง จากเงื่อนไขการเคลมประกันที่ง่าย”เจอ จ่าย จบ” ที่แทบจะกลายเป็นการ”สุมหัว”ร่วมกันเคลมประกันก็ว่าได้ ดันยอดเคลมประกันพุ่งกระฉูดนับหมื่นล้านหรือหลายหมื่นล้าน สูงกว่าวงเงินกองทุนที่มี
จนทำเอาหลายบริษัทถึงกับ”ล้มทั้งยืน” ไล่ดะมาตั้งแต่บริษัทเอเชียประกันภัย และเดอะ วัน ประกันภัยที่ถูกกระทรวงการคลังสั่งเพิกถอนใบอนุญาตด้วยเหตุผลมีฐานะการเงินไม่มั่นคง มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน มีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการจ่ายสินไหม ก่อนที่บริษัท “อาคเนย์ประกันภัย” ของกลุ่ม “เจ้าสัวเจริญ” ที่ได้ชื่อว่าติด1ใน3 ทำเนียบ “อภิมหาเศรษฐี”ของเมืองไทยก็ยัง”หืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง”มาแล้ว ก่อนจะยื่นขอปิดกิจการในท้ายที่สุด
เช่นเดียวกับ”สินมั่นคงประกันภัย”ยักษ์ใหญ่วงการประกันภัยและรถยนต์ก็ยังหนีไม่พ้นชะตากรรมเดียวกันนี้ นัยว่าจนป่านนี้ยังเคลียร์หน้าเสื่อจ่ายสินไหมทดแทนและเฉลี่ยความเสียหายคืนแก่ผู้เอาสินไหมยังไม่จบสิ้นด้วยซ้ำ
#ดาบ2คม “สุมหัว”ปล้นแบงก์-Operator
เมื่อกระทรวงดีอีผุดไอเดียบรรเจิดในการแก้ลำแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์แบบเอา “ง่ายเข้าว่า” ด้วยการบังคับให้แบงก์และค่ายมือถือต้องร่วมกันรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น หากพบว่าแบงก์ไม่ตรวจสอบพฤติกรรมหรือธุรกรรมทางการเงินที่มีการโอนผิดปกติ หรือ Operator มือถือยอมให้มีการส่งข้อมูลลิงค์ต่างๆที่ตรวจสอบได้ว่าเป็นเครือข่ายหลอกลวงผู้บริโภคหรือแก๊งอาชญากรรมออนไลน์
แต่การจะให้ทั้งธนาคารและค่ายมือถือไปร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุว่าอาจเป็นมาตรการ”เกาไม่ถูกที่คัน” และอาจป็น “ดาบ2คม” ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกรรมแบงก์ในอนาคต
เพราะการจะให้ธนาคารและค่ายมือถือไปร่วมรับผิดชอบด้วยนั้น ย่อมเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าแบงก์หรือสถาบันการเงินและะค่ายมือถือรู้เห็นเป็นใจ หรือร่วมมือกับแก๊งอาชญากรรมเหล่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ เพราะการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการเปิดบริการที่เป็น Mobile banking นั้นไม่ได้มุ่งหวังให้นำไปก่ออาชญากรรมอย่างแน่นอน ดังนั้นการจะพิสูจน์ว่าแบงก์หรือสถาบันการเงิน หรือค่ายมือถือประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบบรรดาธุรกรรมที่กระทำการโลดแล่นอยู่บนเครือข่ายที่ตนเองให้บริการนั้น จึงเป็นเรื่องยาก
ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปไกลขนถึงขั้นที่ว่าแค่กดลิงค์ที่มีการส่งผ่านข้อความสั้น SMS MMS หรือ Line เข้ามาแค่กดลิงค์ที่ว่าบางครั้งก็ถูกดูดข้อมูล ถูกดูดเงินจากบัญชีทั้งที่ยังไม่ได้กดแป้นตอบโต้ใด ๆ ด้วยซ้ำ!
หรือกรณีประชาชนยอมไปเปิดเบอร์มือถือ และเปิดบัญชีม้าให้กับแก๊งคอลล์ ก่อนเปิด Mobile Banking กระทำธุรกรรมต่างๆผ่านมือถือ ซึ่งแน่นอนว่าธุรกรรมที่กระทำผ่านบัญชีและโมบายแบงก์กิ้งเหล่านี้เกี่ยวพันกับทั้งธนาคารและผู้ให้บริการมือถือทั้งสิ้น
ยิ่งในอนาคตอันใกล้เมื่อรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เตรียมทำคลอดไลเซ่นส์ Virtual Bank ธนาคารไร้สาขาอย่างน้อย 3 ธนาคาร ที่ “ทุกธุรกรรม”จะไปอยู่บนมือถือสมาร์ทโฟนเป็นหลักด้วยแล้ว กฏหมายนี้จะยิ่งเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในการดำเนินธุรกรรมของ”เวอร์ช่วลแบงก์”ไปโดยปริยาย
แต่หากกฏหมายที่ออกมาเปิด “ช่องโหว่”ให้ประชาชนผู้เสียหาย”เคลม”ค่าเสียหายเอากับแบงก์และค่ายมือถือได้ง่ายเหมือไหร่ เราอาจได้เห็นขบวนการ “ขุดทอง”ผุดขึ้นมาป็นดอกเห็ด เพื่อ “สุมหัว”หลอกเคลมความเสียหายเอากับแบงก์และค่ายมือถือได้ทุกเมื่อ
“อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะขนาดกรณีผู้ป่วย “บัตรทอง” หรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของ สปสช.ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค (ที่ล่าสุดยกระดับขึ้นเป็น30บาทรักษาทุกที่)นั้น
ใครจะไปคิดว่าโครงการ30บาทรักษาทุกโรคที่รัฐบาลและสธ.วางหลักเกณฑ์เอาไว้อย่างดิบดี หลังจากให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาส 50 ล้านคนได้เข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลได้ถ้วนหน้าและทัดเทียมนั้นจะมีขบวนการ “ช็อปยา”รักษาโรคภูมิแพ้หอบหืดจากโครงการออกมาขายว่อนเน็ต ที่ยังความเสียหายแก่รัฐมูลค่านับ100ล้านบาท ก็มีให้เห็นมาแล้ว”
แล้วกรณีแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ที่ พยายามหาช่องทางและกระทำทุกวิถีทางในอันที่จะหลอกลวงผู้คนให้ตกเป็นเหยื่อ จะไม่หาช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อย่อนรอยกลับมาไล่ ” ตบทรัพย์-ขุดทอง” หรือ?
ถึงเวลานั้นความเสียหายอาจประเมินค่าไม่ได้ เพราะเงินฝากของประชาชนจะกลายเป็น “เหยื่อที่แท้จริง”