วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 10.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 3/2568 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมีนาคม 2567 จากผู้ร้องรายหนึ่งระบุว่า ผู้ร้องและประชาชนบ้านซับหวาย ตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ รวม 14 คน ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 โดยเมื่อปี 2559 ประชาชนกลุ่มดังกล่าวถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐานบุกรุกอุทยานแห่งชาติไทรทอง และต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ ผู้ร้องเห็นว่าประชาชนทั้ง 14 ราย เป็นผู้ที่ทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองมาก่อนการประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า และเป็นผู้ยากไร้ มีรายได้น้อย และไร้ที่ดินทำกินที่ต้องได้รับการยกเว้นจากการบังคับตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งหากประชาชนทั้ง 14 ราย ต้องถูกขับไล่ออกจากที่ดินโดยไม่มีพื้นที่ทำกินอื่นรองรับ ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต จึงขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอุทยานแห่งชาติไทรทอง ผู้ถูกร้องทั้งสอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรที่ดินทำกินให้กับประชาชนทั้ง 14 ราย และให้เร่งรัดการสำรวจการถือครองที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในแปลงที่ดินของผู้ร้องที่ยังตกหล่น
กรณีตามคำร้อง เบื้องต้น กสม. ได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นการเร่งด่วนไปยังหน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งเดือนมิถุนายน 2567 เห็นว่า ผู้ร้องและประชาชนในหมู่บ้านซับหวายทั้ง 14 ราย ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบ จึงมีมติรับไว้เป็นเรื่องตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นพิจารณาสองประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอุทยานแห่งชาติไทรทอง ผู้ถูกร้องทั้งสองได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2535 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ผู้ร้องกับประชาชนทั้ง 14 ราย เป็นผู้ที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณบ้านซับหวาย ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองมาก่อน ต่อมาปี 2546 ปี 2549 ปี 2553 และปี 2556 อุทยานฯ ได้สำรวจการถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินในเขตอุทยานฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 แต่ไม่มีรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้ได้รับการสำรวจ และเมื่อปี 2558 อุทยานฯ ได้ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 โดยเข้าขอคืนพื้นที่และให้ผู้ร้องกับประชาชนทั้ง 14 ราย ออกจากพื้นที่อุทยานฯ แต่ผู้ร้องและประชาชนยังคงเข้าไปทำกินในพื้นที่เดิม จึงถูกฟ้องดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ผู้ร้องและประชาชนทั้ง 14 ราย จึงร้องทุกข์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้รับข้อยกเว้นจากการบังคับใช้กฎหมายตามนโยบายทวงคืนผืนป่าเนื่องจากเป็นผู้ยากไร้ มีรายได้น้อย ไร้ที่ดินทำกิน และไม่เข้าข่ายเป็นนายทุน อันเข้าเงื่อนไขตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ต่อมาเมื่อปี 2564 ศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกและปรับ รวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหาย และให้ผู้ร้องกับประชาชนทั้ง 14 ราย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ แต่ผู้ร้องยังคงทำกินในพื้นที่เดิม และปรากฎว่ายังไม่มีที่ดินที่จะนำมาจัดสรรทดแทนให้ได้
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้การเข้าขอคืนพื้นที่และร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้จับกุมดำเนินคดีกับผู้ร้องและประชาชนทั้ง 14 ราย ในข้อหาบุกรุก พื้นที่อุทยานฯ ของอุทยานแห่งชาติไทรทอง (ผู้ถูกร้องที่ 2) เมื่อปี 2558 – 2559 จะเป็นการดำเนินการตามนโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช. แต่จากการตรวจสอบพบว่า ก่อนการดำเนินการ อุทยานฯ ไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้ร้องกับประชาชนทั้ง 14 ราย เข้าข่ายเป็นผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 หรือไม่ ซึ่งหากผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ตรวจสอบก็จะพบว่า ผู้ร้องกับพวกทั้ง 14 ราย มีลักษณะเป็นผู้ยากไร้ มีรายได้น้อย และไร้ที่ดินทำกิน ดังเช่นที่คณะกรรมการและคณะทำงานพิจารณาความเป็นผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกินฯ ที่แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดชัยภูมิ ที่ 120/2562 ลงวันที่ 26 กันยายน 2562 ได้ตรวจสอบพบว่า ผู้ร้องและประชาชนทั้ง 14 ราย เป็นผู้ยากไร้ที่ไม่เข้าข่ายเป็นนายทุน การดำเนินการใด ๆ ของอุทยานฯ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว ดังนั้น จึงเห็นว่าการขอคืนพื้นที่และร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้จับกุมดำเนินคดีกับผู้ร้องและประชาชนทั้ง 14 ราย โดยไม่ตรวจสอบคุณสมบัติก่อนการดำเนินการ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สอง กรณีหน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสองไม่สำรวจการถือครองที่ดินตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้กับผู้ร้อง จากการตรวจสอบปรากฏว่า ผู้ร้อง และครอบครัวได้ครอบครองและทำกินในที่ดินรวม 3 แปลง ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้แจ้งให้ประชาชนที่ถือครองที่ดินในเขตอุทยานฯ แจ้งการถือครองที่ดิน เพื่อดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้น เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ผู้ร้องและครอบครัว จึงแจ้งสำรวจการถือครองที่ดินต่ออุทยานแห่งชาติไทรทอง (ผู้ถูกร้องที่ 2) และอุทยานฯ ได้ตรวจสอบแปลงที่ดินดังกล่าว โดยพบว่าเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่อุทยานฯ เคยขอคืนพื้นที่ ซึ่งผู้ร้องได้ลงชื่อให้ความยินยอมคืนพื้นที่ไว้แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 กรมอุทยานฯ จึงไม่ได้นำพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาสำรวจการถือครองที่ดิน โดยระบุว่าเป็นไปตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561
อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า การสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งกรมอุทยานฯ กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ห้ามมิให้อุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งสำรวจการถือครองที่ดินให้กับแปลงที่ขอคืนพื้นที่ โดยอ้างมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 นั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขเกินขอบเขตที่มติ ครม. กำหนด เนื่องจากมติ ครม. ดังกล่าวมิได้กำหนดข้อจำกัดสิทธิในการได้รับการสำรวจการถือครองที่ดิน ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่าการขอคืนพื้นที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่อุทยานฯ ใช้มาตรการทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 โดยไม่ได้ตรวจสอบว่าผู้ร้องได้รับการยกเว้นตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 หรือไม่ รวมทั้งมีข้อโต้แย้งว่าการขอคืนพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปโดยไม่สมัครใจเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ให้คืนพื้นที่ และภายหลังจากที่ลงชื่อคืนพื้นที่แล้ว ผู้ร้องและครอบครัวยังคงทำกินในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง การกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ทำให้ผู้ร้องและครอบครัวไม่ได้เข้าสู่ระบบการสำรวจการถือครองที่ดิน ปิดโอกาสในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน การกระทำของกรมอุทยานฯ ในการกำหนดแนวปฏิบัติสำรวจที่ดินดังกล่าวและการกระทำของอุทยานฯ ที่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัตินี้จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้อง
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และอุทยานแห่งชาติไทรทอง ผู้ถูกร้องทั้งสอง ให้ชะลอการรื้อถอนหรือขับไล่ประชาชนทั้ง 14 ราย ออกจากที่ดินทำกินเดิม จนกว่าการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวจะแล้วเสร็จ และให้ร่วมกับจังหวัดชัยภูมิและสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) จัดหาที่ดินเพื่อรองรับการอพยพผู้ร้องกับประชาชนทั้ง 14 ราย ที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยหรือที่ดินทำกินหรือไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ ให้กรมอุทยานฯ แก้ไขปรับปรุงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่กำหนดห้ามมิให้อุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนในพื้นที่ที่ถูกขอคืน โดยแก้ไขปรับปรุงให้ผู้ที่อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ได้คืนพื้นที่ไปแล้ว แต่ในข้อเท็จจริงบุคคลผู้นั้นยังคงอยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่เดิมมาอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถได้รับการสำรวจการถือครองที่ดินตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2542