ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ได้เข้าพบหารือกับนายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ณ สำนักจุฬาราชมนตรี กรณีมีข่าวจะมีการส่งผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ที่ถูกจับในข้อหาเดินทางเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย และถูกกักตัวไว้นานกว่า 10 ปี กลับประเทศต้นทาง โดยตนเองได้เล่าว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาของผู้ต้องกักชาวอุยกูร์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2566 กสม. เคยมีข้อเสนอแนะให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หามาตรการหรือแนวทางที่เป็นรูปธรรม รวมถึงกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ไปยังประเทศที่สามที่มีความปลอดภัยต่อชีวิต และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 กสม. ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแจ้งข้อเสนอแนะในการปฏิบัติต่อผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ ให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งข้อเสนอแนะของ กสม. หลายประการได้รับการตอบสนองในทางที่ดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ต้องกักได้แก่ การอนุญาตให้แพทย์จากทางสำนักจุฬาราชมนตรีได้เข้าตรวจร่างกายผู้ต้องกักอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ การอนุญาตให้ผู้ต้องกักติดต่อสื่อสารกับญาติของผู้ต้องกักในต่างประเทศด้วยช่องทางที่เหมาะสมได้ การอนุญาตให้ทางสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรีนำอาหารจากภายนอกเข้าไปเลี้ยงผู้ต้องกัก และจัดให้มีการละหมาดวันศุกร์ร่วมกัน รวมถึงการพิจารณาหาสถานที่ใหม่ในการควบคุมตัวเพื่อแก้ปัญหาความแออัด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนทั้งองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สื่อมวลชน และสถานทูตต่างประเทศในประเทศไทย ได้แสดงความห่วงกังวลมายัง กสม. ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในเร็ว ๆ นี้ ว่าอาจมีวาระหารือเรื่องการขอให้ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทาง ดังนั้น ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 17 มกราคม 2568 ถึงนายกรัฐมนตรี แจ้งข้อห่วงกังวลดังกล่าวแล้ว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ทางประเทศมุสลิมภายใต้องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of the Islamic Cooperation: OIC) ซึ่งมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 57 ประเทศ และมีหน่วยงานชื่อ คณะกรรมาธิการอิสระถาวรว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (OIC Independent Permanent Human Rights Commission: IPHRC) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากรัฐบาลไทยไม่ส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กลับไปได้รับอันตราย และเลือกที่จะส่งตัวไปยังประเทศที่สามตามความสมัครใจแทน จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศมากกว่า
จากการหารือ ท่านจุฬาราชมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เห็นสอดคล้องกับทาง กสม. และรับที่จะสื่อสารกับทางรัฐบาลอีกทางหนึ่ง เพื่อช่วยกันรักษาผลประโยชน์และภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก รวมถึงโลกมุสลิม โดยจะเร่งดำเนินการต่อไป
สำหรับหนังสือด่วนที่สุด ที่นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี มีใจความสำคัญเน้นย้ำให้รัฐบาลไทยสร้างความเชื่อมั่นอย่างเร่งด่วนว่าประเทศไทยจะประกันความปลอดภัยของชาวอุยกูร์ เนื่องจากการส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กลับสาธารณรัฐประชาชนจีน อาจทำให้ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ได้รับอันตรายถึงชีวิต อันเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ห้ามผลักดันบุคคลกลับไปสู่อันตราย (Non-refoulement) รวมถึงการถูกคุกคามด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางสังคมหรือทางความคิดด้านการเมือง ทั้งการส่งกลับดังกล่าวยังขัดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 13 ที่ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย และขัดต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT)
นอกจากนี้ กสม. เห็นว่า หากมีการส่งชาวอุยกูร์กลับไปสู่อันตรายอันเป็นการละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่สำคัญแล้ว ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนานาชาติจากการที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี 2568 – 2570 มีผลกระทบต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับต่างประเทศ ตลอดจนความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศมุสลิม สถานะของประเทศไทยในองค์การความร่วมมืออิสลาม และความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย