วันอาทิตย์, เมษายน 13, 2025
หน้าแรกอาชญากรรมกสม. มีข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิเด็ก กรณีเด็กถูกนำไปทำคอนเทนต์โดยละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสี่ยงต่อภัยออนไลน์

Related Posts

กสม. มีข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิเด็ก กรณีเด็กถูกนำไปทำคอนเทนต์โดยละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสี่ยงต่อภัยออนไลน์

(กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 14/2568) กสม. มีข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิเด็ก กรณีเด็กถูกนำไปทำคอนเทนต์
โดยละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสี่ยงต่อภัยออนไลน์

  • ชงแก้กฎหมายกองทุนยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนผู้ยากไร้เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม

วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายภาณุวัฒน์ ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 14/2568 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

  1. กสม. มีข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิเด็ก กรณีเด็กถูกนำไปทำคอนเทนต์โดยละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสี่ยงต่อภัยออนไลน์

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีข้าราชการครูมีพฤติกรรมนำเด็กนักเรียนไปทำเนื้อหาหรือคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ โดยไม่ปกปิดอัตลักษณ์อันเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ในขณะนั้นจึงได้ประสานความช่วยเหลือ โดยส่งเรื่องไปยังศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 10 จังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อมา กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันมีข้าราชการครูและผู้ปกครองจำนวนมากที่นำเด็กไปทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ จึงมีมติให้หยิบยกกรณีดังกล่าวเพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

กสม. ได้ศึกษาข้อเท็จจริง หลักกฎหมาย พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และเอกสารงานวิจัย ประกอบความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิเด็ก หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับฟังความเห็นจากครูและผู้ปกครองแล้วเห็นว่า การนำเด็กไปทำคอนเทนต์เป็นประเด็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคมไทยและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คอนเทนต์เด็กมีทั้งคอนเทนต์ที่เป็นการแสดงออกซึ่งพฤติกรรม ท่าทาง หรือคำพูดของเด็กที่เน้นความน่ารัก ตลก และไร้เดียงสา คอนเทนต์เกี่ยวกับการสอน การทำกิจกรรมหรือการพัฒนาเด็ก และคอนเทนต์ที่เน้นการบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวัน โดยมีพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครู เป็นผู้ผลิต และเผยแพร่ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของตนเอง ซึ่งข้อมูลบางส่วนอาจมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น เด็กอยู่ในลักษณะเปลือยหรือกึ่งเปลือย เด็กมีอาการร้องไห้ หวาดกลัว วิตกกังวล ใช้วาจาไม่สุภาพ แสดงกิริยาท่าทางหรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว เป็นต้น โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาบางส่วนมักทำคอนเทนต์เด็กในพื้นที่โรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งมีทั้งกรณีที่เด็กหรือผู้ปกครองไม่ได้ให้ความยินยอม หรือให้ความยินยอมแล้ว แต่ไม่ได้อยู่บนฐานของความรู้ความเข้าใจที่รอบด้านและไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เด็กอาจได้รับในอนาคต

กสม. เห็นว่า คอนเทนต์เด็กกลายเป็นช่องทางในการแสวงประโยชน์จากเด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเพื่อการเพิ่มยอดไลก์ ยอดแชร์ และยอดผู้ติดตาม การรับโฆษณาสินค้า ที่ทำให้เด็กถูกนำเสนอเสมือนเป็นสินค้าเพื่อให้ได้รับความสนใจจากสาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้น ในหลายกรณีคอนเทนต์เด็กยังนำไปสู่การแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กออนไลน์ (online child sexual exploitation) กล่าวคือ คอนเทนต์เด็กที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า ชื่อสกุล ข้อมูลส่วนบุคคล ที่อยู่ หรือข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก อาจทำให้เด็กถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ไม่เหมาะสมหรือมีลักษณะลามกอนาจาร ถูกติดตาม และถูกข่มขู่คุกคาม รวมทั้งอาจถูกนำข้อมูลไปใช้โดยพวกใคร่เด็ก นอกจากนี้คอนเทนต์เด็กยังอาจทำให้เด็กถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ จากการได้รับข้อความหรือความคิดเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ที่ทำให้เด็กรู้สึกอับอาย วิตกกังวล หรือหวาดกลัวการเข้าสังคม หรืออาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ จากการที่เด็กถูกเปิดเผยข้อมูลและอัตลักษณ์ส่วนบุคคลได้

การที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครู เป็นผู้ผลิต เผยแพร่ และเผยแพร่ซ้ำคอนเทนต์เด็กบนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยปราศจากการควบคุมและการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจ และขาดความตระหนักรู้ถึงสิทธิเด็กและผลกระทบต่อเด็กอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นสิทธิเด็กในสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA รวมถึงปัญหาร่องรอยดิจิทัลที่สามารถย้อนกลับมาส่งผลเสียให้แก่เด็กในวันที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กอาจไม่ประสงค์ให้มีคอนเทนต์ของตนเองแพร่หลายอยู่บนโลกออนไลน์ จึงนำไปสู่ความเสี่ยงที่เด็กจะถูกละเมิดสิทธิ นอกจากนี้ การที่เด็กถูกนำไปทำคอนเทนต์โดยพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และครู ซึ่งเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับเด็ก ทั้งในด้านความสัมพันธ์ทางสายเลือด ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ บทบาท หรือสถานะทางสังคม ก็อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิเด็กได้โดยง่าย เพราะเด็กอยู่ในสถานะที่ต้องพึ่งพิงและอยู่ในความปกครองดูแลของบุคคลกลุ่มดังกล่าว แม้อาจไม่มีเจตนาหรือวัตถุประสงค์ด้านลบก็ตาม อันไม่สอดคล้องกับหลักการประโยชน์สูงสุดของเด็กที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ กฎหมายภายในประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำเด็กไปทำคอนเทนต์ที่อาจละเมิดสิทธิเด็ก สร้างความเสียหาย หรือส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว โดยมุ่งให้เด็กทุกคนได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนได้รับการประกันว่าไม่ว่าเด็กจะอยู่ในสถานที่ใดจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรง การถูกละเมิดสิทธิ และการแสวงประโยชน์จากเด็กในทุกรูปแบบ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีการนำเด็กไปทำคอนเทนต์เสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้

(1) ให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแนวทางการป้องกันไม่ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษานำเด็กไปทำคอนเทนต์ไว้ในแผนงานหรือนโยบายของกระทรวงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะคอนเทนต์ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ละเมิดสิทธิเด็ก และไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก รวมทั้งจัดให้มีแผนปฏิบัติการ หรือการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

(2) ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หน่วยงานทางการศึกษา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่อยู่ในสังกัดมีนโยบายคุ้มครองเด็ก (child protection policy) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำเด็กไปทำคอนเทนต์ โดยมุ่งเน้นการประกาศเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเด็กของโรงเรียนหรือสถานศึกษา และการจัดทำแผนงาน ระเบียบ คำสั่ง สื่อประชาสัมพันธ์ หรือกลไกที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเด็ก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล และจัดให้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้และรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล การใช้อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีดิจิทัล และสื่อสังคมออนไลน์ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เหมาะสมและมีมาตรฐานเดียวกัน เช่น การจัดทำแนวปฏิบัติในการเผยแพร่คอนเทนต์เกี่ยวกับเด็กของโรงเรียน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก การขออนุญาตและการให้ความยินยอมของเด็กและผู้ปกครอง การรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

นอกจากนี้ ให้เพิ่มเนื้อหาในหลักสูตร รายวิชา หรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน พร้อมทั้งจัดอบรม ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษาเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านสิทธิเด็ก โดยเฉพาะสิทธิเด็กในสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล หรือภัยออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ

(3) ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษา กำชับ ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติตนตามประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และให้คุรุสภากำชับ ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจให้แก่ครูและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติตนตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2556 พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการกำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติของครูและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา การกำหนดบทลงโทษ หรือการเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อมุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำเด็กไปทำคอนเทนต์

(4) ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพิ่มเนื้อหา แผนงาน โครงการ และกิจกรรมในหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาของคณะศึกษาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ และการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ในประเด็นสิทธิเด็ก โดยเฉพาะสิทธิเด็กในสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล

(5)ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดอบรม ประชาสัมพันธ์ ผลิตสื่อ คู่มือ หรือแนวปฏิบัติที่ช่วยสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเด็ก พ่อ แม่ และผู้ปกครอง เกี่ยวกับการนำเด็กไปทำคอนเทนต์ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก ตลอดจนสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน

และ (6) ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประสานความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาศักยภาพการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 รวมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจ ทั้งในด้านการแจ้งเหตุ การร้องเรียน การให้คำปรึกษาแนะนำ การให้ความช่วยเหลือ การประสานส่งต่อ และการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการนำเด็กไปทำคอนเทนต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts