กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.พัฒนพงศ์ ศรีพิณเพรา, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.สำเริง อำพรรณทอง รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายยาแก้ไอปลอมรายใหญ่ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจยึด อายัด ยาสำเร็จรูป เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต และวัตถุดิบจำนวนมาก ซึ่งหากนำไปผลิตเป็นยาสำเร็จรูปได้ทั้งหมด จะมีมูลค่ากว่า 20,000,000 บาท
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีการเฝ้าระวังการใช้กลุ่มยาแก้ไอ ยาแก้แพ้ หรือยาบางชนิดมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำมาผสมกับน้ำกระท่อมดื่มเพื่อสร้างความมึนเมาและเสพติดเป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกกันว่า 4X100 ส่งผลให้เกิดการลักลอบผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยการเสพยาเสพติดชนิดนี้ เป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มวัยรุ่นยกระดับการเสพสารเสพติดในรูปแบบอื่นที่รุนแรงมากขึ้นได้ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนหาข่าวพบว่า มีการลักลอบผลิตยาแก้ไอปลอมและทราบถึงกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตยาแก้ไอปลอมว่ามีการลักลอบผลิต และบรรจุ อยู่ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
โดยในวันที่ 24 เมษายน 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการขายยาแก้ไอปลอม จำนวน 2 จุด ดังนี้
- สถานที่ผลิตและแบ่งบรรจุ ในพื้นที่ ม.2 ต.บ้านหีบ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจยึด ยาแก้ไอปลอม วัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิต ดังนี้ 1) ยาแก้ไอสำเร็จรูปปลอม ยี่ห้อ “ดาทิสซิน” จำนวน 172,000 ขวด 2) ยาแก้ไอที่อยู่ระหว่างผลิตบรรจุลงขวด จำนวน 6,160 ขวด 3) ของเหลวสีน้ำตาลแดง บรรจุในถังสแตนเลส ขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 2 ถัง 4) ของเหลวสีน้ำตาลแดง บรรจุในถังพลาสติกสีขาว ขนาด 18 ลิตร จำนวน 64 ถัง 5) เครื่องจักร/อุปกรณ์การผลิต เช่น
- เครื่องบรรจุ (ฟิลลิ่ง) 8 เครื่อง
- เครื่องตอกปิดฝา 8 เครื่อง
- เครื่องติดฉลาก 3 เครื่อง
- ปั๊มลม 2 เครื่อง
- เครื่องรัดลัง 2 เครื่อง
- ขวดพลาสติก สีชา (ขวดเปล่า) 96,410 ชิ้น
- ลังลูกฟูก คละขนาด 346 แพ็ค
- ไส้ลัง 40 ชิ้น
- สายเคเบิ้ล 10 ม้วน (สายรัดพลาสติกสีดำ)
6) ฉลากผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอม - ฉลากผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอ ยี่ห้อ “ดาทิสซิน ชนิดน้ำเชื่อม” จำนวน 42,500 ดวง (17 ม้วน)
- สถานที่ผลิต(ต้มยาแก้ไอ) ในพื้นที่ ม.4 ต.บ้านหีบ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจยึดวัตถุดิบ ขวดบรรจุภัณฑ์ และอุปกรณ์ในการผลิต ที่ใช้ในการต้มยาแก้ไอ ดังนี้
1) วัตถุดิบในการผลิต
- กลีเซอรีน 36 kg จำนวน 42 แกลลอน
- กลิ่น Raspberry จำนวน 80 แกลลอน
- แบะแซ จำนวน 430 แกลลอน
- น้ำตาลทราย 50 kg จำนวน 190 กระสอบ
- สีผสมอาหาร (สีคาราเมล) จำนวน 30 ถุง 2 เครื่องจักร/อุปกรณ์การผลิตและบรรจุภัณฑ์ เช่น
- หม้อต้มผสม จำนวน 20 หม้อ (ขนาด 250 ลิตร)
- แก๊สหุงต้มขนาด 15 kg จำนวน 16 ถัง
- แก๊สหุงต้มขนาด 48 kg จำนวน 5 ถัง
- หัวเตาแก๊ส จำนวน 20 หัว
- ขวดเปล่า จำนวน 4,460 ขวด
รวมตรวจยึดยาแก้ไอปลอมจำนวนกว่า 172,000 ขวด มูลค่าของกลางทั้งสิ้นประมาณ 20 ล้านบาท จากการสืบสวนพบว่าผู้กระทำความผิด นำส่วนผสม วัตถุดิบ และบรรจุภัณฑ์จากสถานที่ต่าง ๆ มาลักลอบผลิตในโกดังในพื้นที่ ม.4 ต.บ้านหีบ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้นจะนำมาแบ่งบรรจุลงขวด ที่โกดังอีกแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ ม.2 ต.บ้านหีบ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา (ห่างกันประมาณ 500 เมตร) โดยมีแรงงานต่างชาติเป็นคนงาน และจะย้ายสถานที่ผลิตไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ยากแก่การติดตาม ตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังสืบสวนทราบว่ากลุ่มผู้กระทำผิดดังกล่าว เป็นผู้ที่ได้รับการว่าจ้างผลิตยาแก้ไอปลอม ให้กับเครือข่ายผู้กระทำความผิด ในการผลิต และจำหน่ายยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร , จ.นครปฐม และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้เข้าทำการตรวจค้นไปแล้วเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2567 และต้นเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา แต่ยังกระทำผิดซ้ำซากโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค หวังแต่ผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจ สร้างปัญหาให้แก่สังคมส่วนรวม
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
- ฐาน “ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน10,000 บาท
- ฐาน “ผลิต และขายยาปลอม” โทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 50,000 บาท
นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขอย้ำเตือน ผู้ที่ นำยาแก้แพ้ แก้ไอ ไปใช้ผสมในสูตร 4×100 อาจได้รับอันตรายจากยาดังกล่าว ทั้งนี้พบว่ามีการลักลอบผลิต ยาน้ำ แก้แพ้ แก้ไอปลอม เป็นจำนวนมาก และสถานที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน GMP สกปรก ไม่ถูกสุขลักษณะ ยาที่ผลิตมีการปนเปื้อนจนก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ถึงแม้ว่า อย.จะเพิ่มมาตรการควบคุม ป้องกัน การลักลอบนำยาน้ำ แก้แพ้ แก้ไอ ไปใช้ในทางที่ผิด อย่างเข้มงวด ตั้งแต่การนำเข้าสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาไปจนถึงการขายยาสำเร็จรูป โดยผู้ที่จะนำเข้าสารเคมี ผู้ผลิตและขายยา ต้องได้รับอนุญาตจาก อย. และ ต้องจัดทำรายงานการนำเข้าสารเคมี การผลิต และขายยา รายงานต่อ อย.ทุก 4 เดือน ซึ่งกรณีที่พบว่าผู้รับอนุญาตฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมายและมีบทลงโทษพักใช้ใบอนุญาตและสั่งงดผลิตยา สำหรับการเฝ้าระวังการลักลอบผลิตยาปลอมหรือยาไม่มีทะเบียนตำรับยานั้น ทาง อย. ได้ประสานการทำงานร่วมกับ บก.ปคบ. มาโดยตลอด แต่ยังคงพบปัญหาการลักลอบผลิตอยู่ จึงขอให้ประชาชนช่วย
เป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสแหล่งผลิต ขาย เพื่อลดการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด จนเป็นสาเหตุของการเสพติดยา ที่รุนแรงขึ้นตามมา สร้างปัญหาให้กับสังคม เดือดร้อนผู้ปกครองและคนในชุมชน หากผู้ใด พบการลักลอบผลิต นำเข้า ขาย ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th, Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พล.ต.ต.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับ อย. ตรวจสอบ เฝ้าระวังการผลิตและขายกลุ่มยาน้ำแก้ไอ ยาแก้แพ้ ซึ่งเป็นยาอันตรายไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มวัยรุ่นในลักษณะสารเสพติดที่เรียกว่า “4×100” เพื่อหวังผลให้เกิดอาการมึนเมา ซึ่งยาแก้ไอ เป็นยาที่ประชาชนจะใช้รักษาเยียวยาเมื่อป่วยไข้อันดับแรก หากรับประทานยาปลอม ที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีตัวยาเป็นส่วนผสมอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล หรือเกิดการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นจากการบริโภคยาไม่ได้มาตรฐาน จึงควรเลือกซื้อยาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ หรือจากร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเป็นหลักประกันว่ายาที่จะได้รับมีคุณภาพ มาตรฐาน ทั้งนี้ บก.ปคบ.จะดำเนินการกวดขันจับกุมผู้ผลิตและขายยาปลอม รวมถึงกวาดล้างผู้ที่ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถึงที่สุด โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค




