นายจุมพล ขุนอ่อน ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รักษาราชการเเทนรองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกันยายน 2567 ระบุว่า บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ ประเภทที่ 2 ชนิดแร่โดโลไมต์ ในท้องที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี รวมเนื้อที่ 540 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2566 และเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีการประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่และจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ แต่ผู้ร้องเห็นว่าบริษัทเหมืองแร่ดังกล่าว และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี ไม่ให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้านเพียงพอที่ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจะเข้าใจโครงการได้ และไม่สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังพบว่าพื้นที่ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ที่มีความอุดมสมบูรณ์และอยู่ติดกับกลุ่มป่าแก่งกระจานที่ได้รับรองให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพและวิถีชีวิตของประชาชน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า ตามกระบวนการขอประทานบัตร ภายหลังบริษัทเหมืองแร่ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรีมีหน้าที่ปิดประกาศการขอประทานบัตรและจัดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ประกอบระเบียบที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในกรณีที่เป็นการทำเหมืองประเภทที่ 2 จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รวมทั้งหากเป็นกรณีการทำเหมืองในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจะต้องขออนุญาตตามระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขออนุญาตและการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตประทานบัตร
จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี และบริษัทเหมืองแร่ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ขอประทานบัตร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 มีประชาชนจากหมู่บ้านที่อยู่ในระยะห่างจากแนวเขตคำขอประทานบัตรไม่เกิน 500 เมตร เข้าร่วมราว 200 คน แต่ผู้ถูกร้องทั้งสองไม่ให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ ครบถ้วนรอบด้าน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้น จึงมีการคัดค้านไม่เอาเหมืองแร่ ทั้งนี้ ขณะตรวจสอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โดโลไมต์อยู่ระหว่างกระบวนการขอประทานบัตร โดยบริษัทเหมืองแร่ ต้องจัดทำรายงานธรณีวิทยาแหล่งแร่ และแผนผังโครงการทำเหมืองเสนอต่อสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 7 ราชบุรี และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเสนอต่อกรมป่าไม้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
กสม. เห็นว่า แม้การยื่นคำขอประทานบัตรของบริษัทเหมืองแร่จะเป็นกรณีที่สามารถกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้ และการพิจารณาคำขอประทานบัตรของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรีก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 แต่เมื่อพิจารณากระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนที่ยังขาดการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่ที่ครบถ้วนรอบด้านและเพียงพอต่อการแสดงความเห็นของประชาชน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กระบวนการรับฟังความเห็นไม่สอดคล้องกับหลักการรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ในชั้นนี้จึงรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาที่ตั้งโครงการเห็นว่า แม้ว่าพื้นที่ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่กรณีนี้จะอยู่นอกเขตมรดกโลกคือผืนป่าแก่งกระจาน แต่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของผืนป่าแก่งกระจาน และมีระยะห่างระหว่างที่ตั้งโครงการเหมืองแร่กับแนวเขตมรดกโลกเพียง 1.14 กิโลเมตร ถือได้ว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นแนวเขตกันชน (buffer zone) ที่มีระบบนิเวศแบบเดียวกันกับผืนป่าแก่งกระจาน หากอนุญาตให้ดำเนินการทำเหมืองแร่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวมทั้งหมด ทั้งยังพบว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง อาศัยอยู่ในกลุ่มป่าแก่งกระจาน แม้ว่าจะอยู่ห่างจากพื้นที่ขอประทานบัตรประมาณ 40-50 กิโลเมตร แต่ก็อาจได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ดังกล่าว นอกจากนี้พื้นที่ขอประทานบัตรยังมีแหล่งน้ำสำคัญหลายแหล่งที่มีแนวเขตติดต่อกับผืนป่าแก่งกระจาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการนิยามความหมายคำว่า “พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม” ตามมาตรา 17 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดเป็นพื้นที่ที่ห้ามเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง และมิได้ระบุหรือจำกัดความหมายของคำดังกล่าวไว้ในกฎหมายฉบับใด จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติที่ไม่สามารถระบุขอบเขตที่แน่ชัดของพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
(1) ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่นำข้อคัดค้านตามหนังสือคัดค้านโครงการเหมืองแร่ดังกล่าวของผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านหนองมะค่า และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านหนองปืนแตก เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรและการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี ทบทวนการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่โดโลไมต์ในบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 8 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในปัจจุบันและให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากเขตแหล่งแร่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รอยต่อของผืนป่าแก่งกระจาน ประกอบกับเพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่ขอประทานบัตร
(2) ให้สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 7 ราชบุรีสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมป่าไม้ พิจารณาและดำเนินการเกี่ยวกับการขอรายงานธรณีวิทยาแหล่งแร่และแผนผังโครงการทำเหมือง รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในปัจจุบันตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนด ตลอดจนให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาตั้งแต่การรับรู้ข่าวสาร การปรึกษาหารือ การประชุมรับฟังความคิดเห็น และการตัดสินใจร่วมกัน โดยได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดของโครงการล่วงหน้าและเพียงพอต่อการแสดงความคิดเห็นหรือการตัดสินใจ
(3) ให้ประธานกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติกำหนดคำอธิบายนิยามหรือความหมาย “พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม” ตามมาตรา 17 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการพิจารณาคำขอประทานบัตรกรณีตามคำร้องนี้ หรือผู้ยื่นคำขอรายอื่น
(4) ให้บริษัทเหมืองแร่ผู้ถูกร้องดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ด้วยการจัดให้มีการตรวจสอบความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (HRDD) และมีการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดจากการประกอบธุรกิจ รวมทั้งให้มีกลไกรับเรื่องร้องเรียนและมีช่องทางสำหรับสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเพื่อให้สาธารณชนทราบต่อไป ทั้งนี้ ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยการให้ความรู้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เคารพสิทธิมนุษยชน ตามหลักการ UNGPs และ HRDD ด้วย





