วันอาทิตย์, มิถุนายน 22, 2025
หน้าแรกการเมืองเปิด "สูตรดาร์ค"คลังในคดีจำนำข้าว"ยิ่งลักษณ์"บทสะท้อน Abuse of Power ที่แท้ทรู!

Related Posts

เปิด “สูตรดาร์ค”คลังในคดีจำนำข้าว”ยิ่งลักษณ์”บทสะท้อน Abuse of Power ที่แท้ทรู!

ถนนทุกสายกำลังจับตากันอย่างไม่กะพริบ!

กับคดีประวัติศาสตร์”รับจำนำข้าว”ในอดีต ที่ศาลปกครองสูงสุดได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีอดีตนายก”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ยื่นฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่เรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกว่า 35,000 ล้านบาทจากโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 22 พ.ค.2568 นี้

คดีนี้ อดีตนายกฯ”ยิ่งลักษณ์”ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ร้องต่อศาลว่า คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างว่าถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมว่า จงใจปล่อยให้เกิดการทุจริต และไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการจำนำข้าว จนนำไปสู่การเรียกชดใช้ความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท

ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา”เพิกถอน” คำสั่งของกระทรวงการคลังดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2564 รวมถึงยกเลิกคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของ”ยิ่งลักษณ์”และผู้ร่วมฟ้องอีกคนหนึ่ง พร้อมให้เหตุผลว่า ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า “ยิ่งลักษณ์”เป็นผู้สั่งการให้เกิดความเสียหายโดยตรง หรือมีเจตนาทุจริต อีกทั้งกระบวนการชี้ขาดสัดส่วนความรับผิดร้อยละ 20 ของความเสียหายก็ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินข้างต้นไปยังศาลปกครองสูงสุดให้เป็นผู้ชี้ขาดว่า จะยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือ “กลับคำตัดสิน” ท่ามกลางการลุ้นระทึกของหลายๆฝ่าย

เพราะมีความหมายไปถึงอนาคตการเดินทางกลับสู่ “มาตุภูมิ”ของอดีตนายกยิ่งลักษ์ด้วย

หากทุกฝ่ายจะย้อนกลับไปพิจารณา เนื้อหาและที่มาของการไล่เบี้ยคดีจำนำข้าวนี้ จะเห็นได้ว่า ความเสียหายที่กระทรวงการคลัง”ยกเมฆ” ขึ้นมาไล่เบี้ยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในอดีตนั้น มาจากคำสั่ง”บิ๊กตู่” ที่ให้ดำเนินการเอาผิดกรณีจำนำข้าวอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องสน “ความยุติธรรม” โดยมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ตาม ม.44 คุ้มครองการดำเนินการของ “คณะกรรมการฯสอบข้อเท็จจริงความรับผิดของ “นายกยิ่งลักษณ์”

อันเป็นที่มาของ “สูตรดาร์ค”สุดพิสดารของการคำณวนมูลค่าความเสียหายของกระทรวงการคลัง

เพราะปกติการตรวจสอบ “สูตรการคิดความเสียหาย” โครงการรับจำนำข้าวในแต่ละปีการผลิตก็คือ การเอามูลค่าการรับจำนำข้าว หักด้วยความคุ้มค่าและประโยชน์ที่จะได้ต่อเกษตรกรและหักด้วยมูลค่าที่ได้จากการระบายข้าว ผลลัพธ์ก็จะเป็นมูลค่าความเสียหายของโครงการในปีน้ันๆ

ต่อมากระทรวงการคลังมีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ให้ “ยิ่งลักษณ์”รับผิดชอบค่าเสียหายเฉพาะปีการผลิต 2555/56 และ 2556/57 ส่วนปีการผลิต 2554/2555 และปี 2555 ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากเพิ่งรับตำแหน่ง จึงยังไม่ได้มีพฤติการณ์ประมาทอย่างร้ายแรงที่จะต้องรับผิดตาม พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539

ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษา”เพิกถอน”คำสั่งชดใช้ค่าเสียหายและยกเลิกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของ”ยิ่งลักษณ์”ออกขายทอดตลาด เมื่อต้นปี 2564

อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด ได้ให้ข้อคิดต่อรูปคดีนี้ว่า หาก “ตุลาการศาลปกครองสูงสุด” จะ “พลิกคำชี้ขาด”ด้วยการนำคดีอาญาที่อดีตนายกฯ”ยิ่งลักษณ์” ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อม 211/2560 ว่า “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ปล่อยให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์กับพวกทุจริตในการระบายข้าวในปีการผลิต 2554/2555 และ 2555 มาเป็นฐานในการคิดค่าเสียหาย

“ปัญหา”จึงเกิดตามมาว่า ในปีการผลิต 2555/56 และ 2556/57 นั้นมิได้มีการระบายข้าว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีดังกล่าวได้พิพากษาโดยมีข้อเท็จจริงว่า ในภาพรวมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ “ไม่มีความผิด” แต่มีความผิดเฉพาะส่วนของการปล่อยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว ซึ่งในทางคดีปกครองอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ได้ฟ้องเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังเฉพาะที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายในปีการผลิต 2555/56 และ2556/57 ที่มีคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น”(จึงเกิดแนวคิดหรือกระแสในการที่จะไล่เบี้ยเอาผิดกับการระบายข้าวในปีการผลิต 2554/55 และ2555 ที่ปรากฎในคำพิพากษาส่วนอาญา แต่ไม่ปรากฏในคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย ของกระทรวงการคลัง)

ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมเกิดปัญหาว่า คำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าว ไม่มีการกล่าวหา หรือปรากฎค่าเสียหายในส่วนของการระบายข้าว และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาว่า ในภาพรวมของโครงการ”ยิ่งลักษณ์”ไม่มีความผิดไปแล้ว

แต่หากศาลปกครองสูงสุดจะนำเอาคำพิพากษาในคดีอาญามาเป็นฐานกำหนดค่าเสียหาย ก็อาจขัดหลักการของกฎหมายที่ว่าศาลจะไม่พิพากษา”เกินคำขอ”ในคดีนี้ที่มีประเด็นพิจารณาค่าเสียหายเฉพาะปีการผลิต 2555/56 และ 2556/57 ที่ไม่มีส่วนของการระบายข้าว และเป็นปัญหาว่าจะเป็นการที่ศาลไป “ก้าวล่วง”ไปใช้อำนาจทางปกครองแทนหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งๆที่กระทรวงการคลังหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ มิได้ออกคำสั่งให้ชดใช้ในส่วนนี้ไว้หรือไม่…..

“โดยหลักนิติธรรมหรือหลักฎหมายมหาชนวางหลักว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐจะใช้อำนาจได้เฉพาะที่กฏหมายบัญญัติให้อำนาจไว้เท่านั้น (หาไม่แล้ว ย่อมถูกตราหน้าว่าเป็นการใช้ำนาจในลักษณะเรียกว่า Abuse of Power )

คดีนี้ไม่เพียงแต่ประชาชนให้ความสนใจเท่าน้ัน แต่ยังเป็นคดีที่นักกฎหมายทั่วโลกต่างจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ระหว่าง “กระแสสังคมกับ หลักกฏหมาย”สิ่งไหนจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน

ปูเสื่อลุ้นกันอย่ากระพริบตา!!!!

สืบจากข่าว รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts