“ทรู”มาตามนัดร่อนหนังสือค้าน”นพ.ประวิทย์”ร่วมถกปมถูกร้อง ด้านสภาผู้บริโภคิกโรงหนุน”พิรงรอง-หมอลี่”ทำหน้าที่ต่อให้ถึงที่สุุด ชี้หากตัวแทนผู้บริโภคถูกกีดกันการทำหน่าที่กระทบประโยชน์สาธารณะเปิดทางกลุ่มทุนชุบมือเปิบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของกสทช. ซึ่งมี ศ.พิเศษจรัล ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานได้ประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาการทำหน้าของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ว่าจะสามารถเข้าร่วมพิจารณาวาระที่เกี่ยวกับบริษัทในเครือทรูคอร์ปอเรชั่นได้หรือไม่ หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก กสทช.พิรงรอง 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ในข้อหาประพฤติมิชอบตามที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดผู้ให้บริการกล่อง”ทรูไอดี” ยื่นฟ้องกล่าวหาว่ากสทช.พิรงรองกลั่นแกล้งให้บริษัทได้รับความเสียหาย จากการสั่งการให้สำนักงาน กสทช. ส่งหนังสือถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ 127 รายให้ปฏิบัติตามกฏเหล็ก “มัสต์แครี่”อย่างเข้มงวด และระบุถึงบริการของทรูไอดีว่ายังไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช.
ทั้งนี้ในการประชุมบอร์ดกสทช.ช่วงที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีวาระเกี่ยวกับบริษัทในเครือทรูให้ที่ประชุมพิจารณา ศ.คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.มักจะทักท้วงว่ากสทช.พิรงรองไม่ควรร่วมประชุมและพิจารณาเพราะเป็นคู่กรณี แม้บริษัททรูฯจะไม่ได้ทำหนังสือคัดค้านมาโดยตรงก็ตาม ที่ประชุม กสทช.จึงมีมติให้นำประเด็นดังกล่าวหารือในคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของกสทช.อีกครั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจน
แม้ว่าก่อนหน้านี้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฏหมายจะเห็นพ้องว่า บริษัททรูจะคัดค้านการทำหน้าที่ของกสทช.พิรงรองได้ ต้องร้องคัดค้านเป็นรายกรณีไป และเห็นว่าบริษัทที่จะร้องคัดค้านได้ต้องเป็นคู่กรณี คือบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ปโดยตรงเท่านั้น บริษัทในเครือทรูคอร์ปอื่นๆ อย่างทรูมูฟ เอช และทรู คอร์ปอเรชั่นไม่ถือเป็นคู่กรณี เพราะเป็นคนละนิติบุคคล แต่กสทช.เสียงข้างน้อยเห็นว่า จำเป็นต้องมีการวินิจฉัยตามพรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กล่าวคือ การจะพิจารณาว่ากสทช. พิรงรอง มีความไม่เป็นกลางอย่างร้ายแรงหรือไม่ ต้องให้กสทช.พิรงรองชี้แจงตนเอง และออกจากห้องประชุม และให้กรรมการที่เหลือลงมติลับหากมีเสียง 2 ใน 3 เห็นว่าไม่มีสภาพดังกล่าว จึงจะสามารถกลับเข้ามาทำหน้าที่ต่อได้ แต่หากเสียงไม่ถึงก็ไม่สามารถเข้าร่วมพิจารณาลงมติได้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา บริษัททรูได้ยื่นหนังสือถึงประธานอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของกสทช. เพื่อคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกสทช.และเป็น 1 ในอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสมช.ด้วย โดยระบุว่ามีพฤติกรรมไม่เป็นกลาง โดยเฉพาะการแสดงจุดยืนคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่าง “ทรู – ดีแทค” ก่อนหน้านี้ แต่ที่ประชุมอนุกรรมการที่ปรึกษากฏหมายเห็นว่าการจะคัดค้านการทำหน้าที่ของอนุกก.ที่ปรึกษาด้านกฏหมายนั้น ผู้ที่ร้องคัดค้านต้องเป็นคู่กรณีโดยตรงเท่านั้น และเห็นว่า คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของกสทช.ทำหน้าที่เพียงกลั่นกรองและให้คำปรึกษาทางกฎหมาย เท่านั้น ไม่ได้ใช้อำนาจทางปกครองใดๆ จึงไม่วรจะมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่
สภาผู้บริโภคออกโรงปกป้อง”พิรงรอง-หมอลี่”
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่าสภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกสทช.และนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการกสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฏหมายของกสทช.โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาเสียงของผู้บริโภคในการประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของกสทช. และเห็นว่า การคัดค้าน นพ.ประวิทย์ไม่มีน้ำหนัก เนื่องจากการควบรวมทรู–ดีแทคเกิดขึ้นแล้วในปี 2565 และทรู คอร์ปอเรชั่นได้รับผลกำไรอย่างมาก ในขณะที่ผู้บริโภคกลับต้องเผชิญกับราคาและบริการที่ด้อยทางเลือก
สภาผู้บริโภค ยังแสดงความกังวลต่อแนวโน้มที่ กสทช. อาจลดเงื่อนไขมาตรการพิเศษที่เคยกำหนดไว้ภายหลังการควบรวม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภค หากไม่มีเสียงที่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะในการประชุม ทั้งนี้การกีดกัน นพ.ประวิทย์ จากที่ประชุมเป็นการลดทอนเสียงด้านคุ้มครองผู้บริโภค
ขณะเดียวกันการกีดกัน กสทช. พิรงรองเท่ากับตัดขาดเสียงในกระบวนการพิจารณาวาระสำคัญ พร้อมระบุว่า ทั้งสองบุคคลมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และการทำหน้าที่ของทั้งสองเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 60