เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณะนักการทูตจากสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เดินทางเยือนนิคมอุตสาหกรรม WHA เพื่อพบปะกับผู้บริหารหลักของกลุ่ม WHA และจัดการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับตัวแทนบริษัททุนจีน ภายในนิคมฯWHA
ตัวแทนภาคธุรกิจจีน ได้รายงานสถานการณ์การผลิต และการดำเนินงานของแต่ละบริษัท ระหว่างการประชุม สรุปได้ดังนี้
(1) ธุรกิจจีนมีการจ้างงานพนักงานชาวไทยสูงถึงกว่า 90% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยล้วนให้ความสำคัญกับสวัสดิการ และผลประโยชน์ของพนักงาน อีกทั้งมีการฝึกอบรมทักษะให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง จนมีพนักงานชาวไทยจำนวนไม่น้อย สามารถพัฒนาขึ้นมา มีตำแหน่งบริหารขององค์กร
(2) ธุรกิจจีนพยายามขยายความร่วมมือ ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมกับบริษัทไทย โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานใหม่หนึ่งแห่ง ได้สร้างความร่วมมือด้านจัดซื้อ กับบริษัทไทยกว่า 35 บริษัท มีชิ้นส่วนถึง 415 รายการที่ป้อนเข้า โดยบริษัทพันธมิตรในประเทศไทย
(3) ธุรกิจจีนมีการชำระภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยบริษัทผลิตยางรถยนต์หนึ่งแห่ง แม้ยังอยู่ในช่วงได้รับสิทธิประโยชน์การลดหรือยกเว้นภาษี แต่ในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา บริษัทดังกล่าว ได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ถึง 620 ล้านบาท
(4) ธุรกิจจีนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยบริษัทต่าง ๆ ที่มาตั้งสายการผลิตในไทย ต่างนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยระดับโลกมาใช้ โดยเฉพาะสองบริษัทที่ผลิต “โมเลกุลซีฟ” และ “เซลล์แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งช่วยเติมเต็มช่องว่าง ในอุตสาหกรรมของไทย ในด้านนี้
(5) ธุรกิจจีนช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขัน ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย โดยบริษัทที่เข้าร่วมการประชุมส่วนใหญ่ ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก มีตลาดหลักอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และยุโรป และมีแนวโน้มเพิ่มความหลากหลายยิ่งขึ้น
(6) ธุรกิจจีนยึดมั่นในแนวคิด “อยู่ในไทย ทำเพื่อไทย” ปฏิบัติหน้าที่ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม อย่างแข็งขัน ทั้งนี้ ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน ด้วยความกระตือรือร้น และบริจาคสิ่งของให้แก่โรงเรียน โรงพยาบาล และบริจาคเงินและสิ่งของ ให้แก่พื้นที่ประสบภัย เป็นต้น
ด้านผู้บริหารกลุ่ม WHA ได้กล่าวชื่นชมบริษัทจีน ที่มาลงทุนในประเทศไทย โดยระบุว่า ปัจจุบัน มีบริษัทจีนกว่า 326 แห่ง เข้ามาตั้งฐานธุรกิจภายในนิคมฯ WHA บริษัทจีนเหล่านี้ ดำเนินธุรกิจโดยเคารพกฎระเบียบของไทยอย่างเคร่งครัด ไม่เพียงแต่นำเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยมาสู่ประเทศไทย พวกเขายังให้รายได้และสวัสดิการ แก่พนักงานชาวไทยอย่างงดงาม พร้อมกล่าวเชิญชวน ให้บริษัทจีนจำนวนมากขึ้น เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ภายหลังจากรับฟังรายงานของภาคธุรกิจ เอกอัครราชทูตหาน จื้อเฉียง กล่าวว่า แม้สภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน จะเผชิญกับความท้าทาย จากการใช้นโยบายภาษีของสหรัฐอย่างไม่มีเหตุผล แต่การพัฒนาและความร่วมมือ ยังคงเป็นความต้องการร่วมกันของประชาคมโลก และการใช้วิธีการกดขี่แบบฝ่ายเดียว ย่อมไม่ใช่ทางออกในระยะยาว การลงทุนและความร่วมมือ เป็นเสาหลักสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างจีน-ไทย การที่ธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้น สอดคล้องกับเป้าหมายการขยายธุรกิจ สู่ระดับสากลของบริษัทจีน และเป็นการสนองต่อความต้องการ ด้านการพัฒนาของประเทศไทย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และประชาชนในพื้นที่ สะท้อนถึงมิตรภาพและความร่วมมืออันดี ระหว่างสองประเทศอย่างแท้จริง เศรษฐกิจของจีนและไทย มีโครงสร้างที่เกื้อกูลกันอย่างมาก ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างสองประเทศ ยังมีศักยภาพและเติบโตได้อีกมาก บริษัทจีนในประเทศไทย ควรยึดมั่นในหลักการ “ความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน” พัฒนาความสามารถ และศักยภาพ ในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ต้องเสริมสร้างความมั่นใจ และฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อมุ่งสู่ผลประกอบการที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งมีส่วนร่วม ในการสานต่อมิตรภาพที่เรียกว่า “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” และเป็นส่วนหนึ่ง ของการร่วมสร้างประชาคม ที่มีอนาคตร่วมกัน ระหว่างจีน-ไทยต่อไป

