
(กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 22/2568) กสม. ชี้โครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากเสียงดังรบกวน แนะรับฟังความเห็นรอบด้าน – ประธาน กสม. นำเสนอรายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีฯ ของประเทศไทย แนะปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อผู้หญิงในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ
วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นางสาวหรรษา หอมหวล เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 22/2568 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
กสม. ชี้โครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากเสียงดังรบกวน แนะรับฟังความเห็นเพิ่มเติมอย่างรอบด้าน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนในตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ระบุว่า กองทัพเรือ (ผู้ถูกร้องที่ 1) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ผู้ถูกร้องที่ 2) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อสำรวจและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน (EHIA) โดยรอบสนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ตามโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 4 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งไม่มีความชัดเจนในการนำเสนอข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะในการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 เห็นว่า จำนวนครัวเรือนที่ถูกกระทบจากเส้นเสียง NEF (Noise Expose Forecast) ซึ่งเป็นค่าประมาณการได้รับเสียงของชุมชนเมื่อมีกิจกรรมของท่าอากาศยาน ที่ระดับมากกว่า 40 หรืออยู่ระหว่าง 70 – 75 เดซิเบลเอ ให้เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูง ถูกปรับลดลงจากประมาณ 500 หลังคาเรือน เหลือเพียง 80 หลังคาเรือน แม้จะมีการประชุมชี้แจงเพิ่มเติมในการประชุมครั้งที่ 4 แต่ก็เป็นไปอย่างเร่งรีบและใช้ระบบออนไลน์ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการประชุมดังกล่าวได้ ผู้ร้องเห็นว่า ผู้ถูกร้องทั้งสองไม่ได้คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและหลักวิชาการ ทำให้ประชาชนในพื้นที่กังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการชดเชยเยียวยา จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รับรองให้บุคคลและชุมชนมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกำหนดหน้าที่ของรัฐว่าในการดำเนินการของรัฐหรือที่รัฐอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียของประชาชนหรือชุมชน รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย ประกอบกับพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ อันสอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ประเด็นจำนวนครัวเรือนที่ถูกกระทบจากเส้นเสียงของโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. ได้พิจารณารายงาน EHIA 3 ครั้ง เพื่อสอบถามถึงกรณีที่แผนที่แนวเส้นเสียงเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละครั้งของการประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยพบว่ามีการลดจำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบลงจาก 480 ครัวเรือนในการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เหลือเพียง 80 ครัวเรือน และ 93 ครัวเรือนตามลำดับในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 และ 4 ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาโครงการชี้แจงว่าเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการดำเนินงานของสนามบิน จากการใช้ทางวิ่งแบบ Segregated Mode หรือการแยกการใช้ทางวิ่งสำหรับการขึ้นและลงของอากาศยานในการประเมินครั้งแรก เป็นการใช้ทางวิ่งแบบ Mix Mode หรือการใช้ทางวิ่งร่วมกันสำหรับการขึ้นและลงของอากาศยาน ทำให้สัดส่วนการขึ้นและลงของเครื่องบินเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางเสียงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้จำนวนผู้ได้รับผลกระทบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ต่อมา ปรากฏว่า ผู้ร้องกับพวกรวม 41 คน ได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางในคดีพิพาทเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบจากแนวเส้นระดับเสียง NEF ตามคดีหมายเลขดำที่ ส.12/2565 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับคำร้องนี้แล้ว จึงเป็นกรณีตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่องหากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล
อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า โครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา ของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการดำเนินโครงการของหน่วยงานของรัฐที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย วิถีชีวิต หรือประชาชนและชุมชนที่มีส่วนได้เสีย แม้โครงการได้จัดให้มีกระบวนการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว แต่เนื่องจากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 4 ครั้งยังขาดความชัดเจนในการนำเสนอข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และการรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะการประชุมชี้แจงข้อมูล ครั้งที่ 4 เป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ทำให้มีประชาชนบางส่วนไม่ได้เข้าร่วมประชุม ประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจึงไม่ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการอย่างรอบด้าน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังกองทัพเรือ (ผู้ถูกร้องที่ 1) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ผู้ถูกร้องที่ 2) ให้ประชาสัมพันธ์และชี้แจงข้อมูลรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภาในระยะต่าง ๆ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ หรือลงพื้นที่รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นต่อโครงการ เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง ก่อนดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภา โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบเรื่องเสียงและผลกระทบต่อสุขภาพ และให้นำความคิดเห็นไปประกอบการพิจารณา หรือกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่ชัดเจน โดยติดตามและประเมินผลแผนการดำเนินงานโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 ที่กำหนดไว้ในรายงานความก้าวหน้าทุก 3 เดือน และให้รายงานความก้าวหน้าหรือจัดกิจกรรมชี้แจงเพิ่มเติมให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งให้กำกับดูแลให้ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 เร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเสียงดังรบกวนจากการขึ้นลงของเครื่องบิน และการปล่อยมลพิษจากเครื่องบินจากการใช้ทางวิ่งที่ 1 ประสานกรมควบคุมมลพิษตรวจวัดระดับเสียงอากาศยานในบริเวณพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภา ในทางวิ่งที่ 1 เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาติดตามและประเมินผล และให้ใช้ผลตรวจวัดดังกล่าวไปทบทวนและปรับปรุงเส้นทางการบินขึ้น – ลง จากเครื่องบินจากการใช้ทางวิ่งที่ 1 โดยหลีกเลี่ยงหรือบินผ่านพื้นที่ชุมชนตำบลสำนักท้อนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้







