
นางสาวหรรษา หอมหวล เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 – 19 มิถุนายน 2568 นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าร่วมการประชุมของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW ครั้งที่ 91 ในโอกาสที่คณะกรรมการ CEDAW จะพิจารณารายงานผลการดำเนินงานตามอนุสัญญา CEDAW ฉบับที่ 8 ของประเทศไทย ที่สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
คณะผู้แทน กสม. เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการ CEDAW เพื่อนำเสนอประเด็นสำคัญในรายงานคู่ขนานของ กสม. เกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ของไทย โดยประธาน กสม. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของไทยที่เป็นความก้าวหน้าในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เช่น การแก้ไขกฎหมายสมรสเท่าเทียม และการปรับแก้อายุขั้นต่ำในการสมรสให้สอดคล้องกับพันธกรณีและมาตรฐานระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันได้กล่าวถึงประเด็นที่ยังเป็นข้อท้าทายสำคัญ รวมทั้งข้อเสนอแนะของ กสม. ในประเด็นดังกล่าว อาทิ การแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การแก้ไขกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามทางเพศให้ครอบคลุมความผิดรูปแบบใหม่ ๆ การส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิง การยกเลิกกฎหมายการค้าประเวณี การเข้าถึงสิทธิในสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบการบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตลอดจนการคุ้มครองผู้หญิงในบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง
นอกจากนี้ คณะผู้แทน กสม. ได้เข้าร่วมการพิจารณารายงานผลการดำเนินการของประเทศไทยตามอนุสัญญา CEDAW ฉบับที่ 8 ซึ่งเปิดโอกาสให้ กสม. ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาของประเทศไทย โดยประธาน กสม. ได้กล่าวถ้อยแถลงซึ่งมีใจความสำคัญว่า แม้ประเทศไทยจะมีพัฒนาการเพื่อส่งเสริมสิทธิสตรีในหลายด้าน แต่ผู้หญิง เด็กหญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มต่าง ๆ ยังคงต้องเผชิญปัญหาและความท้าทายในการเข้าถึงและใช้สิทธิได้จริงหลายประการ กสม. จึงมีข้อเสนอแนะต่อการส่งเสริมการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม (2) การส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการตัดสินใจในระดับต่าง ๆ รวมถึงในระดับชาติ และ (3) การเสริมพลังผู้หญิงให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสามารถของตนเองในทุกมิติ ทั้งนี้ ในการพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ของประเทศไทย คณะกรรมการได้สอบถามการดำเนินการของรัฐบาลไทยในหลายประเด็น รวมถึงประเด็นที่ กสม. นำเสนอในรายงานคู่ขนาน ซึ่งคณะผู้แทนไทยได้ชี้แจงเพิ่มเติมและตอบข้อซักถามในประเด็นต่าง ๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการ CEDAW จะได้สรุปผลการพิจารณารายงานของประเทศไทยและมีข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ ต่อรัฐบาลไทยต่อไป
อนึ่ง ในระหว่างการปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการ CEDAW ครั้งนี้ คณะผู้แทน กสม. ยังได้พบหารือกับผู้แทนขององค์การระหว่างประเทศอื่นอีก 3 แห่ง เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางขยายความร่วมมือด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้แก่ (1) การพบกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM (International Organization for Migration) เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้โยกย้ายถิ่นฐานและปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งในระดับระหว่างประเทศและในบริบทของประเทศไทย (2) การพบกับหัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาของ UN Women เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของ UN Women รวมถึงแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงตามอนุสัญญา CEDAW ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่งเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของปฏิญญาซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมระดับโลกว่าด้วยสตรีครั้งที่ 4 เมื่อปี 2538 ที่กรุงปักกิ่ง และ (3) การพบกับผู้อำนวยการฝ่ายมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวทางการคุ้มครองสิทธิแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ
การเข้าร่วมประชุมของ กสม. ครั้งนี้เป็นการส่งเสริมความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเพื่อให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าและมีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญา CEDAW มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและองค์กรภาคประชาสังคมต่างประเทศที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ กสม. จะติดตามการดำเนินการของประเทศไทยตามอนุสัญญา CEDAW โดยเฉพาะประเด็นที่ กสม. และคณะกรรมการ CEDAW ยังมีข้อห่วงกังวลเพื่อให้ผู้หญิงได้รับสิทธิที่เท่าเทียมอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาต่อไป







