“…วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 19/2565
โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้…”
1. กสม. ชี้กรมชลประทานละเมิดสิทธิ์ประชาชนที่ร้อยเอ็ด สร้างคลองชลประทานผ่านกว่า 40 ปี แต่ยังไม่จ่ายค่าทดแทนที่ดิน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับคำร้องจากประชาชนผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2564 ระบุว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินแปลงหนึ่งเนื้อที่ประมาณ 3 งาน 78 ตารางวา ในตำบลสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเมื่อปี 2524 โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ผู้ถูกร้องที่ 1
ได้ดำเนินการสร้างคลองชลประทานผ่านที่ดินของผู้ร้องเพื่อทำเป็นคลองระบายน้ำเพื่อเกษตรกรรม ขณะนั้นบิดาและมารดาของผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ต่อมาเมื่อปี 2563 ผู้ร้องได้มีหนังสือถึงสำนักงานชลประทานที่ 6 ผู้ถูกร้องที่ 2 เพื่อขอรับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 1,000 บาท และขอให้ผู้ถูกร้องทั้งสองพิจารณาจ่ายเงินชดเชยกรณีขาดประโยชน์จากการไม่ได้ทำนาเพิ่มเติมโดยคำนวณเป็นค่าเช่าปีละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 40 ปี เนื่องจากเสียประโยชน์จากการไม่ได้ทำนาในพื้นที่ที่ถูกเขตคลองชลประทานพาดผ่าน จากนั้นเมื่อปี 2564 ผู้ร้องได้ทวงถามค่าทดแทนที่ดินและเงินชดเชยกรณีขาดประโยชน์ โดยมีหนังสือถึงผู้ถูกร้องที่ 2 ต่อมาผู้ถูกร้องที่ 2 แจ้งผลการพิจารณาการขอค่าชดเชยทดแทนที่ดินซึ่งผู้ร้องจะได้รับค่าทดแทนที่ดินตามราคาประเมินที่คณะกรรมการกำหนดในราคาไร่ละ 400,000 บาท ส่วนการร้องขอรับเงินชดเชยค่าเสียประโยชน์จากการไม่ได้ทำนา คณะกรรมการไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ร้องได้ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย บทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาสองประเด็น
ได้แก่ ประเด็นแรก การดำเนินการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทานไม่เป็นธรรมกับผู้ร้องหรือไม่ จากการตรวจสอบปรากฏว่า การสร้างคลองชลประทานตามภารกิจและหน้าที่ของกรมชลประทานมีการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทานตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหลักเกณฑ์ตามหนังสือคณะรัฐมนตรีที่กำหนดแล้ว โดยกรณีตามคำร้องนี้ ผู้ร้องยอมรับราคาค่าทดแทนที่ดินตามที่คณะกรรมการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทานกำหนด และต่อมาไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชยค่าเสียประโยชน์จากการไม่ได้ทำนา ในชั้นนี้ จึงยังไม่ปรากฏว่าผู้ถูกร้องทั้งสองได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ร้อง
ประเด็นที่สอง พิจารณาว่าการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทานให้แก่ผู้ร้องล่าช้าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ จากการตรวจสอบปรากฏว่า ผู้ถูกร้องได้นำที่ดินของผู้ร้องไปดำเนินการสร้างคลองชลประทานตั้งแต่ปี 2524 และก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2530 ซึ่งหากนับถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี แต่ผู้ร้องยังเป็นประชาชนเจ้าของที่ดินเพียงรายเดียวที่ไม่ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจากหน่วยงานผู้ถูกร้องทั้งสอง แม้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า สาเหตุที่ผู้ถูกร้องยังไม่จ่ายค่าทดแทนทรัพย์สินให้ ส่วนหนึ่งมาจากการโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาท อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า เมื่อหน่วยงานผู้ถูกร้องรวมตลอดถึงกรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบโครงการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว ย่อมต้องมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยเร็วเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้อง การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ร้องเพื่อการชลประทานตั้งแต่ปี 2524 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่จ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าของที่ดินที่นั้น จึงเป็นการดำเนินการที่ล่าช้า ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของผู้ร้องเกินสมควรแก่กรณี ถือเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีตามคำร้อง โดยให้กรมชลประทานร่วมกับผู้ถูกร้อง คือ โครงการชลประทานร้อยเอ็ด สำนักงานชลประทานที่ 6 เร่งรัดการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดิน รวมถึงค่าเสียประโยชน์อื่น ๆ ในที่ดินเพื่อการชลประทานให้แก่ผู้ร้อง พร้อมทั้งต้องยืนยันกำหนดระยะเวลาการจ่ายเงินที่แน่ชัดและแจ้งความคืบหน้าให้ผู้ร้องทราบเป็นระยะด้วย ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
นอกจากนี้ กสม. ยังมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาพรวมไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทาน ดังนี้
1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรพิจารณาทบทวนคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 2027/2562 ลงวันที่ 19 กันยายน 2562 เรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทาน โดยพิจารณาให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณากรณีปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พิจารณาค่าชดเชยค่าเสียประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือจากค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทานโดยพิจารณาปัญหาเรื่องร้องเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือกรณีอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทาน รวมถึงพิจารณาคำอุทธรณ์ของบุคคลที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ด้วย เนื่องจากกรณีปัญหาตามคำร้องคณะกรรมการฯ แจ้งว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาค่าชดเชยค่าเสียประโยชน์ตามข้อเรียกร้องของผู้ร้อง
2) กรมชลประทานควรจัดให้มีหนังสือประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทานเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย