“…วันที่ 30 มิถุนายน 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 24/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้…”
[inline_related_posts title=”คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้” title_align=”left” style=”list” number=”4″ align=”none” ids=”” by=”categories” orderby=”rand” order=”DESC” hide_thumb=”no” thumb_right=”no” views=”no” date=”yes” grid_columns=”2″ post_type=”” tax=””]
- กสม. ชี้เจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชนละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีจับกุมคดีค้าประเวณี การนำผู้ต้องหามาแถลง และทำแผนประกอบคำรับสารภาพ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนในปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงปี 2565 รวม 9 คำร้อง จากประชาชนผู้พบเห็นข่าวออนไลน์กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ จับกุมหรือควบคุมตัวผู้ต้องหา โดยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือผู้ตกเป็นข่าว เช่น ในการทำแผนประกอบคำรับสารภาพหรือจัดแถลงข่าว มีการให้สื่อมวลชนนำข่าวไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยไม่เบลอภาพ ไม่ปกปิดชื่อสกุล ไม่ปกปิดอัตลักษณ์ของผู้ต้องหา หรือปรากฏภาพผู้ต้องหาในขณะถูกใส่เครื่องพันธนาการ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจละเลยให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายภาพในสถานที่จับกุม ซึ่งผู้ถูกจับกุมเป็นเด็กหญิง ผู้หญิง หรือบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งบางรายขณะถูกจับกุมมีการแต่งกายในสภาพที่ไม่เหมาะสม ทั้งในข่าวยังมีการใช้ถ้อยคำในลักษณะเหมารวมที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงขอให้ตรวจสอบ นั้น
กสม. เห็นว่า กรณีตามเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเป็นประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งแยกประเด็นพิจารณาได้ดังนี้
(1) การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐในระหว่างการตรวจค้น การจับกุม การควบคุมตัวและการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ พิจารณาแล้วเห็นว่า ในส่วนของการจัดให้มีการเสนอข่าวเกี่ยวกับปฏิบัติการตรวจค้นและจับกุมตามคำร้อง แม้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้นำหรืออนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม และล่อซื้อประเวณี แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทั้งการแถลงข่าวการจับกุมโดยหน่วยงานของรัฐและการนำเสนอข่าวออนไลน์โดยสื่อมวลชน มีการเผยแพร่ภาพบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวโดยมีลักษณะเป็นภาพเปลือยกายท่อนบน หรือภาพที่ไม่เหมาะสม แม้จะมีการปกปิดด้วยการเบลอภาพหรือวิธีอื่นใด แต่การกระทำเช่นนั้นย่อมไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน อีกทั้งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการจับกุมและควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชน ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องกระทำโดยละมุนละม่อม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไม่เป็นการประจานเด็กหรือเยาวชนด้วย การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐควรคำนึงถึงความละเอียดอ่อนในมิติทางเพศ (Gender Sensitivity) โดยในการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัวบุคคลที่เป็นหญิงหรือเด็กหญิงควรกระทำโดยเจ้าหน้าที่หญิงมิใช่เจ้าหน้าที่ชาย ซึ่งหน่วยงานของรัฐควรจัดกำลังเจ้าหน้าที่โดยคำนึงสัดส่วนหญิงชายด้วย
สำหรับกรณีที่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายกรณีเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ คำสั่ง หรือแนวปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เช่น การไม่กำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่ โดยวางแนวกั้นตำรวจ/แถบกันที่เกิดเหตุ (POLICE LINE) เพื่อป้องกันมิให้สื่อมวลชนและประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว การไม่ห้ามสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าทำข่าวขณะเมื่อมีการให้ผู้ต้องหานำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ การนำผู้ต้องหาไปขอขมาต่อญาติของผู้เสียชีวิตซึ่งขัดต่อคำสั่งของ สตช. การจัดเตรียมเอกสารประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยปรากฏทั้งชื่อและสกุล หรือข้อมูลอื่นใดที่ทำให้ล่วงรู้ตัวตนของผู้ต้องหาหรือคนในครอบครัว และการละเลยให้มีการถ่ายภาพข่าวในขณะผู้ต้องหาอยู่ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายในสถานีตำรวจ หรือการถ่ายภาพของผู้เสียหายในขณะยืนชี้ตัวผู้ต้องหา เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องหรือเป็นไปตามหลักปฏิบัติที่กำหนดไว้ รวมทั้งหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลในคดีอาญาที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จึงเป็นการกระทำที่เกินสัดส่วนกับเหตุผลความจำเป็น อาจทำให้บุคคลได้รับความเสียหาย และกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศชื่อเสียง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
(2) การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับผู้ต้องหา ผู้เสียหาย กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือผู้เกี่ยวข้อง พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีการนำเสนอภาพของผู้เสียหายโดยไม่ได้เบลอภาพ และไม่ได้ดำเนินการแจ้งขออนุญาตเพื่อทำการบันทึกภาพของผู้เสียหายก่อนนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ ทั้งยังปรากฏว่า สื่อบางแห่งไม่ปกปิดชื่อสกุลของญาติผู้เสียชีวิต ทั้งยังมีการเสนอภาพของเด็กผู้เสียหายซึ่งแม้จะมีการเบลอภาพแล้ว แต่อาจส่งผลให้เด็กรู้สึกว่าเป็นผู้กระทำผิดจนนำไปสู่การตีตราตนเองในที่สุด เช่นเดียวกับการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับผู้ต้องหา ที่มีการนำเสนอข่าวโดยไม่เบลอภาพและแจ้งชื่อสกุลของผู้ต้องหา การนำเสนอภาพเครื่องพันธนาการและใบหน้าของผู้ต้องหา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนขาดความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้ต้องหา นอกจากนี้ ยังมีหลายกรณีที่สื่อมวลชนใช้ถ้อยคำที่กระทบต่ออัตลักษณ์และทำให้เกิดอคติทางลบต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย
การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนเช่นนี้ จึงถือเป็นการใช้เสรีภาพในการเสนอข่าวสารที่เกินสัดส่วนกับเหตุผลความจำเป็นไม่สอดคล้องกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด อันส่งผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศชื่อเสียง และขัดต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อ ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน
เพื่อให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(1) ข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
(1.1) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้เป็นไปตามหลักและแนวปฏิบัติ เช่น กำชับการปฏิบัติงานให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เกี่ยวข้องในคดี ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหา ผู้เสียหาย ผู้เสียชีวิต พยาน โดยเคร่งครัด กำชับห้ามไม่ให้นำสื่อมวลชนเข้าไปในสถานที่ตรวจค้นและจับกุมคดีค้าประเวณี ห้ามอนุญาตหรือจัดให้สื่อมวลชนเข้าไปในขณะให้ผู้ต้องหานำพนักงานสอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ตลอดจนกำกับดูแลการปฏิบัติในการวางแนวกั้นตำรวจ/แถบกันที่เกิดเหตุ (POLICE LINE) เพื่อแบ่งแยกพื้นที่เฉพาะในการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนออกจากพื้นที่สำหรับสื่อมวลชนและประชาชนอย่างชัดเจน ทั้งนี้ให้มีการดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ฝ่าฝืนหลักปฏิบัติและแนวปฏิบัติตามกระบวนการลงโทษทางวินัยด้วย
(1.2) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ต้องกำกับดูแลกันเองและส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมและแนวปฏิบัติ ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนร่วมกันกำหนดขึ้น โดยออกหนังสือเวียนและเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในเรื่องสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวและสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศ เช่น การแจ้งขออนุญาตบุคคลที่ตกเป็นข่าว และการหลีกเลี่ยงไม่ถ่ายภาพหรือนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กทุกกรณี รวมทั้ง หนังสือเวียนเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติหรือคู่มือที่มีอยู่ ได้แก่ แนวปฏิบัติสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่อง การเสนอข่าว ความคิดเห็น และภาพเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. 2564 แนวปฏิบัติการนำเสนอของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ คู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ หรือแนวปฏิบัติอื่นใดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ปฏิบัติจริง
(2) ข้อเสนอแนะมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
(2.1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ควรพิจารณากำหนดแนวปฏิบัติในการให้ความคุ้มครองหรือลบข้อมูลส่วนบุคคล ในกรณีการนำเสนอข่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ และชื่อเสียงของบุคคลที่ตกเป็นข่าวและคนในครอบครัว โดยอาศัยอำนาจตามนัยมาตรา 16 (3) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
(2.2) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานองค์การสาธารณกุศล ควรกำกับดูแลให้ผู้ปฏิบัติการกู้ภัยและอาสาสมัครปฏิบัติหน้าที่อย่างเคารพต่อผู้ประสบภัย โดยต้องไม่ถ่ายภาพอันไม่เหมาะสมอันอาจนำไปสู่การเผยแพร่ต่อสาธารณะ และมีมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินการต่อผู้ปฏิบัติการกู้ภัยและอาสาสมัครที่ฝ่าฝืนคู่มือแนวทางปฏิบัติการกู้ภัยของกรมฯ หรือขององค์การสาธารณกุศลที่สังกัด
(2.3) สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทย ควรกำหนดแนวปฏิบัติให้เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนหรือสอบสวนต้องแจ้งให้ประชาชนที่อยู่ร่วมด้วยในขณะปฏิบัติหน้าที่รับทราบข้อปฏิบัติและข้อควรระวังที่พึงหลีกเลี่ยงในการบันทึกและเผยแพร่ภาพเหตุการณ์ในขณะที่มีปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม หรือการดำเนินการอื่นใด
กสม. มีข้อเสนอถึงวุฒิสภาเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานฯ ขอให้เร่งผ่านกฎหมายออกมาบังคับใช้ให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ตามที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เสนอ และได้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาแล้วนั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสำคัญต่อร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สมควรได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ห้ามไม่ให้มีการกระทำทรมาน หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และในการจับกุมหรือคุมขังบุคคลจะต้องมีคำสั่งหรือหมายศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น อีกทั้งเป็นการสมควรที่จะต้องมีกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้
กสม. จึงเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้โดยเร่งด่วน และเพื่อให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในชั้นวุฒิสภาเป็นไปอย่างรอบด้านและสอดคล้องกับหลักการสากล กสม. โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีหนังสือลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 เรียนประธานวุฒิสภา เพื่อแจ้งข้อเสนอแนะของ กสม. ต่อการพิจาณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว สรุปได้ 10 ข้อดังต่อไปนี้
(1) การกำหนดฐานความผิด ควรกำหนดองค์ประกอบของการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยถูกบังคับให้สอดคล้องกับนิยามที่กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศบัญญัติไว้ เช่น ร่างมาตรา 5 ที่กำหนดว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ…” ยังไม่ครอบคลุมกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยการยุยง หรือยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ ตามนิยามที่อนุสัญญา CAT กำหนด
(2) การใช้และตีความคำว่า “อย่างร้ายแรง” ตามร่างมาตรา 5 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้…” นั้น คำว่า “อย่างร้ายแรง” มีความหมายและขอบเขตที่ไม่ชัดเจน จึงควรกำหนดองค์ประกอบการกระทำความผิดให้ชัดแจ้งเพียงพอที่จะเข้าใจเกี่ยวกับการกระทำอย่างร้ายแรง เพื่อป้องกันปัญหาการตีความในการบังคับใช้กฎหมายอาญา
(3) การกำหนดวัตถุประสงค์หรือเจตนาพิเศษของการกระทำทรมาน ร่างมาตรา 5 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการกระทำทรมานไว้อย่างจำกัดเพียง 4 กรณีเท่านั้น อันได้แก่ (1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพ (2) ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่าเป็นการกระทำของผู้นั้น (3) ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำ และ (4) เหตุผลอื่นใดบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด ซึ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับขอบเขตของวัตถุประสงค์หรือเจตนาพิเศษนี้อาจแคบกว่านิยามตามอนุสัญญา CAT ที่บัญญัติเกี่ยวกับวัตถุประสงค์หรือเจตนาพิเศษไว้ว่า “…for such purposes as…” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นเพียงตัวอย่างของวัตถุประสงค์หรือเจตนาพิเศษในการกระทำทรมานเท่านั้น
(4) การห้ามกระทำ ห้ามการนิรโทษกรรมหรือข้อยกเว้นความรับผิด เนื่องจากการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นการกระทำที่เป็นที่ยอมรับในทางสากลว่ามีสถานะเป็น “หลักกฎหมายบังคับเด็ดขาด” (jus cogens) กล่าวคือ ไม่ว่าในสถานการณ์ใด ๆ จะไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถกระทำการดังกล่าวอันเป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จึงเห็นสอดคล้องว่าไม่ควรให้มีการนิรโทษกรรม หรือยกเว้นความรับผิดใด ๆ จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(5) การบันทึกภาพและเสียงในระหว่างการจับ การควบคุมตัว และการสอบสวน ควรมีการบัญญัติเรื่องมาตรการป้องกันหรือเฝ้าระวังมิให้เกิดการกระทำการทรมาน อาทิ การติดตั้งกล้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องตลอดการปฏิบัติหน้าที่ จัดให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูล และสามารถเข้าถึงได้เมื่อต้องการตรวจสอบ อันเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชน จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(6) การแจ้งเหตุการจับและการควบคุมตัว และการแจ้งเหตุแห่งคดีให้พนักงานอัยการทราบ กรณีมีการจับกุมและควบคุมตัวบุคคล เห็นสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ว่า ควรกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบต้องแจ้งเหตุการจับและการควบคุมตัวไปยังพนักงานอัยการหรือฝ่ายปกครองโดยทันที เพื่อเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุมหรือควบคุมตัว และกรณีที่เป็นการสอบสวนโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่พนักงานอัยการ ควรให้พนักงานสอบสวนแจ้งเหตุแห่งคดีให้พนักงานอัยการทราบโดยทันทีเพื่อเข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน ซึ่งจะทำให้การดำเนินคดีมีความรวดเร็วและโปร่งใส
(7) การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว ควรบัญญัติให้มีการบันทึกข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัวเกี่ยวกับสภาพร่างกายและจิตใจโดยแพทย์ของหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบการควบคุมตัวนั้น
(8) ผู้มีอำนาจสอบสวน ควรบัญญัติให้มีหลักประกันความเป็นอิสระแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสอบสวนการกระทำความผิดตามร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยกำหนดให้มีมากกว่าหนึ่งหน่วยงานเข้าร่วมในกระบวนการสอบสวนที่ไม่ใช่หน่วยงานของผู้กระทำความผิด
(9) ไม่ควรกำหนดให้เป็น “หน้าที่” ของประชาชนในการแจ้งเหตุการกระทำการทรมาน หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย เนื่องจากการก่อเหตุมักเป็นการกระทำจากผู้มีหน้าที่และอำนาจ ซึ่งอาจกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน หรือเสี่ยงที่จะถูกร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดี อันเป็นการบัญญัติกฎหมายที่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร แต่ควรกำหนดมาตรการที่เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการแจ้งเหตุดังกล่าวแทน ทั้งนี้หากเป็นการแจ้งเหตุโดยสุจริต ควรกำหนดหลักประกันคุ้มครองให้บุคคลผู้แจ้งเหตุนั้น ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยด้วย
(10) เขตอำนาจศาลในการพิจารณาคดี ในทางสากล ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติมีความเห็นว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น กรณีของการกระทำการทรมาน หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายนั้น ไม่ควรอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลทหาร แม้ว่าผู้กระทำความผิดจะเป็นทหารก็ตาม กสม. จึงเห็นสอดคล้องที่จะกำหนดให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ทุกกรณี
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
30 มิถุนายน 2565