วันอาทิตย์, กันยายน 29, 2024
หน้าแรกการเมืองวงการสื่อสารมึน "แบบนี้ก็ได้เหรอ" ที่แท้ “ทรู” ดื้อตาใสส่ง จม.”แย้ง” กสทช ซะเอง!

Related Posts

วงการสื่อสารมึน “แบบนี้ก็ได้เหรอ” ที่แท้ “ทรู” ดื้อตาใสส่ง จม.”แย้ง” กสทช ซะเอง!

เร่งเครื่อง “ปิดดีลควบรวม”ไม่ต้องมากความแค่ “รับเบอร์แสตมป์” แถมย้ำชัด  กสทช.ไม่มีอำนาจตัดสิน

ที่แท้ทรู “ว่าแต่เขา-อิเหนาเป็นเอง” ร่อนหนังสือ กสทช.เร่งเครื่องปิดดีลควบรวม ”ทรู-ดีแทค” แถมระบุชัด กสทช.ไม่มีอำนาจพิจารณาทำได้แค่ ”รับเบอร์แสตมป์” เท่านั้น ขณะวงในหนุน กสทช.พิจารณารอบด้านคำนึงผลประโยชน์สาธารณะ ชี้ต่างประเทศล้วนใช้เวลาเป็นปีๆ 

หลังโลกโซเชียลมีกระแสฮือฮาวันวาน กรณีสื่อใต้ดินบางรายออกมาปั่นกระแสข่าวโจมตีผู้บริหารเอไอเอสว่าใช้อิทธิพลเข้าแทรกแซงสั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ห้ามการควบรวมกิจการ และแนะนำให้เรียกคืนคลื่นความถี่บางส่วนคืน ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ก่อนถูกเอไอเอสตอบโต้พร้อมเตรียมฟ้องกราวรูดจนต้องลนลานถอดข่าวกันจ้าละหวั่น

*ที่แท้ทรู-ดีแทคส่งหนังสือถึง กสทช.เอง

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงาน กสทช.ว่า แท้จริงแล้วบริษัทสื่อสารที่ออกมาเหมือนสร้างแรงกดดันและแทรกแซงการพิจารณาของบอร์ด กสทช.ต่อกรณีพิจารณาดีลควบรวมกิจการทรูและดีแทค กลายเป็นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เอง ที่ล่าสุดเพิ่งทำหนังสือเลขที่ True-Dtac/031/2565 ลงวันที่ 18 ส.ค.2565 ไปยัง ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.และกสทช.รายอื่นๆ เพื่อขอให้เร่งรัดพิจารณาดีลควบรวมกิจการทั้งสองบริษัทโดยเร็ว

โดยหนังสือดังกล่าวลงนาม โดยสองผู้บริหารบริษัทคือ นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น  และนายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ ดีแทค โดยอ้างว่าทั้งสองบริษัทได้แจ้งการควบรวมกิจการตามประกาศ กสทช.ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2565 และได้เสนอรายงานการรวมธุรกิจระหว่างกันตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.2565 จนถึงปัจจุบันนั้นเกินกว่า 90 วันแล้ว แต่กสทช.ยังคงไม่มีการพิจารณาและมีมติรับทราบรายงานการรวมธุรกิจดังกล่าว แม้บริษัทจะมีหนังสือเร่งรัดให้กสทช.พิจารณามาแล้วก่อนหน้า ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

*ยัน กสทช.ต้อง ”รับทราบ-รับเบอร์แสตมป์” เท่านั้น 

ในหนังสือที่ส่งไปแสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมายังมีข้อมูลปรากฏว่า อนุกรรมการศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจที่ กสทช.แต่งตั้งขึ้นบางชุด อย่างอนุกรรมการด้านกฎหมาย มีมติไม่เห็นด้วย และเสนอจะไม่อนุญาตการควบรวม ซึ่งการตีความดังกล่าวถือได้ว่าขัดเจตนารมณ์ของกฎหมายและประกาศ กสทช. ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่สำนักงาน กสทช.และกสทช. ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในการพิจารณาดีลควบรวมกิจการของผู้รับใบอนุญาต 9 รายก่อนหน้านั้น ก็ยึดแต่ประกาศ กสทช.ปี 2561 และมีมติเพียง”รับทราบ”เท่านั้น ไม่เคยมีมติอื่นใดนอกเหนือจากนี้ 

จึงเห็นว่า หาก กสทช.ปฏิบัติหน้าที่ไปตามความเห็นของอนุกรรมการด้านกฎหมาย และมีมติไม่อนุมัติการรวมธุรกิจในครั้งนี้ ผู้แจ้งการรวมธุรกิจ(ทรู-ดีแทค )เห็นว่า ถือเป็นการลงมติที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามประกาศ กสทช.ว่าด้วยการควบรวมกิจการฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กสทช.ไม่มีอำนาจใด ๆ ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ 12 ตามประกาศ กสทช.ปี 2561 ที่จะกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะขึ้นมาเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น 

*อ้างความเสียหายแก่บริษัทแล้วแสนล้าน

นอกจากนี้ในหนังสือที่ทั้งสองบริษัทส่งถึง กสทช.ยังระบุด้วยว่า ความล่าช้าในการพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นแล้วไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทแล้ว และยังส่งผลกระทบต่อโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยี 5 จี และการพัฒนากิจการโทรคมนาคมในภาพรวมอีกด้วย  จึงขอให้ กสทช.ได้ปฏิบัติหน้าที่ ในการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทให้เป็นไปตามกรอบกฎหมาย และมีมติ “รับทราบ”รายงานการรวมธุรกิจของทั้งสองบริษัทโดยเร่งด่วนต่อไป

 “ดูเหมือนข้อเรียกร้องของทั้งสองบริษัทนั้นแทบจะเมินรายงานการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบของอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ที่กสทช.แต่งตั้งขึ้นมาก่อนหน้า และต้องการให้ กสทช.ทำหน้าที่เพียงเป็นตรายาง”รับเบอร์แสตมป์” รับทราบรายงานการควบรวมธุรกิจที่ทั้งสองบริษัทแจ้งมายัง กสทช.เท่านั้น”

*บทเรียน ตปท.ล้วนใช้เวลาตัดสินข้ามปี

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า หากพิจารณารายงานของอนุกรรมการชุดต่างๆ  รวมทั้งประกาศ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาดีลควบรวมของ กสทช.นั้น ถือเป็นเรื่องที่ชอบธรรมและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ กสทช.จำเป็นต้องพิจารณากรณีการควบรวมกิจการฯในครั้งนี้อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ประกาศ และผลประโยชขน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง เพราะเป็นดีลควบรวมกิจการสื่อสารขนาดใหญ่ที่ไม่เคยมีประเทศใดในโลกเคยมีมาก่อน และหากอนุมัติดีลควบรวมออกไปประเทศไทยจะเป็น “ประเทศเดียวในโลก” ที่หน่วยงานกำกับอนุมัติให้มีอนุมัติให้ดำเนินการควบรวมกิจการจนเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 รายเท่านั้น

นอกจากนี้หากพิจารณาเส้นทางการพิจารณาดีลควบรวมในต่างประเทศของหน่วยงานกำกับดูแลแต่ละประเทศนั้นจะเห็นว่า ล้วนใช้เวลาพิจารณาร่วมปี หรือเกินปีทั้งสิ้น อย่างใหสหรัฐที่พิจารณาดีลควบรวม T-Mobile และ Sprint Telecom ซึ่งจะทำให้เหลือผู้เล่นในตลาดจาก 4 รายเหลือ3 รายนั้นใช้เวลาพิจารณาตัดสินถึง 2ปีในการอนุมัติควบรวมโดยมีเงื่อนไข ขณะที่ กรณี AT&T ที่ขอควบรวมกิจการกับ T-Mobile นั้น ใช้เวลาพิจารณากว่า 1 ปีโดยไม่อนุมัติให้ควบรวม

ในอินเดีย ที่ Vodafone India ขอควบรวมธุรกิจกับ Idea Cellular ที่จะส่งผลต่อผู้ให้บริการในตลาดจาก 5 รายเหลือ 4 รายนั้นก็ใช้เวลาพิจารณาอนุมัติโดยมีเงื่อนไขกว่า 1ปี 5 เดือน  เช่นเดียวกับในอังกฤษก็เช่นกัน 3 Three (Hutchison)ที่ขอควบรวมกิจการกับ O2 UK ซึ่งจะส่งผลต่อการลดจำนวนผู้ให้บริการจาก4รายเหลือ3รายก็ใช้เวลาพิจารณาถึง 8 เดือนโดยไม่อนุมัติให้ดำเนินการควบรวม

“การที่ทรูออกมาเร่งรัดให้ กสทช.ต้องพิจารณาดีลควบรวมกิจการของตนอย่างเร่งด่วนและต้องพิจารณาอนุมัติโดยไม้ต้องพิจารณาอำนาจอื่นใด อาจจะเข้าข่ายเป็นการแทรกแซงกระบวนการทำงานของกสทช.อีกด้วย และหากท้ายที่สุด กสทช.ได้พิจารณาอนุมัติให้ไปจะตอบสังคม และผู้ใช้บริการได้อย่างไรว่าได้พิจารณาอนุมัติดีลควบรวมกิจการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ ในเมื่อถูกกดดันอย่างหนักเช่นนี้”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts