พปชร. เมิน สอท. ชู ‘สมคิด’ ผู้นำเปลี่ยนการเมืองใหม่ เย้ยคนหน้าเก่าไม่ฮือฮา ชี้อุดมการณ์-กู้เศรษฐกิจ-แก้รธน. แค่กลยุทธ์การเมือง บุคคลไม่ใช่คนใหม่ ต่างเคยอยู่ในโครงสร้างของอำนาจและการเมืองของพรรคที่เคยทำมาแล้ว และพรรค สอท. ไม่ใหม่ หากไปถอดคำพูดที่อาจจะเคยพูดไว้ตามสื่อหรือแถลง เมื่อ2 – 3 ปีที่แล้ว
9 ก.ย. 2565 นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รับเป็นประธานพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) และประกาศเป็นผู้นำเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบใหม่ ว่า การเปิดตัวของหลายพรรคการเมืองในขณะนี้เป็นเรื่องปกติ ตามพัฒนาการของการเมืองไทยในระบบรัฐสภา ที่ทำมีหลายพรรคการเมือง เกิดง่าย ยุบง่าย เป็นเรื่องธรรมชาติ การเปิดตัวจึงไม่หวือหวา คำถามที่ตามมาคือเปิดมาแล้วจะเป็นที่หวังของประชาชนว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ตามที่ประกาศหรือไม่ จากที่ติดตามการเมืองตั้งแต่ปี 30 เป็นต้นมา เราไม่เห็นว่าจะมีพรรคการเมืองที่โดดเด่นเป็นฐานนโยบายได้เหมือนพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง มาถึงปี 65 หลายพรรคเปิดตัวก็ไม่ฮือฮา เพราะตัวบุคคลหรือคนการเมืองที่เข้ามา เป็นคนหน้าเก่า มีประสบการณ์บริหารราชการแผ่นดิน มีตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นรองนายกฯ เป็นนักการเมืองมายาวนาน ถ้าจะบอกว่าจะมาเปลี่ยนแปลง ต้องทำมาตลอด ได้ทำมาแล้ว เพราะมีเวลาและมีโอกาสได้ทำตอนที่ดำรงตำแหน่งอยู่
นายรงค์ กล่าวว่า การจะเปลี่ยนโดยชูอุดมการณ์ การเมืองไม่ต้องใช้เงินซื้อม้าเข้าคอก มองว่าเป็นกลยุทธ์ ไม่ใช่อุดมการณ์ ขณะที่การแก้เศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่ายาก แต่ตนเห็นด้วย ทุกพรรคต้องคิด พรรคพลังประชารัฐก็คิด ทั้งพรรคใหม่และเก่าก็คิด แต่จะเป็นเศรษฐกิจแบบไหน ที่บอกจะเน้นเรื่องฐานราก ให้ประชาชนเข็มแข็ง ถามว่ายังไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างระบบทุนนิยมในขณะนี้จะแก้อย่างไร การพูดฟังแล้วดีเพื่อประชาชนรากหญ้า แต่มาตรการจะมีอย่างไร ตรงพูดให้ชัด ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ใครก็พูดได้และไม่ยาก เพราะพรรคการเมืองเวลาจะมีแคมเปญหาเสียง อาจจะบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญๆ และช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หลายพรรคบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็แก้ได้ แต่คำตอบไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ จึงบอกว่าการแก้ไขไม่ยาก และต้องบอกให้ชัดว่าจะแก้ประเด็นไหน จะกระจายอำนาจทำอย่างไร โดยนำเสนอเข้าสภา ถ้าสภารับเป็นญัตติก็อภิปราย แต่จะรับหลักการหรือปฎิเสธมีให้เห็นอยู่แล้ว ส่วนการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ
“การเสนอตัวของนักการเมืองหรือพรรคการเมือง เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องใหม่ อาจจะโดดเด่น หวือหวาที่ชื่อพรรคใหม่ มีคนใหม่จากกลุ่มนี้ พรรคนี้ ไปอยู่อีกกลุ่ม อยู่ซีกนี้ไปอยู่อีกซีกหนึ่ง ก็เป็นตัวเลือกประชาชน นายสมคิด เคยเป็นรองนายกฯ เคยอยู่ พปชร. เคยเป็นรัฐมนตรี เมื่อเปิดมาใหม่จึงเป็นที่ฮือฮา ส่วนตัวเราเคารพ และรู้จักไม้ตายของท่าน และมองว่ามีความคิดที่ลงตัวก็ย่อมมีฐานเสียงชัดเจน ส่วนที่นายสมคิด บอกว่ามานำการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องการมาเป็นนายกฯ เพราะเรื่องนี้อยู่ที่ฟ้าลิขิต นั้น ไม่ทราบว่ามีนัยยะถึงอะไร แต่มองว่าคนที่จะมาเป็นผู้นำเปลี่ยนแปลง ต้องมีอำนาจเด็ดขาด ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเป็นนายกฯ ซึ่งตามกลไกประธานพรรค ก็ต้องถูกเสนอตัวเป็นนายกฯอยู่แล้ว ถึงจะมาเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่ระบุไว้ และการพูดว่าผู้นำต้องมีอำนาจเด็ดขาดสั่งการ ทุบโต๊ะได้ เป็นการพูดแบบคนที่จะเป็นแบบนายกฯ” นายรงค์ ระบุ
เมื่อถามว่า เครดิตความน่าเชื่อถือทางการเมืองของนายสมคิด จะดึงดูดนักการเมืองหน้าเก่าหน้าใหม่ เข้ามาร่วมงานกับพรรค สอท. มากขึ้น หรือไม่ นายรงค์ กล่าวว่า บุคคลไม่ใช่คนใหม่ ต่างเคยอยู่ในโครงสร้างของอำนาจและการเมืองของพรรคที่เคยทำมาแล้ว และพรรค สอท. ไม่ใหม่ หากไปถอดคำพูดที่อาจจะเคยพูดไว้ตามสื่อหรือแถลง เมื่อ2 – 3 ปีที่แล้ว จะทราบ คนส่วนใหญ่เคยอยู่ในโครงสร้างของพรรคการเมืองเก่า แต่ก็อาจมีคนรักคนชอบ มีแฟนคลับของเขาที่พร้อมจะมาร่วมงานได้แต่จะไปได้ถึงกุมอำนาจรัฐหรือไม่ ต้องรอพิสูจน์ในการเลือกตั้งทั่วไป เพราะเมื่อเข้าสู่เคมแปญเลือกตั้ง ทุกพรรคก็ต้องมีการเสนอตัว วิจารณ์ และเสนอนโยบายที่ดีกว่ามาเปรียบเทียบกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลว่าจะส่งผลกับพรรค พปชร. หรือไม่ เพราะหลายคนเคยอยู่กับพรรค พปชร. มาก่อน นายรงค์ กล่าวว่า การแข่งขันทางการเมืองก็กังวลหมด เพราะใครเปิดตัวมาก็ต้องแข่งขัน แต่เป็นเรื่องดีที่ประชาชนจะได้ตัดสินใจ
ส่วนพรรค พปชร. จะมีกลยุทธ์สู้กับพรรคต่างๆ ที่เปิดตัวทางลงสนามการเมืองอย่างไรนั้น นายรงค์ กล่าวว่า เรามีกลไกพรรคทำงาน มียุทธศาสตร์ พรรค และเวลานี้เดิน 2 ขา คือประคองการทำงานของรัฐบาล เพื่อบริหารประเทศขับเคลื่อนโครงการให้กระจายลงพื้นที่ ให้นโยบายไปถึงประชาชน และวางแผนไปสู่การเลือกตั้ง ที่มีเวลาประมาณ 6 เดือนจากนี้ จึงยังไม่เสนออะไรให้หวือหวา เพราะจะต้องทบทวนนโยบาย4 ปีที่ผ่านมาทำอะไรไปได้บ้าง และจะต้องปรับเรื่องใด และเงื่อนไขหลังการเลือกตั้งปี 66 เพื่อกำหนดนโยบาย