โฆษก ป.ป.ส. เผยคดี นายตุน มิน ลัต คนสนิท พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาคนปัจจุบัน อยู่ระหว่างตรวจเส้นทางเงินและทรัพย์สินที่ยึดมา ขณะที่แหล่งข่าวระบุพบผู้ต้องหาโอนเงินให้นักการเมืองไทยหลายครั้ง
จากกรณีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ได้สนธิกำลังตำรวจสืบสวนนครบาล 2 ร่วมกันจับกุมเครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญ 5 เป้าหมาย โดยพบว่าหนึ่งในนั้นคือ นายตุน มิน ลัต อายุ 53 ปี นักธุรกิจชื่อดังชาวเมียนมา และเป็นบุคคลใกล้ชิด พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาคนปัจจุบัน ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 527/2565 ลงวันที่ 9 ก.ย. 65 ในข้อหา สมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมตรวจยึดทรัพย์สินจำนวนมาก ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ 23 ก.ย. 2565 นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ส. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ภายหลังจากที่ ป.ป.ส. ได้จับกุมและตรวจยึดทรัพย์สินของ นายตัน มิน ลัต ผู้ต้องหานั้น หลังจากนี้ทาง ป.ป.ส. จะต้องตรวจพิสูจน์ว่าทรัพย์เหล่านี้เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงหรือต่อเนื่องก็ตาม และถ้าหากเป็นการฟอกเงิน ก็จะต้องแยกเรื่องส่งไปตามขั้นตอน พร้อมยืนยันว่า ป.ป.ส. จะดำเนินการสอดคล้องกับการดำเนินการในทุกคดีที่ผ่านมาโดยใช้มาตรฐานเดียวกัน
นายปิยะศิริ กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของเรื่องคดีก็ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน ซึ่งทราบว่าพนักงานสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลยังเป็นผู้รับผิดชอบอยู่ โดยจะแยกเป็นสองส่วนคือ
1.เรื่องของคดีที่พนักงานสอบสวน บช.น. จะต้องไปแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อส่งเรื่องต่ออัยการ
และ 2.เรื่องของทรัพย์สิน ก็จะแยกออกมาเพื่อขั้นตอนการตรวจสอบ
ดังนั้นกระบวนการสอบผู้ต้องหาและผู้เกี่ยวข้องจะมีสองประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นคดีอาญาและประเด็นคดึทรัพย์สิน โดยในประเด็นทรัพย์สิน ทาง ป.ป.ส. ก็จะไปสอบสวนคนที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าตัว เพื่อไปประกอบดูว่าทรัพย์สินต่างๆ หรือเส้นทางการเงินซัดทอดไปถึงบุคคลใดได้อีกบ้าง
เมื่อถามถึงกรอบระยะเวลาของการตรวจสอบเส้นทางเงินและแนวโน้มที่เป็นไปได้ว่าทาง ป.ป.ส. จะพบบุคคลใดเกี่ยวข้องอีกบ้างนั้น นายปิยะศิริ อธิบายว่า กรอบระยะเวลานั้นขึ้นอยู่กับการได้มาของทรัพย์สินและปริมาณทรัพย์สินว่าได้มีการถ่ายโอนไปกี่ทอด หรือทางผู้ต้องหาได้รับทรัพย์สินเหล่านี้โดยตรง และเงินที่มามีการโอนในลักษณะแบบซุกซ่อนปกปิดอย่างไร
นายปิยะศิริ กล่าวต่อว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ไม่ได้ดูเพียงแค่ว่าได้ดำเนินการยึดทรัพย์สินอะไรมาบ้าง แต่ยังต้องไปดูถึงพฤติการณ์ก่อนหน้านี้ว่าทางผู้ต้องหาได้มีการถ่ายโอนรายการอะไรไปบ้าง รวมถึงรายการเงินในบัญชีทรัพย์สินมีการโอนเข้า-ออก ไปสู่บุคคลใดบ้าง ดังนั้น ตรงนี้คือส่วนที่ ป.ป.ส. จะใช้ขยายผลไปได้อีกว่านอกจากผู้ต้องหาแล้ว ยังสามารถขยายผลไปถึงบุคคลใดอีกบ้าง ยกตัวอย่างเช่น พบว่าผู้ต้องหามีการโอนเงินเป็นชุดๆ ในลักษณะโอนเงินออกไปครั้งละ 1.8 ล้านบาท จำนวนสิบครั้งถึงบัญชีปลายทางของบุคคลหรือห้างร้านใด ทาง ป.ป.ส. ก็จะมีการเรียกบุคคลหรือห้างร้าน ดังกล่าวมาสอบปากคำหาข้อเท็จจริง เนื่องจากในทางกฎหมายอาญา ได้มีการระบุว่า จะต้องมีการพิสูจน์ทั้งความบริสุทธิ์และความผิด ซึ่งการรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่จึงต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ปรากฏตามพยานหลักฐานได้เข้ามาชี้แจง
นายปิยะศิริ ยังทิ้งท้ายว่า หากทาง ป.ป.ส. มองเห็นว่าในคดีดังกล่าวปรากฏว่าคนที่เกี่ยวข้องในคดีมีพัวพันกับเครือข่ายอื่นๆด้วยนั้น ตรงนี้ ป.ป.ส. ก็สามารถขอค้นเองหรือขอออกหมายจับโดยอำนาจตามประมวลกฎหมายได้เช่นเดียวกัน เพื่อขยายผลสืบสวนต่อ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางคดีด้วย
มีรายงานจากแหล่งข่าวระดับสูงด้วยว่า สำหรับเส้นทางการเงินของนายตุน มิน ลัต คนสนิท พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมานั้น พบว่าได้มีการโอนเงินไปยังบัญชีนักการเมืองชื่อดังของไทยจำนวนหลายครั้งอีกด้วย