วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินชัยวุฒิ สอนมวย ก.ล.ต ใช้ความรู้ “ป้องปราม” แชร์ลูกโซ่ แอบอ้างการลงทุน  สังคมถาม… มีความรู้ แต่ไม่หาลู่ทาง เรียกเช้าชามเย็นชาม ได้หรือไม่?

Related Posts

ชัยวุฒิ สอนมวย ก.ล.ต ใช้ความรู้ “ป้องปราม” แชร์ลูกโซ่ แอบอ้างการลงทุน  สังคมถาม… มีความรู้ แต่ไม่หาลู่ทาง เรียกเช้าชามเย็นชาม ได้หรือไม่?

“..ก.ล.ต. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการควบคุมกฎการระดมเงินลงทุนในหุ้นและกระดานเทรดต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า ก.ล.ต. สามารถมองออกว่านิติบุคคลในลักษณะมิจฉาชีพจะมีพฤติการณ์เป็นอย่างไร ดังนั้น ก.ล.ต. ไม่ควรอยู่นิ่งเฉยเมื่อเห็นความผิดปกติ จนเกิดความเสียหายจากขบวนการแชร์ลูกโซ่ แม้ ก.ล.ต. ไม่มีกฎหมายเข้าไปจัดการ แต่ก็ไม่ควรทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ควรเร่งหาทางออกในการช่วยยับยั้งความเสียหายตั้งแต่ต้นทาง ขนาดรัฐมนตรี DE ถึงกับกล่าวว่า เสียดายที่ในส่วน ก.ล.ต.  ที่ไม่ทำหน้าที่ มีการปล่อยปะ ละเลยให้มีการจัดตั้งบริษัทมาลงทุน และทำให้ประชาชนเสียหายนับหมื่นล้านบาท โดยที่ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนแต่กลับไปจับผิดเรื่องเล็กๆน้อยๆไม่ใส่ใจเรื่องใหญ่  ด้านก.ล.ต.กลับโต้แบบในแบบผู้ดี ว่าไม่มีกฎหมายไม่ใช่หน้าที่..”

ขบวนการ “Forex 3D” เป็นคดีแชร์ลูกโซ่ที่ฮือฮา สร้างความเสียหายให้ประชาชนเป็นวงกว้าง จนเกิดคำถามว่าแชร์ลูกโซ่ ธุรกิจการเงิน การลงทุนหลอกลวง เหล่านี้เหตุใดจึงไม่เคยยุติลงในสังคม หนึ่งในคำตอบที่พอจะนำไปแก้ปัญหาได้ในอนาคต นั่นก็คือ ต้องมีหน่วยงานกำกับที่สามารถตรวจสอบนิติบุลคลต้องสงสัย พฤติการณ์มีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก แต่วันนี้หน่วยงานรัฐกลับทำหน้าที่เพียงคอยไล่จับ หลังเกิดความเสียหายมหาศาลแล้วเท่านั้น ทั้งที่เรามีหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “การลงทุน” มากที่สุดในประเทศไทยอย่าง ก.ล.ต. ก็อ้างไม่ใช่อำนาจหน้าที่ ไม่มีกฎหมายรองรับ เมื่อเกิดความเสียหาย สังคมย่อมถามว่า… ก.ล.ต. ไม่คิดจะออกโรงเรียกร้องให้ตนเองมีอำนาจ หยุดยั้งขบวนการแชร์ลูกโซ่ในอนาคตบ้างหรืออย่างไร  คิดแต่จะอ้างงาน รูทีน ไปวันๆอย่างนั้นหรือ

นับตั้งแต่ปี 2558  ชื่อบริษัท RMS Familia อ้างตัวให้บริการการลงทุนอัตราแลกเปลี่ยนบนเว็บไซต์ “Forex 3D” เกิดขึ้น  พฤติกรรมชวนเชื่อซ้ำๆ หาเหยื่อ-สร้างความเชื่อ-หลอกโอนเงินเข้า-มีกติกาคอยกำกับสภาพคล่อง เช่น ห้ามถอนเงินต้นเป็นเวลา 3เดือน – ลงทุนทำกำไรแล้วมาแบ่งกัน เหยื่อหลงผิดว่านั่นเรียกว่าปันผล

การตลาดของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ รายงานข่าวชี้ว่า ceo อย่างนายอภิรักษ์ โกฎธิ ต้องสร้างภาพลักษณ์ของซีอีโอผู้ร่ำรวย ในเดือนสิงหาคม 2561  เปิดตัวโชว์รูมรถหรู ชื่อ RKK Auto Car วางขาย ลัมบอร์กินี่, ปอร์เช่, มาเซราติ, เบนท์ลีย์, เฟอร์รารี่, โรลส์รอยซ์ ฯลฯ โดยในงานมี ใบเตย อาร์สยาม, พิ้งกี้ สาวิกา ไชยเดช, อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ และศิลปินอีกจำนวนมาก มาร่วมงานด้วย

จนความแตกว่านี่คือขบวนการแชร์ลูกโซ่ในปี 2562 ประชาชนในสังคมจึงเริ่มรู้ตัวว่า เอาอีกแล้ว …. ประเทศไทย แต่นั่นก็เป็นวันเวลาที่มีผู้เสียหายจำนวนมหาศาลแล้ว บางกระแสข่าวว่ากันว่ามูลค่านับหมื่นล้านบาทเพราะยังมีผู้เสียหายที่ยังลังเลจะเข้าร่วมดำเนินคดี

เดือนพฤศจิกายน 2562 รายงานข่าวระบุว่า DSI หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้นำคดี Forex 3D เข้าเป็นคดีพิเศษ หมายเลข 153/2562 โดยให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์ และร่วมกันแฉข้อมูลได้ที่ DSI โดยมีเหยื่อทั้งสิ้น 9,824 คน เข้ามาให้ปากคำ รวมจำนวนความเสียหาย 2,489 ล้านบาท โดยมีการประเมินมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท

จากปี 2564 จนถึงปัจจุบัน 2565 เริ่มปรากฎรายชื่อคนในแวดวงศิลปิน-ดาราเข้าไปพัวพันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทีเปิดหน้าและยังซุ่มเงียบ

นำมาโดย  “พิงกี้” สาวิกา ไชยเดช   ประแสข่าวชี้ว่าเป็น “แบรนด์แอมบาสเดอร์” ของ Forex-3D  ต่อสู้คดีด้วยคำชี้แจงว่า เป็นเหยื่อ   “กระทิง” ขุนณรงค์   ผู้ที่มีดาวไลน์จำนวนไม่น้อย  หนึ่งในนั้นคือ“โต๋” ศักดิ์สิทธิ์ แม้ อ้างว่าไม่ได้ชวน รวมถึง ดีเจแมนและใบเตย

คดีมูลค่าความเสียหายมหาศาลขนาดที่สังคมและภาครัฐต้องคิดต่อไปว่า ควรมีมาตรการอย่างไรในการป้องกันให้มากกว่าแค่ตามไปปราบปราม เพราะแชร์ลูกโซ่มักจะใช้วิธีเงินต่อเงิน หลอกลงทุน แต่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้จริง ผลลัพธ์จบลงด้วยการไล่ดำเนินคดีและสืบหาทรัพย์ของขบวนการแชร์ลูกโซ่ ท้ายที่สุดไม่เพียงพอที่จะเยียวยาความเสียหายให้แก่เหยื่อทุกราย

พอขึ้นชื่อการหลอกลงทุน…. เมื่อเกิคความเสียหาย สังคมจะนึกถึงการรวบรวมมูลค่าความเสียหายให้เป็นคดีพิเศษร้อง DSI   ซึ่งก็อยู่ในขั้นปลายน้ำของความเสียหาย หากจะป้องกันในระยะยาว อาจต้องพึ่งพากระบวนการของหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น เช่น หากพบว่ามีนิติบุคลใดที่โฆษณาชวนเชื่อในช่องทางตั้งแต่ออฟไลน์ยันออนไลน์ว่ามีการระดมฝากเงินลงทุน แบ่งปันผลกำไรในรูปแบบต่างๆ หรือเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางการลงทุน ซึ่ง ก.ล.ต. เองมีความเชี่ยวชาญเรื่องการกำกับโฆษณา และเงินขั้นต่ำในการลงทุนแบบเดียวกับที่ดำเนินการในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ แต่กลับอ้างไม่เกี่ยวข้องด้วย

ก.ล.ต. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการควบคุมกฎการระดมเงินลงทุนในหุ้นและกระดานเทรดต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า ก.ล.ต. สามารถมองออกว่านิติบุคคลในลักษณะมิจฉาชีพจะมีพฤติการณ์เป็นอย่างไร ดังนั้น ก.ล.ต. ไม่ควรอยู่นิ่งเฉยเมื่อเห็นความผิดปกติ จนเกิดความเสียหายจากขบวนการแชร์ลูกโซ่แอบอ้างสินค้าใดๆเพื่อการลงทุน วันนี้ ก.ล.ต. ไม่มีกฎหมายเข้าไปจัดการ แต่ก็ไม่ควรทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ควรเร่งหาทางออกในการช่วยยับยั้งความเสียหายตั้งแต่ต้นทาง น่าเสียดายที่วันนี้มีรัฐมนตรี DE ชี้ช่องให้แล้ว …. กลับโต้แบบในแบบผู้ดี ว่าไม่มีกฎหมายไม่ใช่หน้าที่ … ซึ่งถ้าผู้นำหน่วยงานมีไหวพริบ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็น่าจะนำทีมแถลงข่าวตอบรับการหารือความร่วมมือในอนาคต ซึ่งงานหารือก็นับเป็นงานถนัดของท่านเลขาฯ อยู่แล้ว

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการหลอกลวงประชาชน ในคดี  “Forex 3D”  เสียหายเป็นหมื่นล้านบางช่วงบางตอนว่า เสียดายที่ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.  ที่ไม่ทำหน้าที่ มีการปล่อยปะ ละเลยให้มีการจัดตั้งบริษัทมาลงทุน และทำให้ประชาชนเสียหายนับหมื่นล้านบาท โดยที่ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนแต่กลับไปจับผิดเรื่องเล็กๆน้อยๆไม่ใส่ใจเรื่องใหญ่

จึงขอฝากไปยัง ก.ล.ต.ต้องปรับปรุงการทำงานเพราะต้องทำงานตรวจสอบ เชิงลึก สอบถามถึงต้นตอ ที่มาที่ไป ของบุคคลที่จะมาลงทุน  เพื่อป้องกันไม่ให้มาหลอกลวงนักลงทุน อีกทั้ง ก.ล.ต.เมื่อเกิดเรื่องขึ้น ก็ต้องลงมาดูด้วย พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีและแจ้งไปยังกระทรวงดิจิทัลฯเพื่อปิดเฟส ไม่ให้หลอกลวงประชาชน อีกต่อไป

“ไม่ใช่ ก.ล.ต.รอให้คนเสียหายเป็นหมื่นล้านบาท แล้วดำเนินคดี ส่วนการแก้กฎหมาย ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลฯสิ่งแรกคือต้องใช้กฎหมายเดิม คือ พรบ.คอมพิวเตอร์ ในส่วน ของ ก.ล.ต. ก็ต้องเข้าไปกำกับดูแลนักลงทุนกันเอง โดยต้องดูแลเชิงลึก ไปตรวจสอบติดตามการลงทุนของประชาชนในช่องทางมีเดียว่ามีใครมาหลอกลวงบ้างไม่ใช่ว่าดูแค่การลงทุน ต้องดูถึงการเชิญชวนคนมาลงทุนโดยที่ไม่ขออนุญาตด้วยเมื่อพบว่ามีคนทำผิด กฎหมายก็ต้องรีบมาประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อใช้อำนาจ พรบ.คอมพิวเตอร์ เข้าไปปิดกั้นปิดเว็บไซด์ ไม่ใช่เมื่อทำไปแล้ว ค่อยแจ้งเตือนประชาชนก็จะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น”

ฟังแบบนี้แล้วถ้าคิดในแง่บวก ถือเป็นโอกาสดีสำหรับ ก.ล.ต จะได้ใช้คำพูดของ นายชัยวุฒิ หาช่องทางช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่อีกในอนาคต โดยตั้งวงหารือตามงานถนัดเพิ่มช่องทางให้ ก.ล.ต มีส่วนร่วมป้องปรามกลุ่มมิจฉาชีพที่มักแอบอ้างการลงทุน ไปใช้ในวงแชร์ลูกโซ่ อีกทั้งเพื่อรักษาวงการการลงทุนที่แท้จริง ไม่ให้แปดเปื้อนกลิ่นเหม็นเน่าทั้งหลายทั้งปวง

แต่ทัศนคติแง่บวกนั้นหายาก… เสียเหลือเกิน เมื่อดูจากการตอบโต้ของ ก.ล.ต. ต่อนายชัยวุฒิ

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้เปิดเผยอำนาจหน้าที่ขององค์กร ได้แก่ ส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ การระดมทุนจากการเสนอขายหลักทรัพย์ อาทิ หุ้นและหุ้นกู้ หรือการเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กำหนดตามกฎหมาย ดังนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า, พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล, พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, พ.ร.ก.นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์, พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และ พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งให้บริการ เช่น นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ จัดการกองทุนรวม จัดการกองทุนส่วนบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบด้วย ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล และที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น

ชัดเจนนะว่า ก.ล.ต บอกปัดว่าไม่มีอำนาจหน้าที่ ในการดูแล forex ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา อำนาจอยู่ที่กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ส่วนคนทำแชร์ลูกโซ่ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประมวลกฎหมายอาญาความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

ให้ไปจัดการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันเอาเอง ก.ล.ต ไม่ยุ่ง…! และถ้าหากมีคนแจ้งเบาะแสพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจของบุคคลหรือนิติบุคคลที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล ก.ล.ต. จะนำรายชื่อขึ้นไว้ใน Investor Alert บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. และแอพพลิเคชัน SEC Check First และประชาสัมพันธ์เพื่อเตือนประชาชนให้ใช้ความระมัดระวังในการลงทุนเป็นระยะ

ในวันที่ยังไม่มีเหยื่อมากมายมหาศาล ก่อนที่สังคมจะรู้ว่า forex 3D แชร์ลูกโซ่ลวงโลก ช่วงปี 2558 ถามจริงๆ… ก.ล.ต เคยแจ้งเตือนประชาชนใน Investor Alert บนเว็บไซต์ ก.ล.ต. และแอพพลิเคชัน SEC Check First  หรือไม่ หรือจะอ้างว่า ก็เวลานั้นยังไม่มีคนมาแจ้งเบาะแส

กุญแจสำคัญของเรื่องแชร์ลูกโซ่หลอกลงทุนที่ผู้คนต่างสงสัยคือ เหตุใดหน่วยงานที่มีความรู้ด้านการลงทุน ระดมทุนหุ้น เมื่อเห็นความผิดปกติว่ามีกลุ่มบุลคลหรือนิติบุลคลแอบอ้างใช้คำว่า “ลงทุน” ก.ล.ต. จะนอนรอ นั่งรอ คนแจ้งเบาะแสโดยไม่มีทีมคอยติดตามเฝ้าระวังหรือไม่ อย่างน้อยก็ควรหาช่องให้หน่วยงานได้ใช้ศักยภาพด้านการลงทุน ระดมทุนมาตอบแทนสังคมบ้าง ถือเป็นโอกาสอันดีด้วยซ้ำ หากได้ร่วมวงสนทนาหาทางเพิ่มอำนาจทางกฎหมาย เฝ้านะวัง การระดมทุน เถื่อน…!

ไม่ใช่มาถกเถียงให้เสียเวลาในประเด็น ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ปัดให้ กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติตามอำนาจกฎหมาย น่าจะต้องปรับทัศนคติแห่งการบูรณาการ ทำงานเพิ่มให้หนักขึ้นเพื่อตอบแทนสังคมกันบ้าง

หันมาจับตา งานที่ ก.ล.ต มีอำนาจหน้าที่เต็ม เพราะนี่คือบทชี้วัดความเชื่อมั่นวงการลงทุนของแท้ หลังจากใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ปรับ Zipmex ไปเพียง 1.92 ล้านบาท เบาเหมือนปุยนุ่น แต่เทียบความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

นี่ขนาดมีอำนาจตามกฎหมาย ความคืบหน้าวันนี้มีเพียง…! สั่งให้กลุ่มบริษัทซิปเม็กซ์ พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้  โดยเฉพาะกรณีประเทศไทย รวมทั้งการดำเนินการอื่น ๆ นั้นล้อไปตามคำสั่งจากศาลสิงคโปร์ และขอให้ Zipmex ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการดังกล่าวต่อ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 23 ก.ย. 2565 

โดยก่อนหน้านั้น ก.ล.ต. ได้ให้ข้อมูลกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI)  ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) กรณี Zipmex และนายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่สั่งให้นำส่งข้อมูลกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) ที่ใช้เก็บทรัพย์สินของลูกค้าโดยส่งข้อมูลเพียงบางส่วน ไม่ครบถ้วน รวมทั้งมีพฤติการณ์ประวิงเวลาไม่นำส่งข้อมูลตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ เข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดและมีระวางโทษตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษ Zipmex และนายเอกลาภ ต่อ บช.สอท. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นอกจากนั้น ก.ล.ต หน่วยงานคุมกฎถนัดหารือ และถนัดใช้มาตรการทางแพ่งเก็บค่าปรับส่งคลัง มักจะใช้ลีลาการชี้แจงห้อยท้ายไว้ว่า  สำหรับ การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ

สรุปแล้ว ก.ล.ต ถนัดดูแลการลงทุนตามกฎหมาย ได้เพียงเท่านี้หรือไม่ แล้วความหวังที่สังคมฝากไว้ซึ่งต้องการให้ ก.ล.ต. ใช้ความรู้หาช่องทางจัดการพวกระดมทุน-ลงทุนเถื่อน ดูจากผลงานบวกกับคำห้อยท้ายการชี้แจงแล้ว..! ประชาชนคงต้องกินแห้วกระมัง ความเสียหายมหาศาลเป็นบททดสอบความกล้าหาญ ทำงานเชิงรุกเน้นป้องกัน ไม่ใช่นั่งรับเงินเดือนรอเบาะแส และบางอย่างถ้ายังไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ก็ลองไปสะกดคำว่า บูรณาการ เพื่อตอบแทนสังคมดูบ้าง มีความรู้ แต่ไม่หาลู่ทาง ชาวบ้านจะถามว่า “เรียกเช้าชามเย็นชาม” ได้หรือไม่?

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts