วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024

Related Posts

สงสัยบทบาท “ก.ล.ต.”

“…ถาม ท่านเลขาฯ พฤติกรรม ชักเข้าชักออก มหกรรมเหรียญ KUB ส่งผลให้เอกชนไทยปวดกบาล ต้องคอยปรับเปลี่ยนตาม หักดิบศูนย์ซื้อขายไทย คนจะหนีไปเทรดแพลตฟอร์มต่างชาติ-เหรียญต่างประเทศกันหมด ค่าเสียโอกาสมหาศาล รับผิดชอบไหวไหม…? ก.ล.ต.ควบคุมตลาดหุ้นมา 40 กว่าปี ทุกๆ ปีมีหุ้นซิ่ง ทำราคากันเป็น 1,000% ทุกปี ทั้งๆ ที่พื้นฐานไม่มี-กำไรไม่เห็น  แต่ปั่นกันจนทะลุอวกาศ แล้วทุบราคา ชุบเลี้ยงชาวดอย มีเจ้ามือรายใดเข้าคุกบ้าง  อย่าให้คนครหา ช่างเลือก…เลือกปฏิบัติ…”

นับตั้งแต่กรรมการ ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงคุณสมบัติคณะกรรมการ โครงสร้างบริษัทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อ 26 ก.ค. 2565

โดยให้เหตุผลว่าเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีฯ และต้องกำหนดทักษะเฉพาะว่าต้องมีประสบการณ์หรือทักษะในด้านที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง หลังจากมีมติเห็นชอบหลักการในการปรับปรุงหลักเกณฑ์คุณสมบัติของกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้จัดการของผู้ประกอบธุรกิจไปแล้ว เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565

นั่นคือพัฒนาการอีกก้าวที่บ่งชี้ว่า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ มีความสามารถ และมองเห็นอนาคต  อย่างน้อยเพื่อการันตีความน่าเชื่อถือของวงการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเป็นธุรกิจที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมากกว่า 2,000 ล้านบาท

การเป็นคนมีความรู้ มีความสามารถ มองการณ์ไกล  จึงต้องพัฒนาตั้งแต่ระดับฐานรากของโครงสร้างการบริหาร และหลักเกณฑ์ที่รัดกุมเหล่านี้ เป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความรับผิดชอบต่อธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

เฉกเช่นเดียวกับความหวังเรื่องบุคลากรที่มากความสามารถนั้น ประชาชนและนักลงทุนก็คาดหวังว่า ไม่ใช่เพียงผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายเท่านั้น  ความคาดหวังดังกล่าว ยังแผ่ขยายไปยัง ก.ล.ต. ทั้งคณะ โดยเฉพาะกับ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาฯ ก.ล.ต.เช่นกัน!

การบริหารจัดการในฐานะผู้ควบคุมการลงทุน ควรจะรู้เท่ากัน หุ้นเน่า หุ้นปั่น ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่แค่ออกกฎระบียบ จับได้บ้างไม่ได้บ้าง บริษัทในตลาดรายใดปั่นหุ้น ไม่มีรายได้ แต่ดันทำราคาขึ้นเป็น 100% 1000% ก็ควรจะเข้าตรวจสอบและตั้งโต๊ะแถลงข่าว แบบไล่ล่าว่ามีเหตุผลอันใดกันแน่ ใครเดือดร้อน ติดดอยเสียหาย ทั้งที่บริษัทไม่มีกำไร แค่ขายฝันโครงการใหญ่ ขาดทุนน้อยลงก็ปั่นกันได้อย่างน่าไม่อาย หลายครั้งคนในตลาดหุ้นเห็น แต่แปลกใจที่ ก.ล.ต.กลับไม่เห็น?

แม้ว่าวงการปั่นหุ้นจะไม่ฉายแสงแรงกล้า ไม่เหมาะสำหรับการติดตามดำเนินคดี เพื่อให้เป็นข่าวครึกโครม  ชนิดคนหิวแสงทั่วๆ ไปชื่นชอบ แต่โดยหน้าที่ก็ต้องมีการติดตาม ส่งแสงสว่าง ลดความมืดมิดให้แก่นักลงทุนรายย่อยบ้าง หน้าที่หลักของ ก.ล.ต.คือเรื่องนี้..?

แต่พอหันกลับมาวงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทย  โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายไทย กลับออกสีหน้า ตั้งใจออกกฎ ควบคุมรัดกุมฝ่ายบริหารและฝ่ายตรวจสอบชนิด โหดรากเลือดแต่ตรงกันข้ามในเรื่องการตัดสินใจออกกฎระเบียบใหม่ๆ  อ้าว!….ทำไมมักจะล้าหลังผู้ประกอบการ บางครั้งก็ไม่ส่งเสริมต่อระบบนิเวศธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเอาซะอย่างนั้น

รายงานข่าวตลอดปี 2564/2565 ที่ผ่านมา การทำงานของ ก.ล.ต. ชักเข้าชักออกอยู่หลายกรณี จนก่อเกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการไทย ประชาชนเริ่มไม่มั่นใจว่า ก.ล.ต.ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ จนเกิดมหกรรมเฉกเช่น Bitkub Coin ขึ้น

เพราะย้อนไปนับจากวันที่ผ่าน การตรวจสอบโปรไฟล์เหรียญ KUB และลิสเหรียญขึ้นสู่กระดานเทรดบนตลาด เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2564 กลับต้องพบการตรวจสอบคุณสมบัติเหรียญจนมีข้อถกเถียงจำนวนมาก จนคล้ายกับผู้เคราะห์ร้ายในเรื่องนี้คือ บิทคับ

เหรียญ KUB บน “Bitkub Chain” เริ่มต้นมีเจตนาให้นักพัฒนาสามารถเข้ามาสร้างสรรค์แอพพลิเคชัน เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานบล็อกเชนในภาคอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นจริง (Real Business Use Case) ไม่ว่าจะเป็น Decentralized Exchange (DEX), Decentralized Finance (DeFi) หรือ Decentralized Application (DApp)

แต่ภายหลังจากนั้นแค่เพียง 1 เดือน  เมื่อเหรียญขึ้นเทรดบนกระดาน เลขาฯ ก.ล.ต. มีอะไรเข้าฝันท่าน ต้องถามท่านผู้ยิ่งใหญ่ในวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2564 | ฉบับที่ 114 / 2564 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศฉบับ 18/2564 สั่งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ออกประกาศ กธ. 18/2564 กำหนดเงื่อนไขสำหรับการนำโทเคนหรือเหรียญต่างๆ มาซื้อขายบนกระดานที่ได้รับอนุญาต โดยเพิ่มเงื่อนไขห้ามซื้อขายโทเคน 4 ประเภท ได้แก่

  1. Meme Token: กลุ่มโทเคนที่ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจน แต่อาศัยกระแสโลกโซเชียล
  2. Fan Token: โทเคนสำหรับการสนับสนุนตัวบุคคล
  3. NFT: โทเคนแบบแบ่งตัวไม่ได้ ใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือสิทธิ์ในงานต่างๆ
  4. Utility Token ที่ออกโดยผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายเอง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ในข้อที่ 4 นี้แหละ ทำนองว่า เหรียญ KUB ไปจุดประกายในฝันให้กับใครบางคน พลายกระซิบอาจจะทำงาน  แอบชี้ทางสวรรค์ว่า ประกาศในข้อ 4 นี้ คือ สัญญาณแรกในการเปิดศึก

แม้ประกาศนี้ยอมให้โทเคนอย่างเหรียญ KUB ที่ออกไว้ก่อนหน้าวันนี้ (11 มิถุนายน 2564) สามารถซื้อขายบนกระดานได้ต่อไป แต่ประกาศนี้บังคับให้ศูนย์ซื้อ-ขายจำเป็นต้องดูแลให้ผู้ออกโทเคนทำตามข้อตกลงในหนังสืออธิบายโทเคน (white paper) หากผู้ออกโทเคนไม่ทำตามก็เป็นเหตุให้ถอดออกจากกระดานซื้อขายได้ จึงนำมาซึ่งมหากาพย์ ตามเช็ดตามล้าง…!

ทำให้คนอดคิดไม่ได้ว่า เหมือนจะมีใบสั่งอะไรหรือไม่..?

ให้ความเห็นชอบแล้วค่อยตรวจสอบทีหลัง จึงสะท้อนความไม่เป็นมืออาชีพ อดคิดไม่ได้อีกว่า ผู้ใดบินสูง เป็นอันต้องสอย…เพราะอะไร? … 

ก.ล.ต. ชี้ว่า Bitkub ให้คะแนนในเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจคในระดับที่ สูงกว่ามาตรฐานและไม่เคยมีมาก่อนแต่ไม่ปรากฏหลักฐานและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า เหรียญ KUB มีเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่จริง สวนทางกับฝั่งเอกชนยืนยันเทคโนโลยีระดับนี้ เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศที่ทำได้ แถมยังทำก่อนกลุ่มทุนธนาคาร เพราะขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ

ก.ล.ต. ยังบอกว่า Bitkub ยังให้คะแนนในหัวข้อการระดมทุนและหัวข้อส่วนลด Pre-ICO Sale ที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของเหรียญ KUB ด้วย จึงทำให้ ก.ล.ต. เห็นว่า คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB โดยรวมไม่ถึงเกณฑ์ที่จะอนุมัติเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้

บริษัท บิทคับ ออนไลน์ และกรรมการ 5 คน ในคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลของ BO จึงต้องโดนลงโทษปรับ ในกรณีที่คัดเลือกเหรียญ KUB เข้าซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เป็นไป Listing Rule และไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI) ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 30 ของ และมาตรา 94 พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล ให้ปรับเงินรายละ 2,533,500.00 บาท รวมเป็นเงิน 15,201,000.00 บาท

คำถามคือ…ก่อนจะลิสเหรียญ KUB ขึ้นบนศูนย์ซื้อขาย มิใช่ ก.ล.ต. หรือไง ที่เป็นผู้เห็นชอบการตรวจสอบโปรไฟล์เหรียญทุกประการ จนกระทั่งกระบวนการตรวจสอบตาม Listing Rule ผ่านมาตรฐาน สามารถนำมาวางตลาดซื้อขายได้ แต่มีเหตุผลอันใด เมื่อเวลาผ่านพ้นไปแรมปี ก.ล.ต เพิ่งเริ่มมีความคิดที่จะตรวจสอบ ไล่จับเหรียญ KUB

การปล่อยก่อน กวดทีหลัง ชักเข้าชักออกนี้ อาจจะทำให้วงการสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ถูกกดหัว ไม่เท่าทันคู่แข่งจากทั่วโลก หรือ ท่านเลขาฯ ก.ล.ต. จะพอใจ หากต้องให้คนไทย หนีไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลบนแพลทฟอร์มต่างชาติ ที่มีกติกาเปิดกว้าง ยืมเงินเทรดได้ มีอัตราทดช่วยให้นักลงทุนเสี่ยงแบบการพนัน เจ๊ง..เสียหายกันในเวลาสั้นๆ… ถ้าอยากให้นักลงทุนไทยเทรดในไทย ถูกกฎหมาย นอกจากกฎระเบียบยุบยิบแล้วก็ควรขยันในการส่งเสริมวงการสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าให้เกิดกรณีชักเข้าชักออก จนคนทำธุรกิจ ปวดกบาล ไม่เว้นแต่ละวันอีก

อย่าให้คนเขาพูดว่า งานหลักไม่เน้น เน้นงานตามกระแสละกัน!!!

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts