วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินอย่าให้ใครเยาะเย้ยได้ว่า เศรษฐกิจไทยพ่ายเวียดนาม เพราะคริปโตเคอร์เรนซี ทั้งที่เราเหนือกว่าเขาทุกอย่าง

Related Posts

อย่าให้ใครเยาะเย้ยได้ว่า เศรษฐกิจไทยพ่ายเวียดนาม เพราะคริปโตเคอร์เรนซี ทั้งที่เราเหนือกว่าเขาทุกอย่าง

“..โลกให้การต้อนรับเงินตราดิจิทัลมากขึ้น โดยอัตราการยอมรับพุ่งทะยานถึงกว่า 880% นับจากปี 2020 สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศที่มีการนำคริปโตไปใช้มากที่สุดในโลก ก่อนจะแซงขึ้นเป็นอันดับที่ 5 ในปีนี้ ในขณะที่ประเทศจีนซึ่งติดอันดับที่ 13 ในปีที่แล้ว ก็มีการนำคริปโตไปใช้มากขึ้นในปีนี้ จนสามารถกลับขึ้นมาติดอันดับที่ 10 ได้สำเร็จ ประเทศเวียดนามมีการใช้คริปโตเคอร์เรนซี่และ NFT สูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 21% ของชาวเวียดนามทั้งหมด โดยชาวเวียดนามใช้คริปโตในการดำเนินชีวิตปกติ เช่น ซื้อบัตรของขวัญด้วยบิทคอยน์ ไทยเรารั้งอันดับ 8 แต่อันดับของไทยน่าจะดีกว่านี้ ถ้ามีการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ติดหล่มกฎหมายที่กำกับดูแลโดย ก.ล.ต. ที่บางกฎเกณฑ์ยังหาความชัดเจนไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอยู่เนืองๆ จนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจคริปโตไม่เป็นอันทำมาหากิน..

เวียดนาม ยังครองแชมป์ประเทศใช้คริปโตเคอร์เรนซีมากสุดของโลก พร้อมกับการเร่งพัฒนากฎหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศการเงินดิจิทัล เปิดช่องการลงทุนผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นทางเลือกสำหรับคนหนุ่มสาวที่เข้าไม่ถึงการลงทุนในตลาดหุ้น ส่วนประเทศไทยแม้จะมีสตาร์ทอัพระดับโลกพร้อมกรุยทางสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล พาประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง แต่กลับติดกับดักกฎหมายที่ไม่ชัดเจน หาความแน่นอนไม่ได้ อย่าให้ใครเย้ยหยันได้ว่า..เศรษฐกิจไทยโดนเวียดนามแซงหน้าเพราะคริปโตเคอร์เรนซี

ช็อก! อีกรอบ เมื่อเห็นรายงานผลของ Chainalysis ผู้ให้บริการชั้นนำด้านการตรวจสอบและซอฟต์แวร์การปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับอุตสาหกรรม cryptocurrency ในหัวข้อ ‘การนำคริปโตไปใช้จากทั่วโลกประจำปี 2565’ ระบุว่า “เวียดนาม” ครองแชมป์ประเทศอันดับหนึ่งของโลกที่มีการใช้คริปโต ตามด้วยประเทศฟิลิปปินส์, ยูเครน อินเดีย และสหรัฐฯ ตามลำดับ ที่สำคัญคือนี่ไม่ใช่ปีแรกที่เวียดนามครองตำแหน่งนี้ แต่เป็นการครองตำแหน่ง 2 ปีซ้อน ต่อจากปี 2564

งานวิจัยดังกล่าวจัดอันดับ 146 ประเทศจากการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี่บนกระดานเทรดแบบรวมศูนย์และกระจายอำนาจ  การแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (P2P) และการแลกเปลี่ยนบนแพลตฟอร์ม DeFi (Decentralized Finance) ซึ่งเป็นแพตฟอร์มบริการทางการเงินที่สามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง และนำค่าที่ได้จากหัวข้อต่าง ๆ มาคำนวนเป็น 0 และ 1 ทั้งนี้ประเทศที่มีอันดับสูงที่สุดคือ ประเทศที่ประชากรปรับตัวกับคริปโตเคอร์เรนซี่ได้มากที่สุด

ข้อมูลของ Chainalysis ชี้ชัดว่า 9 จาก 10 ประเทศแรกที่มีการนำคริปโตไปใช้ที่สูงที่สุดล้วนเป็นประเทศกำลังพัฒนาทั้งสิ้น มีเพียงประเทศเดียวที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วคือสหรัฐอเมริกา รายงานดังกล่าวระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนา หรือกลุ่มประเทศที่เรียกว่า ‘Emerging Market’ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีอัตราการนำคริปโตไปใช้จำนวนมาก ยังคงมีตัวเลขการนำคริปโตไปใช้ในอัตราที่สูงในปีนี้อยู่เช่นเดิม ผ่านการสะท้อนของ ‘Adoption Index’ (อัตราการรับไปใช้)

สำหรับสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา อยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศที่มีการนำคริปโตไปใช้มากที่สุดในโลก ก่อนจะแซงขึ้นเป็นอันดับที่ 5 ในปีนี้ ในขณะที่ประเทศจีนซึ่งติดอันดับที่ 13 ในปีที่แล้วก็มีการนำคริปโตไปใช้มากขึ้นในปีนี้ จนสามารถกลับขึ้นมาติดอันดับที่ 10 ได้สำเร็จ (จีนเคยติดอันดับ 4 ในปี 2563) สวนทางกับนโยบายการแบนคริปโตในประเทศที่กลับมีส่วนผลักดันการเพิ่มอัตราการนำคริปโตไปใช้

รายงานดัชนีการยอมรับคริปโตเคอร์เรนซีประจำปี 2021 ที่ Chainalysis จัดทำเมื่อปีที่ผ่านมา ระบุว่า โลกให้การต้อนรับเงินตราดิจิทัลมากขึ้น โดยอัตราการยอมรับพุ่งทะยานถึงกว่า 880% นับจากปี 2020 ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลหลุดพ้นจากรัศมีการเก็งกำไรของกองทุนบริหารความเสี่ยงหรือธุรกิจต่างๆ หลายประเทศทั่วโลกเริ่มแสวงหาหนทางเข้าสู่แวดวงคริปโตหรือมีอัตราการยอมรับเงินดิจิทัลมากขึ้น ปริมาณการทำธุรกรรม P2P มีสัดส่วนสูงมากในกิจกรรมคริปโตโดยรวม โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือปกป้องเงินออมในช่วงที่ค่าเงินของประเทศอ่อนตัว และเพื่อรับ-ส่งเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งทำธุรกรรมทางธุรกิจ

เวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญที่ช่วยให้ลูกค้าใช้คริปโตในการดำเนินชีวิตปกติ เช่น ซื้อบัตรของขวัญด้วยบิทคอยน์ แมตต์ อัลบอร์ก นักวิเคราะห์ข้อมูล P2P กล่าว

คิม กรูเออร์ ผู้อำนวยการวิจัยของ Chainalysis อ้างอิงคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า ปัจจัยหนุนนำการยอมรับคริปโตในเวียดนามคือ การที่คนชาตินี้ขึ้นชื่อเรื่องการเสี่ยงโชค และการที่หนุ่มสาวซึ่งเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ไม่สามารถลงทุนในกองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นได้ ขณะที่ โบแอซ โซบราโด นักวิเคราะห์ข้อมูลเทคโนโลยีการเงิน กล่าวว่า ประเทศที่ติดอันดับต้นๆ ในตารางยังมีอีกสิ่งที่เหมือนกันคือ รัฐบาลควบคุมด้านเงินทุนอย่างเข้มงวด

Finder.com เว็บไซต์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน 42,000 คนใน 27 ประเทศในทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกา พบว่า เวียดนามมีสถิติการยอมรับคริปโตสูงสุด โดย 41% ของผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่าเคยซื้อคริปโต, 21% เคยซื้อบิทคอยน์ ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในปัจจุบัน

“การโอนเงินข้ามประเทศอาจเป็นแรงจูงใจสำคัญในการซื้อคริปโตในเวียดนาม เนื่องจากคริปโตเป็นตัวเลือกของชาวต่างชาติที่ต้องการส่งเงินกลับบ้านโดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการแลกเงิน” รายงานของ Finder ระบุ

ขณะที่งานวิจัยของ Statista แสดงให้เห็นว่า ประเทศเวียดนามมีการใช้คริปโตเคอร์เรนซี่และ NFT สูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 21% ของชาวเวียดนามทั้งหมด นักวิเคราะห์ยังสะท้อนภาพว่า ประเทศเวียดนามมีศักยภาพในการเป็นผู้บุกเบิกบล็อคเชนอีกด้วย

ในปีที่ผ่านมา เวียดนามเริ่มศึกษาเชิงลึกเพื่อวางกฎระเบียบควบคุมอุตสาหกรรมคริปโต หลังคาดการณ์ว่าตัวเลขการใช้เงินดิจิทัลของชาวเวียดนามจะเพิ่มขึ้น 30 เท่าในปี 2030 กฎหมายใหม่จะส่งผลดีในระยะยาวทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น สร้างรายได้ให้รัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีการเทรดคริปโต ทั้งยังช่วยป้องกันการฉ้อโกงและการหลอกลวง สร้างสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่นและเอื้ออำนวยสำหรับนักลงทุนและสตาร์ทอัพ ตอบรับนโยบายสังคมไร้เงินสด ซึ่งแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐบาลเวียดนาม กำหนดเป้าหมายไว้ว่า การทำธุรกรรมที่ไม่ใช้เงินสดจะมีอัตราเติบโตปีละ 20-25%  กฎหมายใหม่จะรับประกันสภาพแวดล้อมที่ปกป้องผู้บริโภค และทัศนคติของรัฐบาลต่อคริปโตจะเปลี่ยนจากการตั้งรับด้วยการให้คำแนะนำ เป็นการเตือนด้วยเครื่องมือป้องกันเชิงรุก ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมากขึ้น เพื่อไม่ให้นักลงทุนหนีไปเทรดคริปโตนอกประเทศ

สำหรับประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า ติดอยู่ในกลุ่มท็อปเทน โดยรั้งอันดับ 8 แต่อันดับของไทยน่าจะดีกว่านี้ถ้ามีการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ติดหล่มกฎหมายที่กำกับดูแลโดย ก.ล.ต. ที่บางกฎเกณฑ์ยังหาความชัดเจนไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอยู่เนืองๆ จนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจคริปโตไม่เป็นอันทำมาหากิน ต้องคอยติดตามดูว่ากฎระเบียบที่ ก.ล.ต.ประกาศออกมานั้นจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง เพราะถ้ามีการประกาศเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบแบบกะทันหัน แล้วบริษัทไหวตัวไม่ทัน หรือไหวตัวช้า นอกจากจะถูก ก.ล.ต. เพ่งเล็งแล้ว ยังโดนนักลงทุนตั้งข้อสงสัยว่ามีพฤติกรรมดื้อแพ่งหรือเข้าข่ายกระทำความผิดโดยเจตนาหรือเปล่า?

ที่สำคัญคือกฎระเบียบบางอย่าง ครั้งหนึ่งเคยทำได้ แต่ต่อมากฎหมายระบุว่าทำไม่ได้ กลับโดนความผิดย้อนหลัง ทั้งที่ตามหลักการของกฎหมายไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น หรือ การกำหนดคุณสมบัติการออกเหรียญดิจิทัลที่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ว่า “ความสมดุล” อยู่ตรงไหน จนสร้างความสับสนอลหม่านและบั่นทอนธุรกิจนี้ให้ลดความน่าเชื่อถือโดยใช่เหตุ

แม้กระทั่งการออกกฎระเบียบบางอย่างเข้มงวดกับริษัทคริปโตไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้ อาทิ การกำหนดให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนทำธุรกิจคริปโตได้เฉพาะการเปิดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ไม่สามารถเป็นโบรกเกอร์ไลเซ่นส์ หรือ เป็นผู้จัดการการลงทุนได้ ทั้งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์กำหนด กลายเป็นความลักลั่นและมีคำถามไปยัง ก.ล.ต.ว่าจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร?

หรือการเตรียมกำหนดมูลค่าการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลขั้นต่ำ 5,000 บาท สำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่กำลังเปิดรับฟังความเห็นอยู่ในขณะนี้ ทั้งที่กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องการให้ช่องทางนี้เป็นการออมรูปแบบหนึ่ง จึงไม่ระบุราคาซื้อขายขั้นต่ำ และเมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น มีลูกหลานน้อยลง งบประมาณเบี้ยยังชีพวัยชรารัฐบาลก็มีจำกัด เมื่อการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดราคาซื้อขายเริ่มต้น 5,000 บาทเทียบเท่าตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นการแปรเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการลงทุนระยะยาว เป็นการลงทุนในรูปแบบการออมเงิน เปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยๆ อาจจะถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย ก็ฝาก ก.ล.ต.ในฐานะผู้กำกับดูแลพิจารณาประเด็นนี้ให้ถ้วนถี่ เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวันนี้ ไม่ได้แข่งขันในอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ แต่เป็นการใช้ “ดิจิทัล” ชิงความได้เปรียบในโลกยุคใหม่

เมื่อไม่นานมานี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross domestic product: GDP) ระบุว่า จีดีพีของประเทศไทยขยายตัวอยู่ที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสที่ 2/2565 เป็นตัวเลขน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวที่ 3.1 เปอร์เซ็นต์ และยังเป็นตัวเลขการขยายตัวของจีดีพีที่น้อยกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนามซึ่งมีจีดีพีขยายตัวอยู่ที่ 7.7 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเติบโตของเวียดนามพุ่งขึ้นก้าวกระโดดในอัตราเร่งที่สูงกว่าไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 3% ในขณะที่เวียดนามเติบโตเฉลี่ยปีละ 6%  ขณะเดียวกัน ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนามสูงกว่าไทยมาหลายปี โดย FDI ที่ไหลเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ปี 2554 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท และปี 2562 อยู่ที่ 4.65 แสนล้านบาท ขณะที่ FDI ที่ไหลเข้ามาลงทุนในไทย ปี 2554 อยู่ที่ 74,100 ล้านบาท และ 1.89 แสนล้านบาท ในปี 2562 และใน 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยมีการลงทุนแบบรายเดือนสะสมอยู่เพียง 1.3 แสนล้านบาท ลดลง 53% จากปี 2564 ตรงกันข้ามกับช่วง 5 เดือนแรกในปี 2565 ที่ FDI ในเวียดนามมีมูลค่ากว่า 6.62 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 95%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

แม้ในภาพความเป็นจริงเศรษฐกิจไทยวันนี้ยังคงเหนือกว่าเวียดนามหลายช่วงตัว แต่เราจะรักษาสถานะความเข้มแข็งนี้ไว้อย่างไร ถ้าไม่ส่งเสริม “คลื่นลูกใหม่” ที่มีพลังช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ซึ่งเรามีสตาร์ทอัพระดับโลกพร้อมกรุยทางสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล นำพาประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง แต่หากยังปล่อยให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยกับเวียดนาม เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรอ 20-30 ปี เศรษฐกิจเวียดนามอาจเติบโตกระโจนทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น อย่าให้ใครเยาะเย้ยได้ว่า เศรษฐกิจไทยพ่ายเวียดนามเพราะคริปโตเคอร์เรนซี ทั้งที่เราเหนือกว่าเขาทุกอย่าง?

บทความก่อนหน้านี้
บทความถัดไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts