วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินจับตา! “สินทรัพย์ดิจิทัล”

Related Posts

จับตา! “สินทรัพย์ดิจิทัล”

“…สำหรับคนที่ได้ทดลองใช้งานสกุลเงินเหล่านี้ พวกเขาได้พบวิธีใหม่ในการชำระเงินโดยไม่ต้องสนใจตัวกลางอย่างธนาคารอีกต่อไป ยอมรับว่าสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ของแต่ละประเทศ สามารถลดเวลาในการชำระหนี้ข้ามพรมแดนลงเหลือไม่กี่วินาที แม้กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ก็เตรียมทดสอบการใช้งานจริง (Pilot Test) ของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับรายย่อย (Retail CBDC) ด้วยมาร์เก็ตแคปของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกในปัจจุบันที่มีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 61 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าของเศรษฐกิจไทยเกือบ 4 เท่า หากได้รับการพัฒนา ส่งเสริม อย่างถูกทิศ ถูกทาง สินทรัพย์ดิจิทัลน่าจะกลายเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางอย่างแท้จริง ก.ล.ต.ต้องตั้งธงการกำกับดูแลอย่างเท่าเทียมกันทั้งรายใหม่ รายเก่า รายใหญ่ รายเล็ก ไม่เกิดความลักลั่น ได้เปรียบ เสียเปรียบ ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมีคุณภาพ…”

แม้ในช่วงที่ผ่านมาสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซีจะถูกมองว่าเป็นสกุลเงินเถื่อน มีความผันผวน ปราศจากมูลค่าที่แท้จริง รวมถึงอาจเป็นช่องทางการฟอกเงินที่ผิดกฎหมาย แต่ด้วยระบบการเคลื่อนที่ของเงินคริปโตฯ ที่ผ่านเทคโนโลยี “บล็อกเชน” ในการ “บันทึก” ข้อมูลธุรกรรมทั้งหมดจากคนกลางที่มีความน่าเชื่อถือ ในการบันทึกข้อมูลแต่ละชุด อย่างเป็นอิสระต่อกัน ก็ทำให้ข้อกล่าวหาว่าเป็นช่องทางการฟอกเงินไร้น้ำหนัก เนื่องจากระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์จากผู้คนทั่วทั้งโลกในการบันทึกข้อมูล ทำให้ข้อมูลทุกชุดถูกสร้างความสัมพันธ์ให้เชื่อมโยงกัน เสมือนการสร้างห่วงโซ่ที่ผูกทุกชุดข้อมูลเอาไว้อย่างแน่นหนา เพื่อทำให้ชุดข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นข้อมูลที่ทุกคนในโลกเชื่อถือได้อย่างสมบูรณ์

สำหรับคนที่เป็นสาวกสกุลเงินดิจิทัลหรือได้ทดลองใช้งานสกุลเงินเหล่านี้ พวกเขาได้พบวิธีใหม่ในการชำระเงินโดยไม่ต้องสนใจตัวกลางอย่างธนาคารอีกต่อไป คริปโตเคอร์เรนซีดึงดูดคนให้เข้าสู่แพลตฟอร์มด้วยการอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแลกซื้อรถยนต์ ศิลปะ หรืออสังหาริมทรัพย์ที่นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นทรัพย์สินในการซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม รวมถึงการจ่ายค่าส่วนกลางได้ โดยลูกค้าสามารถใช้เหรียญคริปโตฯ ชำระแทนเงินสดกับโครงการ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในแง่ของการจ่ายเงิน เป็นการปรับตัวสู่สังคมแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นอีกก้าวของการเติบโตในการสร้างรายได้เพิ่มและพลิกการเปลี่ยนแปลงของโลกบริการทางการเงินดิจิทัล หรือ Digital Financial Service โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสนใจในตลาดคริปโต

แม้ว่าฝั่งที่ไม่เห็นด้วยพยายามที่จะโจมตีสกุลเงินดิจิทัลมาโดยตลอด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อตัวขึ้นในโลกยุคใหม่ แม้สินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันยังไม่ถือเป็นเงินตราตามกฎหมาย แต่การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในรูปแบบต่างๆ มีลักษณะเป็นการแลกเปลี่ยน (barter trade) ระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลกับสินค้าและบริการที่ผู้ให้และผู้รับตกลงยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน ทำให้ความนิยมสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเงินดิจิทัลของรัฐบาลหลายประเทศ ซึ่งธนาคารแห่งชาติทั่วโลกกำลังเร่งศึกษาเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศ (Central Bank Digital Currencies “CBDC”) เพื่อการชำระในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ยอมรับว่าสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ของแต่ละประเทศ สามารถลดเวลาในการชำระหนี้ข้ามพรมแดนลงเหลือไม่กี่วินาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลาหลายวัน แม้กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ก็เตรียมทดสอบการใช้งานจริง (Pilot Test) ของสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับรายย่อย (Retail CBDC) พร้อมกับเปิดให้ผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมเข้ามาพัฒนาเชื่อมต่อระบบไปพร้อมกัน เริ่มจากทดลองใช้ในวงจำกัดภายใน ธปท. ก่อนที่จะขยายไปยังร้านค้าขนาดใหญ่และประชาชนทั่วไป เป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาเงินรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากเงินที่เราใช้อยู่ปัจจุบัน

แม้ปัจจุบันเหรียญคริปโตฯ อาทิ บิทคอยน์ หรือ อีเธอเรียม ยังไม่มีหลักประกัน โดยการเคลื่อนไหวของราคาจะขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อ (Demand) และความต้องการขาย (Supply) ในแต่ละช่วงเวลา แต่ก็ถูกสร้างขึ้นมาให้เหมือนเป็นเงินสกุลหนึ่ง (Currency Token) สามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้จริงๆ ด้วยมาร์เก็ตแคปของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกในปัจจุบันที่มีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 61 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าของเศรษฐกิจไทยเกือบ 4 เท่า หากได้รับการพัฒนา ส่งเสริม อย่างถูกทิศ ถูกทาง สินทรัพย์ดิจิทัลน่าจะกลายเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ ช่วยขับเคลื่อนประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางอย่างแท้จริง

สำหรับประเทศไทย หนึ่งในนโยบายสำคัญ คือการนำพาประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลางภายในปี 2572 ซึ่งในอดีตการเพิ่มปริมาณผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี รัฐบาลจะมุ่งเป้ารายได้จากเครื่องยนต์หลักๆ คือ การส่งออก การลงทุน และ การท่องเที่ยว แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การเดินทางหยุดชะงัก รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง การลงทุนถูกผ่องถ่ายไปยังดินแดนเกิดใหม่ การส่งออกเริ่มถูกบีบด้วยกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ การขับเคลื่อนจีดีพีด้วยอุตสาหกรรมดั้งเดิมเริ่มถูกตั้งคำถามว่าเพียงพอหรือไม่ในการผลักดันประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง ขณะที่โลกเริ่มหยิบยกเรื่องเศรษฐกิจอวกาศ เศรษฐกิจดิจิทัล มาพูดคุยในเวทีสำคัญ รวมถึงการเปิดช่องให้สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี เป็นอีกหนึ่งทางเลือกด้านการลงทุนที่มีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็ว

แม้จะยังมีการถกเถียงกันว่าสุดท้ายโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลจะลงเอยแบบใด แต่มูลค่าตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันที่เพิ่งเริ่มต้นก็มีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้กับมูลค่าของบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกอย่างแอปเปิล ซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

อัตราการเติบโตในมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลอันน่าทึ่งของการจัดประมูลงานศิลปะในรูปแบบ Phygital ครั้งแรกในเมืองไทย ที่นำผลงานศิลปะมาผสมผสานเป็น Digital NFT เปิดโอกาสให้ศิลปินได้สร้างผลงานศิลปะที่แปลกใหม่และขยายวงการศิลปะให้ก้าวข้ามกาลเวลาไปสู่ยุคสมัยอันเหนือจินตนาการ ที่ผู้ประมูลได้จะเป็นเจ้าของคนเดียวในโลก ในงานนั้นมีการประมูลผลงาน Digital NFT ภาพหนึ่งไปในราคา 1 ล้านบาท ผ่านไปเพียง 1 เดือนมีคนขอซื้อภาพนี้ต่อในราคา 3 ล้านบาท แสดงให้เห็นการเติบโตของมูลค่าที่เหนือความคาดหมาย ว่ากันว่าภาพของศิลปินเมืองไทยที่เคยขายได้ในราคาสูงสุดประมาณ 20 ล้านบาทต่อภาพ หากมีการนำมาดีไซน์ผสมผสานใหม่ในรูปแบบ Digital NFT ราคาของภาพอาจพุ่งทะลุ 100 ล้านบาทกันเลยทีเดียว

ขณะที่การเติบโตของธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซีบ้านเรา กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทะยานได้แม้ในยุคการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เติบโตในระดับหลักพันเปอร์เซ็นต์ ทำให้นักธุรกิจหลายกลุ่มเริ่มจับตามองเพื่อกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งสถาบันการเงิน นั่นคือสิ่งที่ ก.ล.ต.ต้องตั้งธงการกำกับดูแลอย่างเท่าเทียมกันทั้งรายใหม่ รายเก่า รายใหญ่ รายเล็ก ไม่เกิดความลักลั่น ได้เปรียบ เสียเปรียบ ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี ก็ไม่ต่างจากการลงทุนทั่วไป “ในดีมีเสีย ในเสียมีดี” การให้ความรู้ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงของเหรียญบิทคอยน์ในช่วงที่ผ่านมา ย่อมลงแรงตามวัฏจักรแห่งความผันผวน แม้จะมีการประเมินว่าขาขึ้นรอบใหม่ของบิทคอยน์และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า หลังผ่านพ้นช่วงการปรับฐานครั้งใหญ่ โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่าคริปโตยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และยังจะเติบโตมากกว่าหุ้นเทคโนโลยีอีกด้วย แต่ถ้าลงทุนแบบไร้สติ ปราศจากความรู้ความเข้าใจ มีความโลภที่เป็นที่ตั้ง สุดท้ายก็กลายเป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟที่ยังคงเห็นได้เกลื่อนกราดในตลาดหุ้น

“การลงทุนมีความเสี่ยง  ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน” ยังเป็นประโยคอมตะใช้ได้ไม่ตกยุค!!!

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts