วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินเจ้าสัว!ซื้อหุ้น “ซิปเม็กซ์” ชัวร์ไหม? ก.ล.ต.อย่าพลาดซ้ำสอง

Related Posts

เจ้าสัว!ซื้อหุ้น “ซิปเม็กซ์” ชัวร์ไหม? ก.ล.ต.อย่าพลาดซ้ำสอง

“…เมื่อมีรายงานว่า “ประยุทธ มหากิจศิริ” นักธุรกิจรายใหญ่ จะเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในซิปเม็กซ์ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 5 – 6 พันล้านบาท หากกระแสข่าวดังกล่าวเป็นความจริง ย่อมถือเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุน เพราะ Zipmex ประเทศไทย จะมีเงินมาเคลียร์คืนนักลงทุน 3,800 ราย ที่ได้รับความเสียหายรวมมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท…”

ครบ 3 เดือนเต็มเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (EXCHANGE) “Zipmex” ซึ่งมีบริษัทแม่ในสิงคโปร์ นำผลิตภัณฑ์ “Zipup+” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไทยฝากสินทรัพย์ไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ ไปลงทุนในแฟลตฟอร์มสินเชื่อคริปโตฯ ของ บาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) และ เซลเซียส (Celsius) ซึ่งทั้งสองแห่งต่างประสบปัญหาจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทั้งสองบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงิน ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน Zipup+ โดยเฉพาะ บิทคอยน์ (BTC), อีเธอเรียม (ETH), USDTและ USDC เป็นต้น ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ส่งผลให้ Zipmex ประเทศไทย ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดคริปโตฯ และลูกค้านักลงทุนเป็นวงกว้าง เบื้องต้นมีความเสียหายเกิดขึ้นราว 2,000 ล้านบาท จากผู้เสียหาย 3,800 ราย

ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ในการทำหน้าที่ของธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯ หากมีการรับฝากทรัพย์สินของลูกค้า มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนว่า “บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย” แต่กลับมีการนำสินทรัพย์ของลูกค้าไปลงทุนในแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดย ก.ล.ต.ระบุว่า ไม่เคยมีการหารือเรื่องนี้กับผู้บริหาร Zipmex ประเทศไทย ได้รับแจ้งตอนมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ทำให้สังคมเกิดความสงสัยว่า ทำไม ก.ล.ต.เพิ่งได้รับแจ้งเมื่อเกิดเหตุแล้วในวันที่ 20 ก.ค.65 ทั้งที่โปรแกรม ZipUp+ ให้บริการมานานนับปี สื่อสาธารณะรายงาน มีการรีวิวจำนวนมาก ลากยาวมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว แต่ ก.ล.ต.กลับไม่ทราบเรื่องนี้

ล่าสุด เกิดข่าวลือสะท้านวงการคริปโตเคอร์เรนซี่อีกครั้ง เมื่อมีรายงานว่า “ประยุทธ มหากิจศิริ” นักธุรกิจรายใหญ่ จะเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในซิปเม็กซ์ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 5 – 6 พันล้านบาท เนื่องจากมองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลของซิปเม็กซ์ยังมีมูลค่า ประกอบกับ “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” บุตรชายของ “ประยุทธ มหากิจศิริ” ก็เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ใน Zipmex Asia Pte.Ltd. สัดส่วน 35,264 หุ้น และถือผ่านบริษัท วี เวนเจอร์ส เทคโนโลจีส์ จำกัด (บริษัทในเครือ บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA)) อีกจำนวน 70,529 หุ้น โดย Zipmex Asia Pte. Ltd. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย) ในสัดส่วน 93.23% การเข้ามาเติมเม็ดเงินของเจ้าสัวประยุทธ์แม้จะเป็นเรื่องฮือฮา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย

หากกระแสข่าวดังกล่าวเป็นความจริง ย่อมถือเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุน เพราะ Zipmex ประเทศไทย จะมีเงินมาเคลียร์คืนนักลงทุน 3,800 ราย ที่ได้รับความเสียหายรวมมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนจาก “ประยุทธ มหากิจศิริ” ว่า กระแสข่าวดังกล่าวมีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด 

ขณะที่ภาพลักษณ์ของ “ซิปเม็กซ์” ในช่วงที่ผ่านมาต้องถือว่าสูญเสียไปพอสมควร มีลูกค้าจำนวนมากทยอยปิดบัญชีและโยกย้ายสินทรัพย์ดิจิทัลออกไปเปิดบัญชีกับกระดานเทรดรายใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้อีกเมื่อไหร่

นอกจากการกู้คืนภาพลักษณ์แล้ว ซิปเม็กซ์ยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิมที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จาก ก.ล.ต. โดยเฉพาะ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ที่มีมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 90% และผู้เล่นรายใหม่ อย่าง “กัลฟ์ ไบแนนซ์” ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มพลังงานรายใหญ่ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ (GULF) และ Binance Capital Management ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลก โดยจะเปิดดำเนินธุรกิจและขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร็วๆ นี้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมาสั่งให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้มงวดตรวจสอบผู้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อสินทรัพย์ทุกราย ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมายการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 อย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับบริษัท ซิปเม็กซ์  จำกัด แถมยังกำชับ ก.ล.ต.ให้เข้มงวดตรวจสอบการทำธุรกรรมของซิปเม็กซ์ว่า เป็นไปตามข้อกฎหมายหรือไม่ รวมถึงสั่งการให้ประสานงานกับหน่วยงานรัฐของประเทศสิงคโปร์  กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว

ก.ล.ต. จึงต้องเช็คข้อมูลโดยด่วนว่า การเข้าถือหุ้นของเจ้าสัว  “ประยุทธ มหากิจศิริ” มีความจริงหรือไม่ เพียงใด ถ้าเกิดขึ้นจริงก็ต้องเร่งรัดให้ทางซิปเม็กซ์นำเงินมาเคลียร์คืนนักลงทุนโดยเร็ว

แต่ถ้าเป็นเพียงข่าวโคมลอย เพื่อยื้อเวลาเคลียร์หนี้ อันนี้ ก.ล.ต.จะนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร?

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts