วันเสาร์, พฤษภาคม 4, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินก้าวทันพัฒนา-นวัตกรรม  แน่ใจนะว่า ก.ล.ต. ไทย ทำได้ ถ้าไม่หมกมุ่น-วุ่นวายกับงานตามใบสั่ง ในวันที่หลักฐานชัด คริปโตเคอร์เรนซี่ ขึ้นแท่นอันดับ 1  เอกชนทั่วโลกคว้าโอกาส   

Related Posts

ก้าวทันพัฒนา-นวัตกรรม  แน่ใจนะว่า ก.ล.ต. ไทย ทำได้ ถ้าไม่หมกมุ่น-วุ่นวายกับงานตามใบสั่ง ในวันที่หลักฐานชัด คริปโตเคอร์เรนซี่ ขึ้นแท่นอันดับ 1  เอกชนทั่วโลกคว้าโอกาส   

“…..นักลงทุนทั่วไปก็ยังตั้งคำถามว่า บุคลากรทักษะด้านคริปโตเคอร์เรนซี่ในประเทศไทยมีเพียงพอหรือไม่ หรือแม้แต่คำถามที่ว่า ใน ก.ล.ต.เอง วันนี้ผู้หลักผู้ใหญ่มีความสามารถเท่าทันการพัฒนาของเอกชนจริงหรือไม่? เขาเชื่อว่าบิตคอยน์เป็นการลงทุนที่ดี เนื่องจากรัฐบาลหลายๆ ประเทศเริ่มออกนโยบายเงินเกษียณเป็นบิตคอยน์แล้ว ด้านธนาคารแห่งชาติอังกฤษได้เปลี่ยนไปซื้อ GSBC (ทองคำ, เงิน และ Bitcoin) ปกติกองทุนเงินเกษียณมักจะลงทุนทองคำ และเงิน แต่ตอนนี้หันไปลงทุน Bitcoin แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าเวลานี้ สมาร์ทมันนี่ทั้งหลายกำลังจ้องสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอนาคต อีกทั้งในการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง 2,000 คนจากธุรกิจค้าปลีกต่างๆ เช่น อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ การขนส่ง เสื้อผ้า และเครื่องสำอาง เกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี่เคอร์เรนซี่ และสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า กว่า 85% ระบุว่า การสนับสนุนการชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซี่เคอร์เรนซี่เป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดของบริษัทของตน..”

Mr. Ian Johnston, Chief Executive  Dubai Financial Services Authority (DFSA) เมืองดูไบ  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  พูดคล้ายกับสอนมวยต่อหน้า  เลขาฯ ก.ล.ต. ไทย  บอกว่า  “ด้วยพัฒนาการในภาคบริการทางการเงินเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หน่วยงานกำกับดูแลจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือระหว่างสองประเทศ  DFSA เชื่อมั่นว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่าง DFSA และ ก.ล.ต. เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินทั่วโลกจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ”

ท่ามกลางการเติมโตในวงการคริปโตเคอร์เรนซี่ ทั่วโลกที่มุ่งหวังพัฒนาให้สาธารณะชนเข้าถึงง่าย และเท่ากันกับการใช้ประโยชน์ แต่ถ้าหน่วยงานคุมกฎไทย ไม่สามารถเบิกเนตรตัวเองได้เท่าที่ควร นักลงทุนไทยมีหวังล้าหลังชาวโลกอีกตามเคย ทั้งที่หลักฐานการเติบโตทั้งในเหรียญดิจิทัลหลักและเหรียญรองมีให้เห็นแทบทุกวัน จนผู้เชียวชาญในแวดวงธุรกิจไม่อยากพลาดโอกาส ต่างชี้ตรงกันว่า เงินดิจิทัลคือโลกยุคใหม่ที่วงการลงทุนและโลกธุรกิจต้องคว้าไว้ให้จงได้

ผู้เขียนหนังสือ “พ่อรวยสอนลูก” หรือ โรเบิร์ต คิโยซากิ (Robert Kiyosaki) ได้ออกมาให้คำแนะนำให้นักลงทุนหาทางรักษาความมั่งคั่งทางการเงินของตัวเองเอาไว้ในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ผ่านทางแอคเคาท์ทวิตเตอร์ส่วนตัวที่มีชื่อว่า @theRealKiyosaki โดยสัดส่วนการลงทุนไปที่ทองคำ, เงินและ บิตคอยน์

“ทองคำ, เงิน,บิตคอยน์ จะช่วยประคองความมั่งคั่งของคุณได้ แต่ไม่ใช่รายได้ของคุณนะ จากที่สภาพเศรษฐกิจแย่, ตลาดหุ้นก็แย่, เงินเกษียณ และอัตราว่างงานที่สูงขึ้น การลงทุนอาจทำให้เกิดรายได้ ระมัดระวังด้วย” ทิ้งท้ายว่า “บิตคอยน์” เป็นการลงทุนที่ดี

เหตุผลที่เขาเชื่อว่าบิตคอยน์เป็นการลงทุนที่ดี เนื่องจากรัฐบาลหลายๆ ประเทศเริ่มออกนโยบายเงินเกษียณเป็นบิตคอยน์แล้ว

ด้านธนาคารแห่งชาติอังกฤษได้เปลี่ยนไปซื้อ GSBC (ทองคำ, เงิน และ Bitcoin) เมื่อเงินเกษียณแทบจะล่ม แสดงให้เห็นว่าธนาคารกลางไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อได้ ปกติกองทุนเงินเกษียณมักจะลงทุนทองคำ และเงิน แต่ตอนนี้หันไปลงทุน Bitcoin แล้ว”

สะท้อนให้เห็นว่าเวลานี้ สมาร์ทมันนี่ทั้งหลายกำลังจ้องสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีอนาคต ไว้ในครอบครองในช่วงราคาถูก นักลงทุนรายย่อยหากไม่เร่งเครื่อง ก็จะต้องได้ทุนสูงติดดอยหลังจากบรรดากองทุนได้ทุ่มเงินกระจายความเสี่ยงแล้ว

หากลองเปรียบเทียบความเนื้อหอมของสกุลเงินหลักอย่าง Bitcoin  ก็จะพบว่าเวลานี้ ของมูลค่าตามราคาตลาด ณ ช่วงเดือนตุลาคม 2565 มูลค่ารวมอยู่ราวๆ 370 พันล้านดอลลาร์ ขึ้นไปเทียบชั้นใกล้เคียงกับธุรกิจเก่าแก่ในอเมริกาอย่าง Walmart ที่มีมูลค่า 363.93 พันล้านดอลลาร์ และ Meta Platform เจ้าของแพลตฟอร์ม Facebook ที่มีมูลค่า 360.58 พันล้านดอลลาร์

สื่อรายงานว่ามูลค่ามหาศาลขนาดนี้ ทำให้บิตคอยน์ขึ้นแท่นอันดับสูงสุดเมื่อเทียบกับทุนธนาคารยักษ์ของอเมริกาแล้ว 

  • Bitcoin  มูลค่ารวมอยู่ราวๆ 370 พันล้านดอลลาร์
  • JPMorgan Chase สถาบันการเงินในสหรัฐ  มูลค่าตามราคาตลาด 349.31 พันล้านดอลลาร์
  • Bank of America มูลค่าตลาด 280.26 พันล้านดอลลาร์
  • Wells Fargo 169.54 พันล้านดอลลาร์
  • Morgan Stanley 134.57 พันล้านดอลลาร์
  • Charles Schwab 130.15 พันล้านดอลลาร์

ด้านเอกชนไทยรายหนึ่งที่พลิกธุรกิจขึ้นมา กระโดดเข้าสู่วงการบิตคอยน์ บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ JTS” จากเดิมดำเนินธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ แตกไลน์ธุรกิจบริหารพอร์ตการลงทุนใหม่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  พลิกธุรกิจในช่วง 2 ปีมา ผลประกอบการจากขาดทุน สู่กำไรหลักหลายสิบล้านต่อปี จนกลายเป็นหลายร้อยล้านต่อปีได้ในที่สุด

และยังไม่ท้อใจกับราคาบิตคอยน์ในช่วงการพักฐานสู้กับดอกเบี้ยขาขึ้นของอเมริกายังตั้งเป้าจะลงทุนกำลังขุดเพิ่มขึ้น  โดยใช้กำลังการผลิตจากระบบไฟฟ้าพลังงานสะอาด

โดยในไตรมาส 2 ปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 536.75 ล้านบาท กำไรลดลง 41.35 % หรือ 24.54 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน บันทึกด้วยค่ามูลค่าเหรียญบิตคอยน์ 30.16 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนเหมืองขุดบิตคอยน์และค่าใช้จ่ายในการขาย และบริหาร ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เพิ่มขึ้น 95.78 ล้านบาท หรือ 25.75% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พร้อมกับติดตั้งเครื่องขุดบิตคอยน์รวม 927 เครื่อง และเหลือส่งมอบอีก 2,599 เครื่องในปีนี้ เพื่อเร่งกำลังขุดเพิ่ม  คาดว่าราคาบิตคอยน์จะปรับตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์ตลาดหมีบิตคอยน์ฟื้นตัวดีขึ้น

JTS เผิดเผยว่า กำลังดำเนินการลงทุนในการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน 4 เมกะวัตต์ (MW) และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ คาดว่าจะมีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานถึง 200 MW ในการผลิตไฟฟ้าและความจุ 570 MW ของการจัดเก็บพลังงานเมื่อมีการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้มั่นใจว่าจะเป็นเหมืองขุดบิตคอยน์ ที่ใช้ “พลังงานสีเขียว” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ พร้อมรับความต้องการในอนาคต

แม้ว่าผลกำไรสิทธิ JTS จะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นสู่หลักร้อยล้านแล้ว  แต่ที่ดูแล้วคุ้มค่ากับนักลงทุนเจ้าของกิจการมากกว่า คือความร่ำรวยมหาศาลจากราคาหุ้น เพราะนับแต่ปี 2021 ไปถึงปี 2022 ราคาหุ้น jts พุ่งจากราคา 2 บาทไปถึง 580 บาท ก่อนจะทุบลงมาเหลือราว 50 บาท แต่นั่นก็ยังเพียงพอให้เจ้าของกิจการคว้าโอกาสทองร่ำรวยอยู่ไม่น้อย

อีกด้าหนึ่ง สุเรช กุมาร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี  (CTO) วอลมาร์ท หนึ่งในเชนห้างค้าปลีกใหญ่ที่สุดของโลก เปิดเผยกลยุทธ์การขยายตัวเชิงรุกของบริษัท พร้อมคาดการณ์ถึงอนาคตที่จะมีการใช้สินทรัพย์คริปโตเคอร์เรนซี่อย่างแพร่หลายในร้านค้าออนไลน์และเมตาเวิร์ส

เขายังบอกอีกว่า วิธีที่ลูกค้าค้นหาผลิตภัณฑ์กำลังเปลี่ยนแปลง และเว็บ 3.0 มีโอกาสรุ่งอย่างมาก โดยพัฒนาการเหล่านี้กำลังปรากฏขึ้นในเมตาเวิร์สและไลฟ์สตรีม

วอลมาร์ทก้าวเข้าสู่โลกคริปโตเคอร์เรนซี่อย่างช้าๆ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกแห่งนี้ ถึงกับเล็งไว้ว่า ตั้งประธานฝ่ายคริปโตเคอร์เรนซี่ โดยเฉพาะ และเมื่อต้นปีได้ยื่นขอเครื่องหมายการค้า 7 รายการสำหรับสกุลเงินเสมือนและ NFT (non-fungible token)

“วอลมาร์ทยังเริ่มต้นสำรวจเมตาเวิร์ส โดยในเดือนพฤษภาคมได้ปล่อยวิดีโอสาธิตประสบการณ์ช้อปปิ้งในระบบความเป็นจริงเสมือน (virtual reality) สำหรับเมตาเวิร์ส และในเดือนกันยายนเพิ่งเปิดตัววอลมาร์ท แลนด์ และวอลมาร์ท ยูนิเวิร์ส ออฟ เพลย์ ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ที่เล่นบนแพลตฟอร์มโรบล็อกซ์”

ไม่ได้มีแค่วอลมาร์ทเท่านั้น แต่ผลสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้โดยดีลอยต์ บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกที่มีฐานอยู่ในลอนดอน พบว่า ห้างค้าปลีกหลายแห่งในอเมริกาต่างอ้าแขนรับสกุลเงินดิจิทัล อาทิ ด้วยการเริ่มรับชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซี่

ในการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง 2,000 คนจากธุรกิจค้าปลีกต่างๆ เช่น อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ การขนส่ง เสื้อผ้า และเครื่องสำอาง เกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี่และสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า กว่า 85% ระบุว่า การสนับสนุนการชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซี่เป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดของบริษัทของตน

เราได้เห็นสัญญาณการเติบโตในวงการคริปโตเคอร์เรนซี่ หลายด้านเหลือเกิน ในวันที่ทั่วโลกอยู่ระหว่างการเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจในเข้ากับเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็วมากที่สุด แม้จะมีอุสรรคที่จะต้องแก้ไข และพัฒนาด้านเทคนิคอยู่ไม่น้อย แต่การไม่ทำอะไรเลยของผู้คุมกฎในบางประเทศ อาจนำไปสู่หนทางหายนะ ล้าหลังในวงการการเงินการลงทุน

ปัญหาด้านเทคนิค วิชาการ เทคโนโลยี ก็หนักหนาสาหัสกับประเทศไทยอยู่แล้วเพราะขาดบุคลากรที่มีความสามารถ จนบางครั้งนักลงทุนทั่วไปก็ยังตั้งคำถามว่า บุคลากรทักษะด้านคริปโตเคอร์เรนซี่ในประเทศไทยมีเพียงพอหรือไม่ หรือแม้แต่คำถามที่ว่า ใน ก.ล.ต. เองวันนี้ผู้หลักผู้ใหญ่มีความสามารถเท่าทันการพัฒนาของเอกชนจริงหรือไม่ เพราะเคยสีข้างถลอกกันมาแล้วในคราวที่ ก.ล.ต. ชี้ให้บิตคับ กระดานเทรดไปบอกให้บล็อกเชนเหรียญคับ ชี้แจงเรื่อง  ‘Admin Transfer’ ทั้งที่เทคโนโลยี ‘Admin Transfer’ ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในเหรียญคับแต่ประการใด เพราะมันคือคนละเทคโลยีกันกับเหรียญชนิดอื่น กลายเป็นบทเรียนต่อข้อคำถามว่า ก.ล.ต. รู้จริงหรือหวังดี  จนกลายเป็นหนี้บุญคุณ ผู้บริหารบิทคับรายหนึ่งต้องออกมาชี้กลายๆ ว่า เขาแค่หวังดี บรรยากาศเช่นนี้ ส่อสะท้อนท่าทีที่เป็นมิตรต่อกันมากขึ้น 

ปัญหาด้านเทคนิค  ผู้เชี่ยวชาญไม่เพียงพอยังพอทน แต่ปัญหาด้านกฎระเบียบทำเอาสังคมคริปโตเคอร์เรนซี่ปวดหัวไม่น้อย  เมื่อได้ฟังทิศทางการวิเคราะห์   จาก “ณัฐนันท์ บ่างสมบูรณ์”   หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา จำกัด  ชี้ว่า ปัจจัยเฉพาะตัว ที่กดดันให้โครงการ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ปรับตัวลงไม่เท่ากัน หรือล้มหายตายจากไปกันบ้าง มีสาเหตุหลักโดยกว้าง ดังนี้

1.โครงการจำนวนมากยังไม่สามารถตอบโจทย์ที่ต้องการแก้ไขได้อย่างแท้จริง อาทิ Gamefi ที่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องความสนุก, Defi ที่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวเงินทุน  ให้ไปสู่โลกจริงได้, NFTs ที่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับสิ่งของมีค่าอื่นๆ นอกจากของสะสมเฉพาะกลุ่มได้ หรือ Stable Coin ที่มีความผันผวน เป็นต้น

2.โครงการ หรือเหรียญจำนวนมาก ยังไม่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ หรือถูกต่อต้าน ทำให้ยากที่จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน จำนวนเงินทุนที่ดูเหมือนว่าจะเยอะ แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับตลาดการเงินทั่วโลก จะพบว่า เงินทุนเหล่านั้นอยู่ในระดับที่จำกัด ทำให้เมื่อตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีแล้ว มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะต่อกรกับการโจมตีได้

อีกส่วนหนึ่งที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายได้อธิบายไว้ก่อนหน้า คือปัญหาด้านการจัดการด้านภาษี หลังมีการออก พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ก็ได้มีออก พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561 ให้รายได้/ผลตอบแทนจากการถือหรือครอบครองสินทรัพย์ดิจิทัล และกำไรจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4) และต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่อัตรา 15%

วันนี้มีความ ไม่ชัดเจนในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะประเด็นการคิดภาษีเงินได้ว่ามีเงินได้เท่าไร คิดต้นทุนอย่างไร นำขาดทุนมาหักกลบกำไรได้หรือไม่ ส่วนประเด็นของการหักภาษี ณ ที่จ่ายก็ยังมีประเด็นอยู่ว่า ผู้ขายจะทราบได้อย่างไรว่าผู้ซื้อมีต้นทุนที่เท่าไร การซื้อขายเกือบทั้งหมดในทุกวันนี้ จึงไม่ได้มีการหักภาษีกันต่างที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากโทเคนดิจิทัลได้รับความนิยม ประเด็นนี้ก็คงเป็นหนึ่งในประเด็นที่เราต้องแก้ไขให้เกิดความชัดเจนในที่สุด

ปรากฎการ “ใกล้เกลือกินด่าง” คนใกล้ตัวอ้อนวอน อธิบาย สอนงาน อาจไม่เชื่อ แต่พอได้ยินคำพูดจากต่างชาติก็อาจจะ พอกระตุ้น ก.ล.ต. ได้ไม่น้อย?

เรื่องนี้เกิดขึ้นในงาน ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยีสำหรับการส่งเสริมนวัตกรรมด้านการให้บริการทางการเงิน ซึ่งครอบคลุมถึงเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกำกับดูแล (RegTech) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565

ครั้งนั้น  ก.ล.ต. ไทย   และ Dubai Financial Services Authority (DFSA) เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการยกระดับความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. และ DFSA ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการกำกับดูแลการให้บริการทางการเงิน ตลอดจนพัฒนาการของนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยี ในตลาดทุนของทั้งสองประเทศ ดูเหมือนบรรยากาศทางข่าวการลงทุนก็เป็นมิตรอยู่มาก  แต่ด้วยความตรงไปตรงมาของต่างชาติ ทำให้ Mr. Ian Johnston Chief Executive, DFSA ให้สัมภาษณ์ในงานต่อหน้า ก.ล.ต. ว่า 

“ด้วยพัฒนาการในภาคบริการทางการเงินเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  หน่วยงานกำกับดูแลจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือระหว่างสองประเทศ DFSA เชื่อมั่นว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่าง DFSA และ ก.ล.ต. เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินทั่วโลกจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ”

ประโยคคำพูดที่ว่า…หน่วยงานกำกับดูแลจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น…. คงเป็นกระบอกเสียงส่งมอบแทนนักลงทุนไทยได้บ้างว่า  คำว่า เท่าทันโลกสะกดอย่างไร?!?

ด้าน นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการริเริ่มสำคัญที่จะช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลทั้งสองประเทศสามารถก้าวทันพัฒนาของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสามารถจัดการกับความท้าทายใหม่ ๆ ได้”

ก็ขออวยพรให้ก้าวทันอย่างรวดเร็ว แบบไม่เช้าชามเย็นชาม และ ก้าวทันพัฒนาของนวัตกรรม ได้อย่างเป็นที่ประจักษ์  และแน่ใจว่า ก.ล.ต. ไทยทำได้ ถ้าไม่หมกมุ่น-วุ่นวายกับงานตามใบสั่ง ของมือที่มองไม่เห็น…?

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts