เบื้องหลัง “ต่อพงศ์ เสลานนท์” โหวตอุ้มดีลควบรวม
ที่แท้อดีตกุนซือความยั่งยืนรถไฟความเร็วสูงก่อนข้ามห้วยนั่งกสทช.
ด้านสภาผู้บริโภคชี้มติควบรวมขัดกฎหมายเตือน กสทช.ตายทั้งกลม
“…การทำหน้าที่ กสทช.ของนายต่อพงศ์ ที่แม้จะอ้างว่า ได้ลาออกจากตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งกุนซือความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ก่อนสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกสทช.แล้วก็ตาม การควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ซึ่งเป็นธุรกิจหลักหนึ่งของกลุ่ม ซีพี.ที่ถือได้ว่า เป็นกิจการที่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง Conflict of Interest ต่อการทำหน้าที่ของตนเองเพราะถือเป็นกิจการที่มีส่วนได้-ส่วนเสีย แต่นายต่อพงศ์ กลับไม่นำพาต่อจริยธรรมข้อนี้ยังคงดึงดันร่วมลงมติ จนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายภาคประชาชนประกาศจะยื่นฟ้อง กสทชต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนมติอัปยศดังกล่าว รวมทั้งจ่อดำเนินคดีอาญาต่อ กสทชด้วย…”
งานไม่ใหญ่แน่นะวิ ! ควันหลงจากมติรับทราบดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” เพราะกสทช.ไม่มีอำนาจยับยั้งเป็นเหตุ โลกโซเชียลแห่ขุดภูมิหลัง ”ต่อพงศ์ เสลานนท์” 1 ใน 2 กสทช.ที่ร่วมลงมติเห็นชอบที่แท้อดีต “กุนซือใหญ่เครือซี.พี.” เป็น 1 ใน 7 คณะที่ปรึกษาความยั่งยืนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ก่อนกระโดดค้ำถ่อเป็น กสทช. ด้านสภาผู้บริโภคชี้มติ กสทช.ผิดกฎหมาย ย้อนแย้งคำพิพากษา
ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางกับมติ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ของ 2 กสทช.ที่เห็นชอบดีลควบรวมธุรกิจระหว่าง”ทรูและดีแทค”ด้วยข้ออ้าง ไม่ถือว่าเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อ 8 ของประกาศกทช.เรื่องมาตรการป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาดฯ ปี 2549 ที่กสทช.อาจสั่งห้ามการควบรวมธุรกิจได้ จึงทำได้เพียงการ”รับทราบ”การควบรวมธุรกิจ และกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อรองรับผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เท่านั้น
*ที่แท้อดีตกุนซือรถไฟความเร็วสูงของ ซีพี.
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกโซเชียลได้ร่วมกันตรวจสอบภูมิหลังของ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งเป็น 1 ใน 2 กสทช.ที่ร่วมลงมติเห็นชอบกับดีลควบรวมอื้อฉาวในครั้งนี้ และพบข้อมูลสุดอึ้งที่ชวนให้สงสัยว่าการลงมติของกสทช.รายดังกล่าวอาจเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน Conflict of Interest ขัดแย้งต่อการทำหน้าที่ กสทช. เนื่องจากนายต่อพงศ์นั้นเคยเป็นกุนซือใหญ่ของเครือซีพี.มาก่อน โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 7 ของ “คณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน” โครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จากบริษัทเอเซียเอราวัน จำกัดในเครือซีพี.ผู้รับสัมปทานโครงการดังกล่าวเมื่อปลายปี 2563
โดยในการแถลงข่าวเปิดตัว “คณะที่ปรึกษาความยั่งยืน”โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเมื่อวันที่ 4 ส.ค.63 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซี.พี.และประธานกรรมการบริหารบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (บริษัทเอเชียเอราวันจำกัดในปัจจุบัน) ระบุว่า ได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงฯเพื่อร่วมขับเคลื่อนรถไฟความเร็วสูงให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
- ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(ขณะนั้น)
- ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
- ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ผศ.ดร.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี
- นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ก่อนที่นายต่อพงศ์จะสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช.ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเวลาต่อมา
*ชี้ผลประโยชน์ขัดแย้ง-Conflict of Interest
ด้วยเหตุนี้ การทำหน้าที่ กสทช.ของนายต่อพงศ์ ที่แม้จะอ้างว่า ได้ลาออกจากตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งกุนซือความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ก่อนสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกสทช.แล้วก็ตาม แต่เมื่อต้องพิจารณาประเด็นการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ซึ่งเป็นธุรกิจหลักหนึ่งของกลุ่ม ซีพี.ที่ถือได้ว่า เป็นกิจการที่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง Conflict of Interest ต่อการทำหน้าที่ของตนเองเพราะถือเป็นกิจการที่มีส่วนได้-ส่วนเสีย โดยสำนึกในการทำหน้าที่แล้ว กสทช.ที่รู้ว่าเป็นประเด็นมีเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ขัดแย้งเช่นนี้ ก็ต้องงดออกเสียง หรือหลีกเลี่ยงการร่วมลงมติตั้งแต่แรก
แต่นายต่อพงศ์ กลับไม่นำพาต่อจริยธรรมข้อนี้ยังคงดึงดันร่วมลงมติและยังยืนยันว่า การควบรวมธุรกิจทรูและดีแทคไม่ถือเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน จึงไม้เข้าข่ายตามประกาศ กทช.ฉบับปี 2549 ทำให้ กสทช.ไม่สามารถจะเข้าไปกำกับดูแล หรือสั่งระงับการควบรวมธุรกิจได้ ทำได้เพียงการรับทราบมติควบรวมธุรกิจ และกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะผู้มีอำนาจเหนือตลาดเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะเท่านั้น จนทำให้สังคมพากันตั้งข้อกังขาว่าเป็นการให้ความเห็นที่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง มี Conflict of Interest ชัดเจน จนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายภาคประชาชนประกาศจะยื่นฟ้อง กสทชต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนมติอัปยศดังกล่าว รวมทั้งจ่อดำเนินคดีอาญาต่อ กสทชด้วย
*สภาผู้บริโภคชี้มติควบรวมผิดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค และอดีตกรรมการ กสทช. เปิดเผยว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ส่งหนังสือด่วนถึง กสทช. เพื่อชี้ให้เห็นว่า มติ กสทช.ที่รับทราบรายงานการควบรวมที่ออกไปก่อนหน้านั้นอาจเป็นมติที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากผิดระเบียบข้อบังคับการประชุมของ กสทช. และมติดังกล่าวยังขัดกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ประกอบถ้อยคำให้การที่ กสทช. ให้ไว้ในการพิจารณาคดีที่ศาลปกครองว่า กสทช. เป็น “ผู้มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาต” ในการพิจารณาการควบรวมบริษัทก่อนหน้านี้ หาก กสทช. ไม่รับฟังการทักท้วงครั้งนี้ อาจถือว่าเป็นเจตนาจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย
ทั้งนี้ การที่ประธาน กสทช.อ้างว่า การพิจารณาลงมติว่าการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดฯ พ.ศ.2549 หรือไม่นั้น ซึ่งผลการลงคะแนนที่ออกมา 2:2:1 แล้วสรุปว่า เป็นคะแนนเสียงที่เท่ากันแล้ว ให้ประธานออกเสียงชี้ขาดเพิ่มอีกหนึ่งเสียงนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบประโยชน์สาธารณะจึงต้องใช้มติพิเศษที่ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากทั้งหมด
และกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน และไม่ใช่กรณีได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนทั้งหมด เนื่องจากกรรมการที่ลงคะแนนเสียงมีทั้งหมด 5 คน มีมติเห็นชอบจำนวน 2 เสียง ลงมติไม่เห็นชอบจำนวน 2 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง ผลการลงมติที่ออกมา จึงต้องถือว่าคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งมาตั้งแต่แรก ตามข้อบังคับที่ 41(2) คือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการ “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนกรรมการทั้งหมด มติดังกล่าวจึงต้องตกไป ดังนั้นการที่ประธานมีคะแนนเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดและกำหนดให้การประชุมดังกล่าวมีมติรับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจึงอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“ดังนั้น การที่ประธาน กสทช. มีการออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเพื่อตัดสินชี้ขาด อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 41 แห่งระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555”
*ขัดแย้งคำพิพากษาศาลปกครอง
นอกจากนี้ การที่ กสทช.ไม่ถือว่าการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ก่อนลงมติว่า กสทช.ไม่มีอำนาจพิจารณา ทำได้เพียงการ ”รับทราบ” มติควบรวมธุรกิจนั้น คำวินิจฉัยของศาลปกครองเรื่องอำนาจของ กสทช. ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต มติของ กสทช. อาจทำให้ กสทช. ต้องเจอปัญหาข้อกฎหมาย
เนื่องจากการลงมติรับทราบดังกล่าวนี้อาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยอ้างถึงคดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ของศาลปกครองกลาง กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้มีการยอมรับต่อศาลว่าสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในการห้ามมิให้มีการรวมธุรกิจ โดยมีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ให้มีการถือครองธุรกิจในประเภทเดียวกัน รวมถึงมีคำสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ อันอาจเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันได้ และศาลปกครองกลางก็ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งรับรองอำนาจดังกล่าวของ กสทช. ด้วย
*ก้าวไกลพร้อมเป็นหัวหอกฟ้องเอาผิด
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ยืนยันว่าทางพรรคก้าวไกลและเครือข่ายผู้บริโภคจะเดินหน้าฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนมติอัปยศของ กสทช.ในครั้งนี้ รวมทั้งจะขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการควบรวมจนกว่าจะมีคำพิพากษา โดยมี 4 ประเด็นหลักที่จะยื่นให้ศาลพิจารณานั่นคือ
1.มติกสทช.ที่อ้างว่าไม่มีอำนาจในการพิจารณา ซึ่งทุกฝ่ายต่างก็ยืนยันว่า กสทช.นั้น มีอำนาจเต็มที่ในการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ และมีอำนาจตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หรือ พรบ.กสทช.และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งศาลปกครองเองก็เคยมีคำพิพากษาและยืนยันไปก่อนหน้านี้แล้วว่า กสทช.มีอำนาจตามกฎหมายที่จะพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต แม้แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ยังยืนยันว่า กสทช.มีอำนาจตามกฎหมายที่จะพิจารณา
2.กระบวนการลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการลงมติในการประชุมนัดพิเศษที่ต้องพิจารณาประเด็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้เสียงข้างมาก 3 ใน 5 เสียง ไม่ใช่การอ้างระเบียบการประชุมปกติแล้วอาศัย กสทช.เพียง 2 คนแต่ให้ประธาน กสทช.ในฐานะประธานที่ประชุมลงมติซ้ำเป็น 3 เสียงแล้วอ้างว่าเป็นมติเสียงข้างมาก ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง จึงถือเป็นการลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.กรณีที่ปรึกษาอิสระคือ บล.ฟินันซ่าจำกัด ซึ่ง กสทช.ดำเนินการว่าจ้างให้เข้ามาศึกษาและจัดทำความเห็นประกอบการพิจารณาดีลควบรวม ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของที่ปรึกษาอิสระรายนี้ถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มทรูที่ยื่นขอควบรวมธุรกิจ จึงเป็นการว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระที่ขาดคุณสมบัติยังผลให้รายงานที่ กสทช.ได้รับนั้นขาดความสมบูรณ์ และมีความโน้มเอียงมาตั้งแต่ต้น
และ 4.ภูมิหลังของ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.ที่ร่วมลงมติเห็นชอบในการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ ที่เคยเป็น 1 ใน 7 คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินของบริษัทเอซียเอราวัน จำกัด ในเครือซีพี.ถือเป็นผู้มีส่วนได้ -ส่วนเสียและมีผลประโยชน์ขัดแย้งอย่างชัดเจน