“…ปฏิเสธไม่ได้ว่า CBDC กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการเงินของโลกครั้งสำคัญอีกครั้ง หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่องอีกทั้ง Guinness World จะบันทึกสถิติว่า “บิทคอยน์” เป็นสกุลเงินดิจิทัลกระจายอำนาจสกุลแรกของโลก และเป็นสกุลเงินดิจิทัลมีมูลค่าสูงที่สุดในโลกแล้ว ยังมีการบันทึกว่าเอลซัลวาดอร์เป็นประเทศแรกของโลกที่ยอมรับ “บิทคอยน์” เป็นสกุลเงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย”
อย่างไรก็ตาม หากเฟดเริ่มส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม นักเทรดอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาบิทคอยน์ที่มีความสำคัญอีกครั้งในปลายปีนี…”
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำลายล้างความเชื่อในหลากหลายธุรกิจอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการเงิน เมื่อสหรัฐพิมพ์เงินเพื่ออัดฉีดให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยปริมาณเงินที่ถูกอัดเข้ามาในระบบจนมีปริมาณสูงมากที่สุดนับตั้งแต่โลกรู้จักนโยบายที่เรียกว่า QE ก่อให้เกิดเงินเฟ้อทั่วโลก ทำให้ “คริปโตเคอร์เรนซี” ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นภาพลวงตา มีตัวตนชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะ “บิทคอยน์” หรือ BTC ที่ทั้งโลกมีเพียง 21 ล้านเหรียญเท่านั้น ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้อีก
ทำให้ BTC มีเสถียรภาพน่าสนใจ แม้จะถูกกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดบ้าง แต่ยังคงรักษาสถานะได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลก ทำให้กลุ่มที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเกิดขึ้นของคริปโตเคอร์เรนซี่ พยายามที่จะโจมตีสกุลเงินดิจิทัลมาโดยตลอด เริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อตัวขึ้นในโลกยุคใหม่อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
น่าสนใจอย่างยิ่งคือ วันนี้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มพัฒนาเงินดิจิทัลของตัวเอง เป็นเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ (Central Bank Digital Currencies) เรียกสั้นๆ ว่า CBDC อาทิ ดอลลาร์ดิจิทัล หยวนดิจิทัล แม้กระทั่งอินเดียก็กำลังพัฒนารูปีดิจิทัล เพื่อการชำระในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านระบบบล็อกเชน โดยไม่ต้องถือเงินสด ซึ่งธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ยอมรับว่าสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือเงิน CBDC ของแต่ละประเทศ สามารถลดเวลาในการชำระหนี้ข้ามพรมแดนลงเหลือไม่กี่วินาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลาหลายวัน
แม้กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เริ่มทดสอบการใช้ “บาทดิจิทัล” หรือ Retail CBDC โดยเปิดให้ผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมเข้ามาพัฒนาเชื่อมต่อระบบไปพร้อมกัน เริ่มจากทดลองใช้ในวงจำกัดภายใน ธปท. ก่อนที่จะขยายไปยังร้านค้าขนาดใหญ่และประชาชนทั่วไป เป็นการแสดงให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาเงินรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากเงินที่เราใช้อยู่ปัจจุบัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า CBDC กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการเงินของโลกครั้งสำคัญอีกครั้ง หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง จากในอดีตที่ใช้ก้อนหิน เปลือกหอย ไข่มุก ฯลฯ เป็นสื่อแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ต้องการซื้อสินค้า กับ ผู้ต้องการขายสินค้า มาเป็นเงินสกุลต่างๆ ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน CBDC จะทำให้ภาพของเงินในชีวิตจริงกับเงินดิจิทัลกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
การเกิดขึ้นของ CBDC ถูกเชื่อมโยงเข้ากับ “คริปโตเคอร์เรนซี่” หรือเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ อาทิ บิทคอยน์ อีเธอเรียม ให้มีตัวตนชัดเจนขึ้น แม้ปัจจุบันคริปโตเคอร์เรนซี่ยังไม่มีหลักประกัน การเคลื่อนไหวของราคาขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อ (Demand) และความต้องการขาย (Supply) ในแต่ละช่วงเวลา แต่ก็ถูกสร้างขึ้นมาให้เหมือนเป็นเงินสกุลหนึ่ง (Currency Token) สามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้จริงๆ ด้วยมาร์เก็ตแคปของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกในปัจจุบันที่มีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 61 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าของเศรษฐกิจไทยเกือบ 4 เท่า ทำให้เหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ได้รับการยอมรับมากขึ้น จากในอดีตที่เคยถูกมองว่าเป็นเงินสกุลเถื่อน ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ มูลค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามความต้องการของตลาด และเคลื่อนไหวผ่านระบบดิจิทัลเท่านั้น แต่ถ้าเงิน CBDC ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลของแต่ละประเทศถูกใช้มากขึ้น เหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ประเภทต่างๆ น่าจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในสกุลเงินดิจิทัล
ประกอบกับการที่ Guinness World Records ได้บันทึกว่า “บิทคอยน์” เป็นสกุลเงินดิจิทัลกระจายอำนาจสกุลแรกของโลก และยังเป็นสกุลเงินดิจิทัลมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ในการยอมรับเงินสกุลใหม่ของโลก โดยนอกจาก Guinness World จะบันทึกสถิติว่า “บิทคอยน์” เป็นสกุลเงินดิจิทัลกระจายอำนาจสกุลแรกของโลก และเป็นสกุลเงินดิจิทัลมีมูลค่าสูงที่สุดในโลกแล้ว ยังมีการบันทึกว่าเอลซัลวาดอร์เป็นประเทศแรกของโลกที่ยอมรับ “บิทคอยน์” เป็นสกุลเงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย หรือการบันทึกธุรกรรมเชิงพาณิชย์ครั้งแรกของ บิทคอยน์ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2010 เมื่อชายคนหนึ่งใช้ บิทคอยน์ จำนวน 10,000 เหรียญ ซื้อพิซซ่ามูลค่า 25 ดอลลาร์ ทำให้วันนั้นถูกแต่งตั้งเป็นวัน Bitcoin Pizza Day
แม้การประชุม FOMC เมื่อวันพุธที่ 2 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา เฟดจะมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยในภาพรวมพุ่งไปอยู่ที่ 3.75-4.00% นับเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดของสหรัฐฯ ในรอบกว่า 14 ปี ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงทำให้ตลาด บิทคอยน์ ได้รับผลกระทบ ราคาบิทคอยน์ล่าสุด (2 พ.ย. 2565) อยู่ที่ประมาณ 20,201 ดอลลาร์ ลดลงจากจุดสูงสุดที่ประมาณ 20,800 ดอลลาร์ในช่วง 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม หากเฟดเริ่มส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม นักเทรดอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาบิทคอยน์ที่มีความสำคัญอีกครั้งในปลายปีนี้
ขณะที่ Bitkub Coin เหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ขวัญใจนักลงทุนชาวไทย เกิดปรากฏการณ์สวนกระแสปรับฐานดีดตัวขึ้นเหนือ 56 บาทในช่วงเวลาเดียวกัน (2 พ.ย. 2565) ส่งผลให้นักลงทุนร้องเฮต้อนรับต้นเดือน จากก่อนหน้านี้ราคาของเหรียญ KUB มีการ sideway อยู่ที่ระดับ 43-50 บาทมาตลอด จนกระทั่งปัจจุบันแม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลหลักของโลกอย่าง บิทคอยน์ จะราคาร่วงลงต่ำกว่า 21,000 ดอลลาร์ แต่ Bitkub Coin กลับพุ่งขึ้นสวนราคาสกุลเงินดิจิทัลหลักได้อย่างน่าจับตาในความเคลื่อนไหวของตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่เมืองไทย
เราไม่สามารถฟันธงได้ว่าอนาคตเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ประเภทต่างๆ โดยเฉพาะ “บิทคอยน์” จะรุ่งโรจน์สดใส รับกระแสเงินดิจิทัล CBDC ที่เริ่มเดินหน้าทดลองใช้ทั่วโลกมากน้อยเพียงใด เพราะการลงทุนทุกชนิดล้วนมีความเสี่ยง แต่ข้อมูลของเหรียญ “บิทคอยน์” ก็มีสถิติผลตอบแทนที่น่าสนใจคือ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนเท่ากับ 189% ต่อปี หากมองย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนมากกว่า 1,335% หรือ 13.35 เท่าเลยทีเดียว สูงกว่าผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงสูงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือ อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่เคยเป็นสินทรัพย์การลงทุนอันดับต้นๆ ของนักลงทุน
การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกองทุนระดับโลกหรือนักลงทุนสถาบันที่ถือ BTC ก็มีการเก็บ BTC เข้าพอร์ตเพิ่มทุกครั้งที่มีการปรับตัวของราคา BTC ลงมา รวมถึงยังมีข่าวสถาบันการเงินเริ่มเข้าศึกษาตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่อย่างจริงจัง ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามชนิดกะพริบตาไม่ได้จริงๆ