วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินก.ล.ต."อย่ามัวแต่โม้"

Related Posts

ก.ล.ต.”อย่ามัวแต่โม้”

เตือน ก.ล.ต. อย่าเคลมผลงานเอกชน บัญชีคริปโตฯ 3 ล้าน ที่ปริปากบนบนเวทีโลก ค้านสายตานักลงทุนไทย 

เลขา ก.ล.ต. ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า บัญชีการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จากปี 2562 ซึ่งมีประมาณ 100,000 บัญชี เป็นประมาณ 3 ล้านบัญชี ภายในเวลา 3 ปี  ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้เวลากว่า 40 ปี  จึงมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในจำนวนใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ต่างชาติเชื่อมั่นต่อวงการคริปโตฯ ไทย

แต่ ก.ล.ต.ในวันนั้นได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ประเมินผลด้วย KPI ได้หรือไม่ ว่า 3 ล้านบัญชีคริปโตฯ ในวันนี้คือหยาดเหงื่อแรงกายของท่าน

เลขา ก.ล.ต. ตาใส คิดดีๆ นั่นผลงาน ก.ล.ต. หรือเพราะเอกชนเสี่ยงโปรโมทเอง ขณะที่งานส่งเสริมคริปโตฯ ด้านให้ความรู้และอธิบายความเสี่ยงของ ก.ล.ต. เดินไปอย่างเชื่องช้า  ขณะที่วิวัฒนาการทางการเงินโลกใหม่ ยังไม่แน่ชัดว่ามหาอำนาจต้องการเล่นเกมส์อย่างไร จนกว่าจะแน่ใจกว่าพวกเขาสามารถจัดระเบียบได้อย่างเบ็ดเสร็จ ก.ล.ต. จำเป็นต้องเร่งความร่วมมือพัฒนาวงการคริปโตฯ รับความเสี่ยงในอนาคต

เลขาธิการ ก.ล.ต. ร่วมนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัล ในงานสัมมนานานาชาติ Future Investment Initiative (FII) ครั้งที่ 6 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย หวังสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมสนับสนุน พัฒนานโยบาย และการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม ชูจุดยืนยึดหลักการส่งเสริมและการพัฒนานวัตกรรมควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าร่วมนำเสนอความเห็นในงานดังกล่าวภายใต้ หัวข้อ “Writing the Rules of Crypto” ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565

ตามที่สถาบัน Future Investment Initiative Institute (FII) มีหนังสือเรียนเชิญ เลขาธิการ ก.ล.ต. เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “Writing the Rules of Crypto” ในงานสัมมนานานาชาติ FII ครั้งที่ 6 เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัลร่วมกับผู้ประกอบการ ได้แก่ Sam Blatteis (Co-Founder & CEO, The MENA Catalysts), Ola Doudin (Co-Founder & CEO, BitOasis) และ Michelle Ritter (Founder & CEO, Steel Perlot Management) โดยมี Edie Lush (Executive Producer & Co-Host, Global GoalsCast) เป็นผู้ดำเนินรายการ

เลขาธิการ ก.ล.ต. ให้ความเห็นว่า การส่งเสริมแนวทางการหารือระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้ลงทุนจะเกิดขึ้นได้ต้องเชื่อว่าความร่วมมือระหว่างกันจะเกิดผลประโยชน์ร่วมกัน โดย ก.ล.ต. ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง และการออกร่างประกาศหลักเกณฑ์หรือแนวคิดต่าง ๆ จะดำเนินการจัดให้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชน ซึ่ง ก.ล.ต. พร้อมที่จะรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ด้วย ก.ล.ต. ยึดถือนโยบายการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมสนับสนุน พัฒนานโยบาย และการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม และเนื่องจากธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธุรกิจที่ดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน และมีการทำธุรกรรมข้ามประเทศ (cross-border/borderless) ความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มสมาชิก International Organization of Securities Commissions (IOSCO) และในระดับภูมิภาคจึงมีความสำคัญเช่นกัน

และ เลขา ก.ล.ต. ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า บัญชีการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จากปี 2562 ซึ่งมีประมาณ 100,000 บัญชี เป็นประมาณ 3 ล้านบัญชี ภายในเวลา 3 ปี  ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้เวลากว่า 40 ปี  จึงมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในจำนวนใกล้เคียงกัน

ส่อโชว์ออฟ เคลมผลงานเอกชนหรือไม่ จากผลงานที่เอกชนทุ่มเสี่ยงลงทุน โปรโมท และการให้ความรู้ของอินฟลูเอนเซอร์ไทย ต่างเป็นกำลังหลักต่อการส่งเสริมการลงทุนคริปโตฯ เป็นอย่างมาก ผลงานเหล่านั้นได้ส่งผลให้ต่างชาติเชื่อมั่นต่อวงการคริปโตฯ ไทย และอีกหลากหลายความตั้งใจของนักลงทุนไทยยังส่งผลให้ภาพรวมตลาดคริปโตฯ บ้านเราเนื้อหอม

แต่คนที่ได้ผลงาน ออกอาการหน้าชื่นตาบานเมื่อได้ออกงานระดับโลก กลับกลายเป็น  ก.ล.ต.

แน่นอนในช่วงแรก ก.ล.ต. ยังไม่ได้มีกฎหมายควบคุมด้วยซ้ำจนกระทั่งมี พรก. สินทรัพย์ดิจิทัล 2561 ในภายหลัง  งานนี้ ก.ล.ต. ควรจะต้องขอบคุณน้ำใจเอกชนหรือไม่  ที่ได้ร่วมแสดงพลังโปรโมทและให้ความรู้ขยายวงการคริปโตฯ ไทย นำทาง ก.ล.ต.

ย้อนไปในช่วงที่เอกชนทุ่มลงทุนโปรโมทวงการคริปโตฯ ใหม่ๆ ความเสี่ยงเจ๊งเหล่านั้น มีเพียงเอกชนเท่านั้นที่กล้าทุ่มเงินเสี่ยงเจ๊ง และยังควานหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนเข้ามาร่วมก่อตั้งธุรกิจ เพียงแค่ค่าใช้จ่ายด้านระบบเทคนิค และค่ามันสมองของผู้เชี่ยวชาญก็เสี่ยงล้มละลายแล้ว 

“หากเจ๊งก็เจ๊งเอง หากรวยก็รวยเอง”

แต่ ก.ล.ต.ในวันนั้นได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง ประเมินผลด้วย KPI ได้หรือไม่ ว่า 3 ล้านบัญชีคริปโตฯ ในวันนี้คือหยาดเหงื่อแรงกายของท่าน 

ถ้าจะให้เอกชนทั้งวงการยอมรับ ก.ล.ต. ไทย อาจจะต้องปรับท่าที จากเดิมเป็นเพียงหน่วยงานใช้กฎหมายกำกับตามหลัง ปรับแก้ระเบียบตามหลัง  เพียงนั่งรับเงินเดือนเฉียดล้าน นั่งหายใจทำงานรูทีน  เป็นการนำเสนอเชิงสร้างสรรค์ โดยฝึกเปิดกว้างมุมคิด แยกประเภทคริปโตฯ เสี่ยง ไม่เสี่ยง ให้ความรู้แทนการควบคุมเพียงอย่างเดียว?

แต่นี่ดูจากการวางลีลา-ท่าทีแล้ว น่าจะยาก เพราะแต่ละเดือนๆ ก.ล.ต. มักจะมีระเบียบควบคุมที่ไม่ส่งเสริมรายย่อยเหมือนส่งเสริมตลาดหุ้นเท่าใดนัก…!

ด้านให้ความรู้ การทำคอนเทนต์ให้รู้สึกถึงความเป็นมิตรอย่างสม่ำเสมอเทียบไม่ได้กับเอกชน มีเพียงชุดความรู้ที่ออกแบบมาทางวิชาการ ซึ่งปล่อยทิ้งไว้แล้วเผยแพร่แบบเงียบๆ ถามว่าวันนี้มียอดชมมากเพียงไร มันเข้าถึงเยาวชนแค่ไหน แล้วได้ทำการประเมินผลเพื่อให้คะแนนสอบตกผู้คิดค้นนโยบายให้ความรู้ดังกล่าวไว้บ้างหรือไม่

อย่างล่าสุด ก.ล.ต. บอกว่า ได้ส่งเสริมความรู้ผ่านการสร้างหลักสูตรคริปโตฯ 101 มีการออกคำเตือนผู้ซื้อขายซึ่งบางส่วนเป็นเยาวชน ได้รับทราบถึงความเสี่ยง พร้อมเน้นย้ำว่าการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ควรต้องเข้าใจในรายละเอียดและความเสี่ยง รวมถึงไม่ควรลงทุนแบบกลัวตกกระแส หรือภาวะ (Fear of Missing Out : FOMO)

ส่วนแง่มุมการควบคุมยังเป็นภาพลักษ์ที่แกะไม่ออก เพราะหาก ก.ล.ต. ตั้งใจจะดูแลวงการคริปโตฯ อย่างใจกว้าง ก็ควรใส่ใจเอกชน และนักลงทุนรายย่อยที่อยู่ในกฎระเบียบให้เดินคล่อง แล้วหันไปจัดการกับพวกมิจฉาชีพต้มตุ๋นเหยื่อ จะช่วยลบภาพเงามืดออกจากตลาดคริปโตฯ

ในอดีตหาก ก.ล.ต. ไม่พลาด  จนต้องอ้างว่า “ไม่เคยปรึกษาหารือกันมาก่อน” เรื่องนอกกฎหมาย “ฝากเงิน ล็อคเหรียญ ลงทุนต่างประเทศ”  เฉกเช่น กรณี   บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ออกผลิตภัณฑ์ Zipup+ ระดมฝากสินทรัพย์ดิจิทัลจากลูกค้า ก่อนจะโยกไปไว้ที่ “ซิปเม็กซ์ สิงคโปร์” และได้นำไปฝากต่อ Babel Finance-Celsius ที่มีปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ลูกค้า Zipup+ ได้รับความเสียหายมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท

จนวันนี้ถามว่านักลงทุนได้เงินคืนกันกี่มากน้อย แล้วข่าวที่ประโคมว่าจะมีมหาเศรษฐีมาอุ้ม ซื้อหุ้น จริงเท็จประการใดก็ไม่มีใครตรวจสอบได้ ประเด็นดังกล่าว ก.ล.ต. จะชี้แจงว่าไม่ใช่ภาระหน้าที่ก็ฟังขึ้น แต่มันเสื่อมเสียวงการการลงทุนหรือไม่ จะนิ่งเฉยเป็นแม่ทองไม่รู้ร้อน อย่างนั้นหรือ?

พอวัวหายก็มาล้อมคอก…. จนต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์เพิ่มเติมอีกในภายหลัง สื่อรายงานว่า ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 2 ฉบับ คือ  แนวทางการเปิดเผยความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี และการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ที่หลายคนจำได้จากกระแสข่าว เล่นคริปโตฯ ขั้นต่ำ 5 พันบาท

และ หลักเกณฑ์การห้ามผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลให้บริหารหรือสนับสนุนการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม (deposit taking & lending)

คาดว่าการออกหลักเกณฑ์ deposit taking & lending เพื่อปิดช่องโหว่และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ออกผลิตภัณฑ์ Zipup+ ทำให้ลูกค้า Zipup+  ได้รับความเสียหายมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท

ถ้าอยากทันสมัยต้องคิดนอกกรอบ…ไม่ใช่เดินตามหลังนโยบายต่างชาติเสียทั้งหมด เพราะ ก.ล.ต. จะไม่มีทางรู้เลยว่า ประเทศมหาอำนาจคิดวางแผนอย่างไรต่อวงการคริปโตฯ และจัดระเบียบสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร 

ทางออกเดียวที่ ก.ล.ต. จะช่วยเสริมศักยภาพประเทศไทยได้ คือการส่งเสริมวงการคริปโตฯ ไทยเพื่อกระจายความเสี่ยงทางการเงิน  หากวันใดมหาอำนาจกลับลำใช้งานจริง พร้อมส่งเสริมคริปโตฯขึ้ นมาคู่ขนานไปกับระบบการเงินโลกเก่า ซึ่งคนทั่วโลกได้เห็นการใช้นโยบายทางการเงินที่โหดเหี้ยมของมหาอำนาจกันหลายคราในเวลาฉับพลัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย QE และวันนี้ต้องการดึงเม็ดเงินกลับผ่านการเหยียบคันเร่งอัตราดอกเบี้ยอเมริกา  ส่งผลให้สินทรัพย์ทั่วโลกปั่นป่วน ถ้าหากประเทศเล็กๆ อย่างเราไม่สามารถสู้กับเขาได้ ก็ควรจะต้องปรับตัวให้รวดเร็ว  และสร้างสภาพแวดล้อมให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของชาติมหาอำนาจอยู่ตลอดเวลา โดยการร่วมมือกับเอกชนสัญชาติไทยให้มากที่สุด

สัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่า มหาอำนาจกำลังไล่เช็ดล้างสินทรัพย์ดิจิตอล โดยเขี่ยบิทคอยน์ แต่ไม่ทิ้งคริปโตฯ แน่นอน

Frank Giustra มหาเศรษฐีและนักลงทุนชื่อดัง เปิดเผยใน dailyhodl ซึ่งระบุถึงการให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ถือ Bitcoin อยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยงจากการเมืองทั่วโลกที่มีต่อสถานประกอบการ ที่พยายามปิดกั้นช่องทางการเข้าถึง ในการนำ Bitcoin มาใช้ และในการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดกับ Daniela Cambone จาก Stansberry Research Giustra กล่าวว่าหน่วยงานชั้นนำของโลกมีแนวโน้มที่จะวางแผนที่จะสร้างเขตอำนาจศาลของตนเองใน blockchain และพยายามเขี่ย Bitcoin ออกไปเนื่องจากไม่ต้องการให้เป็นคู่แข่ง

จับตาสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการจริงๆ คือการเป็นผู้นำด้านเกมบนบล็อกเชน ไม่ใช่โดยเฉพาะ Bitcoin หรือระบบดิจิทัลบางรูปแบบที่พวกเขาสามารถเข้าควบคุมได้ และในที่สุดอนาคตอันใกล้พวกเขากำลังจะสร้างสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางของตนเองเหมือนคนอื่นๆ ในโลก และพวกเขาไม่ต้องการการแข่งขัน ซึ่งผมมองว่า Bitcoin เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีจุดยืน มีความเป็นอิสระเสรี และไม่ขึ้นอยู่ภายในข้อจำกัดของใคร

นอกจากอวดบนเวทีโลกว่า คริปโตฯ ไทยเนื้อหอม เมื่อกลับบ้านมาแล้ว ยังกลับลำทัน ฟังสัญญาณ วิวัฒนาการทางการเงินโลกใหม่ให้ดี เพราะยังไม่แน่ชัดว่ามหาอำนาจต้องการเล่นเกมส์อย่างไร ดังนั้นเพื่อไม่ให้ลำบากลูกหลาน อย่าให้คนนินทาว่า…

“เป็น เข้ ขวาง คลอง…!”

คลิ๊กดูบนยูทูป >> “สืบจากข่าว”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts