“…แต่เมื่อการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดราคาซื้อขายเริ่มต้น 5,000 บาท คนมีรายได้น้อยๆอาจจะถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย มุมมองของผู้เห็นต่างมองว่ากฎต่างๆ ที่ออกมา เหมือนกับการทำหมันเอกชนไทย แต่ไม่เคยมีมาตรการชัดเจนที่ไปจัดการกับ Exchange นอก ที่ไม่อยู่ภายใต้กำกับของ ก.ล.ต. ทำให้ exchange นอกเหล่านี้ ได้เปรียบ ไม่ต้องเล่นตามกฎ ในขณะที่มุมมองของผู้เห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ในเชิงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีการบังคับใช้หลักการซื้อคริปโตขั้นต่ำ 5,000 บาท อย่างน้อย 10 ประเด็น..”
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดรับฟังความเห็น เรื่อง การกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซีขั้นต่ำ 5,000 บาท สำหรับนักลงทุนรายย่อย โดยหลักการปรับปรุงแนวทางกำกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เสนอมีสาระสำคัญคือ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องกำหนดมูลค่าการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลต่อธุรกรรมขั้นต่ำ (Minimum purchase) 5,000 บาทต่อธุรกรรม เพื่อจำกัดการเข้าถึงการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย เพราะสินทรัพย์มีความเสี่ยงสูง
ก่อนหน้านี้ กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ระบุราคาซื้อขายขั้นต่ำ เพราะต้องการให้ช่องทางนี้เป็นการออมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น มีลูกหลานน้อยลง งบประมาณเบี้ยยังชีพวัยชรารัฐบาลก็มีจำกัด จึงหวังว่าจะมีช่องทางการลงทุนออมเงินรูปแบบใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยไว้หล่อเลี้ยงชีวิตในบั้นปลาย ขณะที่ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี จะต้องได้รับการยินยอมในการลงทุนเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ปกครอง แต่เมื่อการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดราคาซื้อขายเริ่มต้น 5,000 บาท จึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นการแปรเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางการออมเงิน เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยๆ อาจจะถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย
ในขณะที่มุมมองของผู้เห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ในเชิงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีการบังคับใช้หลักการซื้อคริปโตขั้นต่ำ 5,000 บาท อย่างน้อย 10 ประเด็น ดังนี้
1. กระทบสิทธิในการใช้บริการของผู้ซื้อขายที่มีกำลังซื้อน้อยกว่า 5,000 บาท ต่อธุรกรรม ซึ่งคิดเป็นประมาณ 46% ของจำนวนผู้ซื้อขายทั้งหมด จากข้อมูลระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2565
2. ทำให้เกิดผลขาดทุนมากกว่าจำนวนที่ผู้ซื้อขายประสงค์จะลงทุน เนื่องจากต้องลงทุนขั้นต่ำที่ 5,000 บาทต่อธุรกรรม หรืออาจต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงขึ้นเพื่อให้ได้มูลค่าสินทรัพย์ฯ ตามที่ต้องการ
3. ผู้ที่ต้องการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการทำธุรกรรมจะทำได้ยากขึ้น
4. กระดานซื้อขายจะไม่เกิดสภาพคล่อง เนื่องจากคำสั่งซื้อและขายขนาดเล็กที่สุดจะต้องมีมูลค่าขั้นต่ำที่ 5,000 บาท โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีขนาดเล็กหรือมีความเสี่ยงที่สูง ซึ่งหากตั้งสมมติฐานว่าจะลงทุนในเหรียญขนาดเล็กและเสี่ยงสูงเพียง 1% ของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลงทุนทั้งหมด (Portfolio) โดยลงทุนที่ขั้นต่ำ 5,000 บาท จะต้องมี Portfolio รวมมากถึง 500,000 บาท และผู้ที่มีความพร้อมที่จะซื้อขายสินทรัพย์ฯ ระดับนี้ในประเทศไทยมีอยู่ไม่มาก
5. การแข่งขันของผู้ประกอบการในด้านปริมาณการซื้อขายจะเข้มข้นขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องที่ลดลงทำให้กระดานซื้อขายที่มีปริมาณการซื้อขายต่ำจะยิ่งต่ำลงไปอีก จากการที่ไม่มีคำสั่งซื้อขนาดเล็ก
6. การเริ่มต้นซื้อขายขั้นต่ำ 5,000 บาท ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามาถกระจายสมัครหลายๆ ผู้ให้บริการได้ เนื่องจากต้องรวมเงินให้ครบกำหนดขั้นต่ำ จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกผู้ให้บริการเพียงรายเดียวซึ่งมักจะเป็นผู้ให้บริการที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในเวลานั้น ส่งผลให้เกิดผู้ให้บริการที่ชนะเพียงรายเดียวในที่สุด (Winner takes all)
7. แนวทางกำหนดขั้นต่ำขัดกับวินัยการลงทุนที่ดี ที่มักจะเป็นการถัวเฉลี่ยลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ในช่วงเวลาที่สม่ำเสมอ (DCA) เช่น แบ่งการลงทุน 10 สินทรัพย์และซื้อเพิ่มทุกเดือน แต่หากเป็นเกณฑ์ใหม่จะต้องมีเงินลงทุนเดือนละ 50,000 บาท จึงจะสามารถทำเช่นเดิมได้
8. เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นไทยที่จำกัดให้การซื้อหุ้นต้องซื้ออย่างน้อย 100 หุ้น (lot size) ซึ่งตลาดหุ้นไทยที่มีหุ้นกว่า 800 ตัว จะมีหุ้นกว่า 700 ตัว ที่มีราคาต่ำกว่า 50 บาท ทำให้สามารถสรุปได้ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้การลงทุนในหุ้นไทยทำได้ง่ายกว่าในสินทรัพย์ดิจิทัล
9. อาจทำให้เกิดคู่ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ใช่เงินบาท เพื่อให้สามารถกำหนดธุรกรรมที่มูลค่าเทียบเท่าต่ำกว่า 5,000 บาทได้ เนื่องจากการพิจารณามูลค่า จะพิจารณาจากการซื้อด้วยเงินบาทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และไม่รวมถึงการแลกเปลี่ยนกันระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล
10. ผู้ซื้อขายจะเปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ให้บริการในต่างประเทศแทน เนื่องจากกระดานซื้อขายต่างประเทศไม่มีเกณฑ์ดังกล่าว
มุมมองของผู้เห็นต่างมองว่ากฎต่างๆ ที่ออกมา เหมือนกับการทำหมันเอกชนไทย แต่ไม่เคยมีมาตรการชัดเจนที่ไปจัดการกับ Exchange นอก ที่ไม่อยู่ภายใต้กำกับของ ก.ล.ต. ทำให้ exchange นอกเหล่านี้ ได้เปรียบ ไม่ต้องเล่นตามกฎ แถมยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ exchange ไทยไม่สามารถมีได้ เช่น Future
เหตุการณ์ Zipmex Ziplock Zipup+ เป็นหนึ่งในกรณีที่ถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่าง exchange ไทย กับ ต่างชาติหรือเปล่า? กรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (EXCHANGE) “Zipmex” ซึ่งมีบริษัทแม่ในสิงคโปร์ นำผลิตภัณฑ์ “Zipup+” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไทยฝากสินทรัพย์ไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ ไปลงทุนในแฟลตฟอร์มสินเชื่อคริปโตของ บาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) และ เซลเซียส (Celsius ) ซึ่งทั้งสองแห่งต่างประสบปัญหาจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทั้งสองบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงิน ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน Zipup+ โดยเฉพาะ บิทคอยน์ (BTC), อีเธอเรียม (ETH), USDTและ USDC เป็นต้น ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ส่งผลให้ Zipmex ประเทศไทย ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดคริปโตและลูกค้านักลงทุนเป็นวงกว้าง เบื้องต้นมีความเสียหายเกิดขึ้นราว 2,000 ล้านบาท จากผู้เสียหาย 3,800 ราย ขณะที่ผู้ลงทุนเหรียญขาดทุนกว่า 88%
ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ในการทำหน้าที่ของธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯ หากมีการรับฝากทรัพย์สินของลูกค้า มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนว่า “บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย” แต่กลับนำสินทรัพย์ของลูกค้าไปลงทุนในแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดย ก.ล.ต.ระบุว่า ไม่เคยมีการหารือเรื่องนี้กับผู้บริหาร Zipmex ประเทศไทย ได้รับแจ้งตอนมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ทำให้สังคมเกิดความสงสัยว่าทำไม ก.ล.ต.เพิ่งได้รับแจ้งเมื่อเกิดเหตุแล้วในวันที่ 20 ก.ค.65 ทั้งที่โปรแกรม ZipUp+ ให้บริการมานานนับปี สื่อสาธารณะรายงานมายาวนานถึง 2 ปี แต่ ก.ล.ต.กลับไม่ทราบเรื่องนี้ โดยคำตอบของ ก.ล.ต. ที่ตอบกรรมาธิการสภาว่า ‘ไม่เคยรู้มาก่อน’ แถมยังไม่มีมาตรการลงโทษที่เป็นรูปธรรม เป็นการแสดงถึงการไร้ความสามารถในการกำกับดูแล หรือ การเลือกปฏิบัติ
หรือในกรณีที่ผู้เห็นต่างมองว่า exchange นอกสร้าง volume เทรดเทียม ไม่เคยโดนสอบสวน โดยมีพฤติการณ์ตีตลาดเข้ามาในประเทศไทยโดยไร้ขอบเขตการควบคุมพร้อมทำวอลุ่มเทียม
แต่ผู้ควบคุมปล่อยเกียร์ว่าง ท่องซ้ำๆ ว่าเกินขอบเขตอำนาจ..?
แม้แต่ Exchange ‘บางแห่ง’ ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก็มีการทำ wash trade หรือ สร้างวอลุ่มปลอม หรือนักลงทุนทั่วไปทำงานแทนพวกนั่งรับเงินเดือนหลักล้านบาท จะต้องชี้ทางสว่างหาหลักฐาน เคี้ยวให้ แล้วป้อนเข้าปากหรืออย่างไร พวกท่านๆ ถึงจะเท่าทัน..?!?
พฤติกรรมลักษณะนี้ ก็ไม่เคยโดน ก.ล.ต. ไม่เคยโดนลงโทษ ขณะที่ exchange ไทยบางรายบางคนกลับโดนลงโทษ ชนิดหมายหัว จนกลายเป็นคำถามยิงตรงไปยัง ก.ล.ต.ว่า
เลือกปฏิบัติ..หรือเปล่า?