*สุดอึ้ง! แฉ กกท.ประเคนสิทธิ์ประโยชน์ให้ทรูวิชั่นส์ เอกสารปลิวว่อนทำสัญญาทาสให้ Exclusive ทำตลาดเจ้าเดียว! บีบ กสทช.ปลดล็อคกฎเหล็ก”มัสต์แครี่” หวังชุบมือเปิบ
เอกสารหลุดว่อน “กกท.” ประเคนสิทธิประโยชน์ถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 ให้กลุ่มทรูวิชั่นส์ยกกระบิ แลกของบสนับสนุนแค่ 300 ล้าน ก่อนเปิดทางบริษัทนำไปทำตลาดได้แต่เพียงผู้เดียวทุกแพลตฟอร์ม สุดอึ้ง! กสทช.จ่อปลดล็อค รื้อกฎเหล็ก ”มัสต์แครี่ (Must carry)” 22 พ.ย.นี้เปิดทางทรูวิชั่นส์กินรวบลิขสิทธิ์บอลโลกเต็มพิกัด ด้านสมาคมทีวีดิจิตอลจี้ กสทช.ทบทวน
และแล้วเบื้องหน้าเบื้องหลัง “มหกรรมปาหี่” ปล้นประชาชนคนไทยที่อยากดูบอลโลก 2022 ก็เผยโฉมออกมา หลังจากสมาคมทีวีดิจิทัลออกมาโวย “การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)” ในการจัดสรรสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 ที่เปิดทางให้กลุ่มทรูวิชั่นส์ได้เลือกไฮไลท์นัดสำคัญๆ ไปก่อน 32 แมตช์ไปได้ก่อน ส่วนที่เหลือ 32 นัดค่อยนำมากระจายให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 17 ช่องที่เหลือ และยังเปิดทางให้กลุ่มทรูถ่ายทอดสดรอบรองชนะเลิศที่เหลือแต่เพียงผู้เดียวนั้น
*เอกสารหลุดว่อนเปิดทางทรูวิชั่นส์กินรวบ
ล่าสุดได้ปรากฏเอกสารปลิวว่อนหลุดออกมา เป็นหนังสือของกลุ่มทรูวิชั่นส์ ลงวันที่ 20 พ.ย.65 ที่มีไปยังผู้ว่าการ กกท.แจ้งเรื่องสิทธิ์การถ่ายทอดบอลโลกรอบสุดท้าย โดยอ้างสัญญาที่ทาง กกท.ทำไว้กับบริษัทระบุว่า จากการที่ กกท.ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ระหว่างวันที่ 20 พ.ย.-18 ธ.ค.65 โดย กกท.ได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพียง 600 ล้านบาทซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าลิขสิทธิ์ จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม จึงได้เข้าทำสัญญากับบริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด โดย กกท.ได้ตกลงมอบสิทธิ์และประโยชน์ต่างๆ ให้แก่กลุ่มทรู ซึ่งรวมถึงการให้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายผ่านระบบเคเบิ้ล ระบบดาวเทียม ระบบไอพีวีที ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบ OTT รวมทั้งยังให้สิทธิแบบไม่จำกัดแต่เพียงผู้เดียวผ่านช่องทางโทรทัศน์แบบภาคพื้นดินด้วย
ด้วยเหตุนี้กลุ่มทรู จึงขอแจ้งให้ทราบถึงสิทธิ์ของการถ่ายทอดสดบอลโลกรอบสุดท้ายของกลุ่มทรูที่ได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันบนระบบโทรทัศน์แบบภาคพื้นดิน จะมีการนำไปเผยแพร่ตามประกาศ กสทช.ปี 2555 ได้เเฉพาะบนระบบดาวเทียมเท่านั้น ไม่รวมถึงระบบไอพีทีวี ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และระบบ OTT
หนังสือสัญญาดังกล่าวเท่ากับ กกท.ได้ยกสิทธิประโยชน์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้แก่กลุ่มทรูและทรูวิชั่นส์ไปทั้งหมด และยังรุกคืบไปถึงขั้นจะไม่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านแพลต์ฟอร์มอื่นๆ โดยเฉพาะระบบ IPTV Internet Mobile TV และ OTT ตามประกาศ กสทช.ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการเผยแพร่ในทุกช่องทาง ซึ่งเท่ากับหน่วยงาน กกท.ได้ละเมิดทำสัญญาทาสอันเป็นการแหกกฏเหล็ก “Must carry ” ของ กสทช.โดยตรง
แหล่งข่าวในวงการโทรทัศน์กล่าวด้วยว่า ลำพังสิ่งที่ กกท.ดำเนินการไปก่อนหน้า ในการให้สิทธิแก่ทรูวิชั่นส์ได้เลือกถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกนัดสำคัญๆ ที่เป็นไฮไลท์ไปได้ก่อน 32 แมตช์ ส่วนที่เหลืออีก 32 แมตช์ค่อยนำมากระจายให้ช่องทีวีดิจิทัลที่เหลือแบ่งสรรกันไปคนละ 2-3 แมตช์นั้น ก็ทำให้สมาคมทีวีดิจิทัลก็อดรนทนไม่ได้อยู่แล้ว เพราะผิดไปจากเจตนามรมย์ของ กสทช.และเป็นการดำเนินการที่ขัดประกาศ กสทช.ปี 2555 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์ แครี่) เท่ากับปิดช่องทางที่ประชาชนคนไทยจะได้เข้าถึงมหกรรมกีฬาโลกไปโดยปริยาย หากจะดูจะต้องไปดูบนแพลตฟอร์มของกลุ่มทรูวิชั่นส์เท่านั้น แถมยังปิดช่องทางการรับชมผ่านช่องทางอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งทั้งหมด ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของหลักเกณฑ์ ”มัสต์ แครี่” ของ กสทช.อย่างชัดเจน
*กสทช.จ่อรื้อกฎเหล็กเปิดทางกินรวบ
ล่าสุดยังมีรายงานด้วยว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช.ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ บอร์ด กสทช.จะมีการพิจารณาคำขอของทรูวิชั่นส์ที่ขอให้ กสทช.พิจารณารยกเลิกประกาศ กสทช.ปี 2555 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์ แครี่) โดยระบุว่าหากจะเผยแพร่เป็นการทั่วไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะขัดกับลิขสิทธิ์บอลโลกที่ กกท.ได้รับจาก FIFA โดยการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 นั้นจะรับชมผ่านระบบโทรทัศน์แบบภาคพื้นได้เท่านั้น และจะรับชมได้เฉพาะบนระบบดาวเทียมเท่านั้น ไม่รวมถึงระบบไอพีทีวี ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบ OTT ตามที่ กกท.ได้ทำสัญญาเอาไว้กับกลุ่มทรูวิชั่นส์ ก่อนหน้านี้
“การดำเนินการแบบนี้ไม่ต่างไปจากกลุ่มทรูวิชั่นส์ ยืมมือหน่วยงาน กกท.ให้ออกหน้าของบสนับสนุนจาก กสทช.แทนตนเองเท่านั้น โดยที่สิทธิในการถ่ายทอดและทำตลาดทั้งหมดตกอยู่ในมือกลุ่มทรูเพียงเจ้าเดียว ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของประกาศ กสทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ ”มัสต์แฮพ-มัสต์แครี่” อย่างชัดเจน เป็นการยืมมือหน่วยงานรัฐชุบมือเปิบผลประโยชน์จากการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกไปแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้เป็นไปตามที่ กกท.และ กสทช.ยืนยันกับประชาชนก่อนหน้านี้ว่า เป็นการลงขันซื้อลิขสิทธิ์มาให้ประชาชนได้รับชมอย่างทั่วถึงโดยไม่ได้หวังกำไรแต่อย่างใด”
*สมาคมทีวีดิจิตอลถามจุดยืน กสทช.?
ขณะเดียวกันทางสมาคมทีวีดิจิตอลได้เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงาน กสทช.ระบุว่า ตามที่ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (แห่งชาติ) ผ่าน กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้ให้เงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) จำนวน 600 ล้านบาทแก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อนำไปเป็นเงินตั้งต้นในการดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) จากกรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดยมีหลักการตามบันทึกข้อตกลง ที่ได้ระบุไว้ว่าให้จัดสรรการถ่ายทอดสดแก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงทั้ง 64 คู่ตลอดการแข่งขัน
เนื่องด้วยการดำเนินการของการกีฬาแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 มีข้อพึงสังเกตถึงความไม่ถูกต้องในการจัดสรรการถ่ายทอด
ในการนี้ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) จึงเรียนมายังคณะกรรมการ กสทช. เพื่อโปรดตรวจสอบ และวินิจฉัยว่าการจัดสรรในครังนี้มีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ตามรายละเอียดดังนี้
1. การได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. ซึ่งเป็นเงินที่ได้ส่งมอบมาจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อเป็นเงินทุนในการสนับสนุน ส่งเสริม วิจัย และพัฒนาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นั่นหมายถึงผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ได้ร่วมสนับสนุนไปกับกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน การจัดสรรแมตช์ในการถ่ายทอดสดให้แก่ช่องต่างๆ ควรเป็นไปตามมติในการให้เงินสนับสนุนของ กสทช.ทั้ง 64 แมตช์ (แบ่งสิทธิประโยชน์ตามสัดส่วนของการสนับสนุน คือคิดเป็น 40% ของงงประมาณการซื้อลิขสิทธิ์ 1,400 ล้านบาท) ไม่ใช่เพียง 32 แมตช์ และได้รับหลังจากที่ผู้สนับสนุนหลัก (กลุ่มทรู ซึ่งมีธุรกิจเป็นช่องทีวีดิจิตอลด้วย) ได้เลือกแมตช์สำคัญไปแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมอย่างมาก
2. กรณีกลุ่มทรูให้การสนับสนุนจำนวน 300 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมสิทธิการถ่ายทอด ทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม แบบ exclusive ได้สิทธิในการเลือกคู่แข่งขัน จำนวน 32 แมตช์ และได้นาทีโฆษณา จากช่องทีวีดิจิตอลที่ร่วมถ่ายทอดจาก กกท . รายละเอียดตามภาพประกอบ
ส่วน กสทช.สนับสนุนเงินผ่านกองทุน กทปส. จำนวน 600 ล้านบาท ด้วยมติต้องจัดสรรสิทธิ์การถ่ายทอด ให้แก่ช่องทีวีดิจิตอล ซึ่งเป็นแหล่งที่มารายได้ของกองทุน อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ทั้ง 64 แมตช์ กลับได้รับการจัดสรรสิทธิเพียง 32 แมตช์ และเป็นแมตช์ที่เหลือจากที่กลุ่มทรูได้เลือกไปแล้ว ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม และผิดต่อหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ” และเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใดรายหนึ่งอย่างชัดเจน
3. ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยได้มีการจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเรียบร้อยแล้วในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00 -16.00 น. โดยให้สิทธิ์แก่กลุ่มทรูที่เป็นผู้สนับสนุนหลักได้เลือกแมตช์ต่างๆ ก่อนตามภาพประกอบ โดยแบ่งส่วนที่เหลือจากการเลือก 32 แมตช์ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้ง 21 ช่องที่ร่วมถ่ายทอด
โดยทั้งนี้สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และสมาชิกช่องสถานี ได้ทักท้วงหลายครั้งต่อ กกท. ในหลักการที่ไม่สอดคล้องกับมติ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ” ของ กสทช. แต่ทาง กกท.ก็ยังยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป ในการนี้ทางสมาคมฯ จึงเรียนมายังคณะกรรมการ กสทช. เพื่อยืนยันว่าการที่สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลช่องสมาชิก 13 ช่องที่เสนอรับสิทธิร่วมถ่ายทอด ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กกท. ซึ่งขัดต่อหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ” แต่ได้จำยอมร่วมจับฉลากไปในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 นั้น เหตุเพราะคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ชมฟุตบอลโลก ที่จะมีการถ่ายทอดสดคู่แรก ในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เวลา 23.00 น. ให้สามารถดำเนินไปได้ก่อน และได้แจ้งต่อที่ประชุมของ กกท. อย่างชัดเจนแล้ว การจับฉลากครั้งนี้สมาคมฯ ไม่ถือเป็นการยอมรับในหลักการและวิธีการของ กกท. ขอสงวนสิทธิ์ในการทักท้วงไม่เห็นด้วยในการจัดสรรการถ่ายทอดของ กกท. โดยเรียนมายังคณะกรรมการ กสทช. เพื่อวินิจฉัยว่า การจัดสรรสิทธิการถ่ายทอดสดของ กกท. เป็นไปโดยชอบ และขัดกับหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ” ของ กสทช.หรือไม่อย่างไร
>> ฟังบน Blockdit
>> ดูคลิปบนยูทูป