วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินก.ล.ต. รู้ทุกช่องโหว่ตลาดทุน มีระบบ AI ตรวจสอบบัญชีซื้อขายผิดปกติไว้ทำไม โบรกฯ ล้มตื่นตัว-ถ้ารายย่อยดอยหุ้นปั่นเงียบเป็นป่าช้า

Related Posts

ก.ล.ต. รู้ทุกช่องโหว่ตลาดทุน มีระบบ AI ตรวจสอบบัญชีซื้อขายผิดปกติไว้ทำไม โบรกฯ ล้มตื่นตัว-ถ้ารายย่อยดอยหุ้นปั่นเงียบเป็นป่าช้า

รู้หมดแต่อดไม่ได้ … ก.ล.ต. รู้ทุกช่องโหว่ตลาดทุน   ทำไมเปิดช่องไว้ พฤติกรรมคอยไล่กวดขันทีหลัง กลายเป็นชิ้นเนื้อร้าย จนเกิดมหกรรมตีหัวโบรกเกอร์ผ่านหุ้น MORE  นี่ถ้าเป็นรายย่อยโดนหุ้นปั่นทุบโดยบัญชีปั่นนอมินี ก.ล.ต. และตลาดทุนจะลุกขึ้นมาระดมสมองในเหลี่ยมกฎหมายแหกหน้ากลเกมส์ดันราคา MORE หรือไม่ น่าสงสัยเปิดช่องโหว่ “วางหุ้นค้ำประกัน กู้เงินเทรด” เอื้อกลุ่มทุนปั่นหรือไม่ แนะ ก.ล.ต. คลอดมาตรการกำจัดหุ้นค้ำประกัน “ประเภทมาร์เก็ตแคปเทียม” และแบนหุ้นค้ำประกันอ้าง “รายได้ทิพ” ส่วนระบบ AI ตรวจสอบบัญชีซื้อขายผิดปกติมีไว้ทำไม แอบใช้-แอบเช็ค ไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างทันท่วงที ผู้เสียเปรียบในตลาดทุนคือรายย่อยผู้ตามเกมส์ ส่อเปิดช่องโหว่ให้ทุนโบรกเกอร์ใหญ่และทุนปั่นบางรายได้เปรียบหรือไม่

วิกฤติช่องโหว่ ตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมองผ่านหุ้น MORE ถูกตั้งคำถามจำนวนมาก ก่อนอื่นต้องชวนมามองพฤติการณ์เพื่อสร้างความเข้าใจวงการตลาดทุนกันก่อน

ฝั่งผู้ซื้อที่สามารถดันราคาหุ้น MORE ให้ราคาสูงชนซิลลิ่ง หรือที่เรียกว่าชนเพดานของตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 30% ใช้วิธีการอย่างไรในช่องว่างนี้

ผู้ซื้อซึ่งดันราคาหุ้น MORE ครั้งนึ้จะต้องสะสมจำนวนหุ้นไว้ประมาณ 500 ล้านหุ้น เพื่อนำมูลค่าหุ้นก้อนนี้ไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อขอวงเงินสินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้นหรือมาร์จิ้นกระจายไปยังโบรกเกอร์ประมาณ 11 แห่ง  และเมื่อมีวงเงินเพิ่มขึ้น ก็จะต้องมีหุ้นสะสมอีกจำนวนหนึ่ง ตีกลมๆ อีกจำนวนกว่า 1,500 ล้านหุ้น โดยจะต้องกระจายผ่านหลายบัญชีในแต่ละโบรกเกอร์ แล้วนำวงเงินสินเชื่อที่โบรกเกอร์อนุมติให้ มาดันราคาหุ้นในมือนอมินีให้ราคาพุ่งชนเพดานภายในช่วงเช้าของวัน พฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565  

ทั้งนี้เพื่อรับการโยนขายหุ้นตามคำสั่งจากฝั่งผู้ขาย ซึ่งก็ต้องเปิดบัญชีอยู่กับโบรกเกอร์ประมาณ 20 แห่ง แน่นอนว่า ฝั่งผู้โยนขายครั้งนี้ ก็ต้องสะสมหุ้น หรืออาจมีหุ้นในมือนอนก้นกระเป๋าอยู่แล้วจำนวนมาก เพียงแค่แบ่งมาจำนวนหนึ่งให้เทียบเท่ากับฝั่งผู้ซื้อ  แล้วนำของไปแลกเปลี่ยนกันตามเวลาบังเอิญ หรือตามเวลานัดหมาย เพื่อให้ดีลการแลกเปลี่ยนหุ้นในราคาที่สูงกว่าต้นทุนมหาศาลสำเร็จลุล่วง

กระแสข่าวบอกชัดเจนว่า ใช้ต้นทุนฝั่งซื้อแค่ราวๆ 1,500 ล้านบาท เพื่อแลกกับเงินฝั่งขายราวๆ 4,500 บาท มันช่างคุ้มค่าเหลือเกิน หักลบกลบหนี้แล้วยังเหลือช่องว่างกำไรมหาศาล ในกรณีที่ฝั่งซื้อและฝั่งขายเป็นกลุ่มเดียวกันจริง ซึ่งต้องสืบค้นหาความจริงกันต่อไป แต่แล้วเกมส์นี้ส่งผลให้โบรกเกอร์ของฝั่งผู้ซื้อที่ออกมาร์จิ้นให้ก่อน จะต้องจ่ายเงินในเวลานัดหมาย ที่เรียกว่า T+2 ในช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ตามกำหนด ส่วนโบรกเกอร์ก็ต้องไปเรียกเก็บเงินที่ตนเองออกให้ก่อนกับฝั่งผู้ซื้อเอง หรือถ้าหากเกิดการเบี้ยวหนี้ โบรกเกอร์ฝั่งผู้ซื้อก็ต้องแบกรับการฟ้องร้องกันเอง เพราะเป็นผู้พิจารณาออกสินเชื่อกู้ยืมโดยใช้หลักประกันหุ้นเพียงแค่ 500 ล้านหุ้นเท่านั้น

เหตุการณ์ทำนองนี้ หากผู้ซื้อไม่มีเงินจ่ายจริงก็จะมีคดีแพ่งตามมา อาจไม่ติดคุก ปล่อยโบรกเกอร์ยึดหุ้นวางหลักประกันไปด้วยมูลค่าไม่เท่าไหร่ ผู้ซื้อก็พร้อมล้มบนฟูก แต่เมื่อเป็นธุรกรรมที่เป็นแบบแผนคล้ายความบังเอิญ การตรวจสอบในแวดวงโบรกเกอร์ซึ่งก็คือ “กลุ่มทุนการเงินรูปแบบหนึ่ง” จึงปรากฎขึ้นทันที

ปฏิบัติการยืมเงินโบรกเกอร์พยุงราคาขายทำกำไร ในวงเล็บที่ว่า “หากฝั่งซื้อและขายเป็นขบวนการเดียวกันหรือไม่” จึงชะงักลงทันใด แน่นอนว่าโบรกเกอร์ฝั่งซื้อไม่ยอมจะจ่ายเงินราวๆ 4,500 ล้านบาท  ในเวลาบ่ายของวันจันทร์ตามกำหนดแน่นอน แต่ต้องระดมทีมกฎหมายการเงินทุกมันสมองที่มี มาระดมความคิดว่าจะเสียค่าโง่ จ่ายจริงหรือไม่..?

เมื่อกลุ่มทุนโบรกเกอร์เดือดร้อน ความใหญ่โตของเรื่องนี้จึงกลายเป็นข่าวใหญ่มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีรายย่อยโดนโกง   รายชื่อของผู้ต้องสงสัยฝั่งซื้อเป็นใคร จึงปรากฎอย่างทันควัน

จากข่าวว่าผู้ถูกจับตาว่า ร่วมขบวนการ คำสั่งซื้อขายพิสดารหุ้น MORE    ประกอบด้วย นายอภิมุข บำรุงวงศ์ หรือฉายา “ปิงปอง” อดีตมาร์เก็ตติ้ง บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด วัยเพียง 30 ปีเศษ

ท่ามกลางกระแส ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแผนในการปล้นเงินก้อนมหึมาจากโบรกเกอร์ แต่ข้อมูลคำสั่งซื้อขายหุ้น MORE จำนวน 1,531.77 ล้านบาท บ่งชี้ไปที่นายอภิมุข 

มีข่าวลือว่า ตัวแทนหรือนอมินีที่เปิดบัญชีไว้กับโบรกเกอร์ประมาณ 20 แห่ง และรับใบสั่งขายหุ้น MORE ช่วง ATO หลายคนเผ่นหนีไปแล้ว แต่นายอภิมุขยังอยู่สู้กับกระแสลบที่พุ่งเข้าใส่

คำสั่งซื้อขายหุ้น MORE เช้าวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน คงจะมีการฟ้องร้องตามมาวุ่นวายหลายสิบคดี ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา มีทั้งนักลงทุนฟ้องโบรกเกอร์ที่ไม่ชำระค่าขายหุ้น และโบรกเกอร์ฟ้องนักลงทุนที่เบี้ยวชำระค่าซื้อหุ้น

ส่วนฝั่งผู้ขาย มีข่าวว่าก็คือ เฮีย ม. จนทำให้สังคมคิดไปเองว่าเป็น เสี่ยม้อ หรือไม่ ซึ่งก็คือ นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ   ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ MORE สัดส่วน 23.69% ของทุนจดทะเบียน และนายเอกภัทร พรประภา หรือ ไฮโซคิม

ซึ่งเจ้าตัวได้โชว์หลักฐาน ว่าไม่ได้ขายหุ้นออกเมื่อวันที่ 10 พ.ย. แต่ข่าวรายงานว่า มีหลักฐานว่ายังถือหุ้นครบ ไม่มีส่วนร่วมในการเทขายทำกำไรอย่างบังเอิญในวันนี้เวลานั้น คือข้อมูลปิดบุ๊ก 30 ก.ย.65

ในโครงสร้างการถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ที่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ ณ วันปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 30 ก.ย.2565 เพื่อเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565

ส่อให้ผู้คนสงสัยว่า ใช้หลักฐานเดือนกันยายน มาแสดงความบริสุทธิ์ในเหตุการณ์วันที่ 10 พฤศจิกายนได้อย่างไร แถมยังออกอาการเร่งรีบในการปิดจ๊อบปัญหาดังกล่าว ทำไมไม่กระตุ้นให้เกิดการตรวจสอบข้อมูลผู้ขาย แฉออกสู่สาธารณะเพื่อยืนยันความบริสุทธ์ 100%

เฮียม้อ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 1 ของ MORE กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ส่วนตัวจึงเสนอทางออกว่าหากโบรกเกอร์จะนำหุ้น MORE ที่เป็นหลักประกันออกมาขาย (ฟอร์ซเซล) แทนที่จะขายมาในตลาด ก็มาขายให้กับกลุ่มของตนเอง ซึ่งตนเองก็จะไปชวนพรรคพวกเข้ามารับซื้อหุ้น MORE ในราคาที่ไม่ต่ำเกินไป และเป็นราคาที่โบรกเกอร์ และกลุ่มที่มารับซื้อเห็นว่าเหมาะสมกับมูลค่าของบริษัท และเป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย  โดยปัจจุบันส่วนตัวอยู่ระหว่างการชักชวนพรรคพวกที่เชื่อมั่นในบริษัทเข้ามาซื้อ

ดังนั้นหากมีการดำเนินการตามข้อเสนอของตนนั้น เชื่อว่าจะช่วยลดความเสียหายให้กับโบรกเกอร์ และนักลงทุนรายย่อยได้ รวมถึงไม่ทำให้ราคาหุ้น MORE ปรับตัวลงไปมาก  นอกจากนี้ก็จะทำให้หุ้น MORE กลับมาซื้อขาย (เทรด) ได้เร็วขึ้น และช่วยให้รายย่อยไม่กังวล หรือแพนิคได้ ซึ่งแนวทางนี้ส่วนตัวยังไม่ได้หารือกับโบรกเกอร์ที่เสียหาย แต่ได้บอกผ่านสื่อไป ถ้าโบรกเกอร์มองเป็นทางออกที่ดีก็จะได้เข้าหารือต่อไป

“กรณีโบรกเกอร์ที่เสียหาย ตามเกณฑ์สามารถนำหุ้นที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันออกมา ก็จะทำให้ราคาหุ้นร่วงติดฟลอร์ หลายๆ วัน เพราะหุ้นมีจำนวนมาก ผมเลยเสนอว่า หากจะขายออกมาตามเกณฑ์ แทนที่จะขายในตลาดทำให้ราคาหุ้นร่วงฟลอร์ต่ำไปเรื่อยๆ โบรกเกอร์จะเสียหายมากขึ้น เพราะขายในราคาถูก และบริษัทก็จะเสียภาพลักษณ์ จากหุ้นละ 2-3 บาท อาจจะลงต่ำ  จะดีไหมถ้าตกลงราคาได้ ก็จะช่วยหยุดความเสียหาย น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

นายอมฤทธิ์ กล่าวว่า  ส่วนตัวไม่สามารถที่จะเข้าไปร่วมรับซื้อหุ้น MORE ได้ เนื่องจาก MORE อยู่ระหว่างการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้แก่ตนเอง จำนวน 300 ล้านหุ้น ที่ราคาเพิ่มทุนที่ประมาณ  2.20 บาท รวมมูลค่า 660 ล้านบาท  ซึ่งจะประชุมผู้ถือหุ้นให้พิจารณาอนุมัติในวันที่ 30 พ.ย.2565

“ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาความเสียหาย เพราะไม่มีใครแบกรับปัญหาไว้คนเดียวได้ ที่ผ่านมาตนได้คุยกับนายอภิมุข  ทราบว่า นายอภิมุข บำรุงวงศ์  ได้ไปหารือกับคนที่ขายหุ้นออกไป ขอให้กลับมาซื้อไม่ว่าด้วยราคาไหนเขาก็จะมีหุ้นมากขึ้น ก็จะช่วยบรรเทาความเสียหาย”

แต่นั่นแหละ…. นักลงทุนอยากสังคายนาวงการตลาดทุนไทยเสียใหม่ โดยตามหารายชื่อขบวนการ แล้วทำการสอบสวนหาความจริง เพื่อให้เห็นว่ากระบวนการทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ ก.ล.ต. โบรกเกอร์ และเจ้าของหุ้น ร่วมแรงร่วมใจซักฟอกตลาดทุนไทยอย่างถึงพริกถึงขิง ไม่อยากเห็นภาพเคลียร์ข้างหลังบ้าน จนเกิดปรากฎการณ์มวยล้มต้มคนดูหรือไม่

ก.ล.ต. ในฐานะผู้ควบคุมสูงสุดไม่น่าจะปล่อยผ่านปัญหานี้ไปง่ายๆ เพราะนี่คือกรณีศึกษาที่ผู้คนสนใจ ควรค่าแก่การนำมาถอดบทเรียนความหายนะ ส่งมอบความรู้ ประสบการณ์อันพึงระมัดระวังในวงการตลาดทุนอย่างทรงคุณค่า

ไม่มีใครรู้ว่า ต้นทุนหุ้น MORE ที่นายอภิมุข หรือผู้ร่วมขบวนการ ซื้อมาในราคาเท่าไหร่ ซึ่งหากคำนวณจากต้นทุนของเสี่ยม้อที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน MORE เมื่อปลายปี 2563 จนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 น่าจะอยู่ที่ราคาหุ้นละ 50 สตางค์

ปรากฏชัดเจนตามการแถลงข่าวของตลาดหลักทรัพย์ว่าธุรกรรมชำระเงิน และส่งมอบดำเนินการปกติแค่ระหว่างสำนักหักบัญชีกับโบรกเกอร์  ส่วนโบรกเกอร์กับลูกค้าเป็นเรื่องไปเจรจาพูดคุยกัน แต่แล้วผลลัพธ์ สุดท้ายวันที่ 14 พ.ย. รายการซื้อหุ้น 1,500 ล้านบาท ผิดนัดชำระเงินเกิดขึ้นจริง !!”

ยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนจากทั้ง ตลท. และสมาคมโบรกเกอร์ ว่าตัวเลขความเสียหายที่แต่ละโบรกเกอร์รับไป ใครหนักสุด มากสุด เพราะแม้ว่าจะมีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Rule : NCR) ของแต่ละโบรกเกอร์รองรับเพียงพอไม่กระทบฐานะการเงินแต่อย่างใด…แต่ใน “สถานการณ์ที่ข้อมูลไม่ชัดเจน – แถลงข่าวไม่ครบถ้วน” จึงเกิดความสังสัยในสังคม

ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบข้อมูลผ่าน ตลท. พบว่าเฉพาะ ปี 2565 หุ้น MORE ขยันติดอันดับหลักทรัพย์สูงสุด 5 อันดับแรก ถูกใช้ในการวางเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นเฉลี่ย 3,000 ล้านหุ้นทุกเดือน พูดง่ายๆ คือก็ถูกนำมาใช้ค้ำประกันบัญชี ขอสินเชื่อวงเงินในการซื้อหุ้นเป็นประจำอยู่แล้ว  และคิดเป็นเกือบ 50 % สัดส่วนหุ้นต่อจำนวนหุ้นทั้งหมด 

สะท้อนได้ดีว่าระบบบัญชีมาร์จิ้น และหลักการปล่อยกู้ไม่ได้ผิดปกติ แต่ความประมาท และชะล่าใจของโบรกเกอร์แต่ละรายพิจารณาปล่อยวงเงิน และการตรวจสอบหละหลวมอาจจะทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล ทำให้เกิดคำถามใหญ่ว่า จะยังมี “ช่องโหว่ใหญ่” ตรงจุดไหนได้อีกที่เข้าไปสร้างความเสียหายได้มากขนาดนี้

ถ้าจะให้ตอบแบบง่ายๆ เพราะถ้าหากเรื่องนี้เกิดขึ้นกับบัญชีรายย่อยฉบับไทยๆ เรื่องคงไม่ใหญ่ขนาดนี้ แต่ช่องโหว่ตรงนี้ดันเกิด “ศึกยักษ์ชนยักษ์”

1.ก.ล.ต. รับทราบเรื่องกฎระเบียบการวางหุ้นประกันเพื่อขอมาร์จิ้นเทรดอยู่แล้ว แต่ปล่อยไว้ให้เป็นช่องให้โบรกเกอร์หารายได้จากค่าคอมมิสชั่นตามปกติ คิดว่าไม่มีใครจะเล่นงานช่องโหว่

2.เมื่อทุกฝ่ายรู้ช่องโหว่ตรงนี้ แล้วปล่อยไว้ทำไม ตอบอย่างง่ายๆ คือ ผลประโยชน์มันไม่เข้าใครออกใคร ในอดีตคิดว่ากรณีวางหุ้นเพื่อขอเงินสินเชื่อไม่ถูกนำมาใช้จริงหรือไม่ หรือใครเชื่อบ้าง แต่แตกต่างกันตรงที่วันนี้ถูกใช้เพื่อโจมตีกลุ่มทุนโบรกเกอร์ หากแต่ในอดีตใครรับประกันได้บ้างว่าไม่มีการนำเงินสินเชื่อก้อนนี้ มาเล่นแร่แปรธาตุปั่นหุ้นชาวบ้าน ปั่นหุ้นตัวเอง ขายฝัน ฟันสตอรี่หุ้น จ้างออกข่าว หวังหลอกลวงรายย่อยไปติดดอย

3.พอรายย่อยขาดทุนหนักติดดอย เหตุผลง่ายๆ ใช้ปลอบใจ คือ High Risk แล้วจะได้ High Return หรือไม่ผู้ควบคุมกฎก็แถลงข่าวสักชิ้นสองชิ้น ชี้ว่า เรามีมาตรการแคลชบาลานซ์ ระงับความร้อนแรงอยู่แล้ว ต้องตรวจสอบเองนะจ๊ะ อีกมุขที่ได้ยินบ่อยครั้งคือ สอบถามความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญไปยังบริษัทจดทะเบียนแล้ว ได้รับรายงานกลับมาว่า ไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป

4.บทสรุปคือ ชาวดอยเต็มตลาดหุ้น นักลงทุนรายย่อยจึงออกจากดตลาดนี้ไปสู่ตลาดอื่นกันโดยไม่ลังเล เพราะรู้ดีว่า “มี ก.ล.ต. ไว้ทำไม เมื่อทำผลงานได้เพียงเท่านี้”

ส่วนโบรกเกอร์ เสี่ยงล้มละลาย ปม  “หุ้น  MORE” 4.5 พันล้าน!

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลบริษัทหลักทรัพย์ ที่อาจจะได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย 

o       บล.กรุงศรี  มูลค่า  1,000 ล้านบาท

o       บล.เกียรตินาคิน ภัทร  มูลค่า 700 ล้านบาท

o       บล.ดาโอ  มูลค่า 600 ล้านบาท 

o       บล.เอเซีย เวลท์   มูลค่า 100 ล้านบาท

o       บล.คิงส์ฟอร์ด มูลค่า 300 ล้านบาท

และ บล.อื่นๆ ยังไม่กล้าเปิดเผยตัวเลข เพราะ เกรงกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ขณะที่ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้เสียหายในหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ว่า จากการร่วมรับฟังการหารือในที่ประชุม บริษัทโบรกเกอร์ ยืนยันว่า เมื่อวัน 10 พ.ย. มีธุรกรรมที่ผิดปกติ จึงขอทำการตรวจสอบธุรกรรมที่เกี่ยวกับหุ้น MORE ซึ่งในรายละเอียดการตรวจจะต้องให้แต่ละบริษัทไปดำเนินการก่อน

โดยให้หลักการ ว่า ลูกค้าที่บริสุทธิ์ ไม่มีธุรกรรมที่ผิดปกติ ก็จะต้องดูแล เพราะมีการซื้อขายหุ้นจำนวนมากทั้งรายใหญ่ และรายย่อย อาจจะมีผลกระทบโดยรวมต่อตลาดหลักทรัพย์ได้ จึงต้องพยายามระมัดระวังและดูแลลูกค้าก่อน ส่วนความเสียหายค่อยเอาไว้ทีหลัง

ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นดำเนินคดี เพราะยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบหลังจากพบธุรกรรมที่ผิดปกติ ก็จะต้องตรวจสอบก่อนว่า ผิดปกติจริงหรือไม่ ซึ่งโบรกเกอร์ต่างๆ และแยกย้ายกันไปตรวจสอบลูกค้าของตัวเอง

อย่างไรก็ตามหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีข้อมูลธุรกิจครบถ้วนมากกว่าเอกชน สามารถตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ชั่วโมงแรก กลับไม่แจ้งข่าวสาธารณะ ทั้งที่สามารถหามาตรการเชิงความร่วมมือมารองรับปัญหา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการตรวจสอบหุ้นปั่น ที่มีมานมนานในตลาดหุ้นไทย แต่ทำไมไม่ลงมือ..?

หรือเพราะหากบอกว่ามีของดีใช้ตรวจสอบได้ งัดออกมากลัววงการปั่นหุ้นจะเสียหาย ขัดลาภลอยผลประโยชน์ของนายทุนบางกลุ่ม แหล่งทุนนายใหญ่ในแวดวงผู้มีอำนาจจะได้รับผลกระทบ..?

นายธนพิศาล คูหาเปรมกิจ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บล.โกลเบล็ก จำกัด (GLOBLEX) ให้ข้อมูลต่อสื่อฯ ว่า  ส่วนตัวมองว่ามาตรการหรือกลไกตลาดในปัจจุบันนั้นเพียงพอแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากการเปิดบัญชีกับหลายแห่ง โดยที่่ บล.ไม่สามารถรู้ได้  ซึ่งผู้ที่ทราบคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า มีนักลงทุนได้วงเงินมาจากหลายๆ โบรก ดังนั้นเมื่อ ตลท.รู้ข้อมูลก็ต้องเตือน บล.ให้ระมัดระวัง

ตรงนี้นักลงทุน คันปากอยากชี้เพิ่มเติมไปยัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บล.โกลเบล็ก จำกัดว่า จริงๆ ข้อมูลส่วนนี้ควรถูกนำมาใช้อย่างโปร่งใส เปิดเผยเพื่อระงับยับยั้งแก๊งมิจฉาชีพ ฟอกเงิน ปั่นราคา ฆ่ารายย่อย ไม่ใช่ใช้แค่บอกโบรกเกอร์เท่านั้น แต่ต้องใช้เพื่อรายย่อยด้วย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บล.โกลเบล็ก จำกัด  ยังบอกว่า หากมีเกณฑ์อะไรออกมาเพิ่ม จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่  ซึ่งส่วนตัวมองว่าการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องแก้ที่ต้นเหตุมากกว่า เช่น ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย T1,T2 และ T3  (Trading Alert Level) ให้ทันท่วงที  เพราะ ตลท.เห็นข้อมูลมากกว่าโบรกว่า หุ้นตัวนี้ปรับตัวขึ้นมากเกินไปหรือยัง และหุ้นกระจุกตัวอยู่ที่ใคร ก็จะช่วยไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่า ตลท.จะมีโอกาสปรับเกณฑ์การให้วงเงินมาร์จิ้นโลนมากน้อยแค่ไหน  คาดว่าคงจะมีการทำเฮียริ่งกับธุรกิจโบรกเกอร์ก่อน ทางหนึ่งคือถ้ายังไม่เลิกการขอสินเชื่อโดยใช้หุ้นค้ำประกัน เพื่อให้ได้กำลังเงินเทรด ก็ต้องหามาตรการอื่นรองรับ เช่น การพิจารณาหุ้นค้ำประกันที่มีพื้นฐานดี อย่างน้อย 3 ปี กำไรดี รายได้ดี มีหลักแหล่งรายได้ชัดเจน เลิกการคำนวณวงการการกู้ตามมูลค่าหลักทรัพย์ เพราะในตลาดหลักทรัพย์ไทยยังมีหุ้นพื้นฐานต่ำ แต่ปั่นราคาหุ้นบนกระดานเทรดให้สูง สร้างมูลค่าธุรกิจการตลาดเทียม ซึ่งหากวัดพื้นฐานจากค่า PE โดยนำกำไรต่อหุ้น มาเทียบกับราคา กลายเป็นว่าได้อัตรา 100 เท่า ตีความง่ายๆ ว่า อาจจะต้อง 100 ปี กว่าจะคืนทุนราคาหุ้น ถ้าบริษัทไม่ได้ทำกำไรสุทธิเติบโตเป็น 100% ก็ไม่มีวันได้ทุนคืน  หุ้นประเภทนี้ก็ยังมีให้เห็นเกลื่อนตลาดหุ้นไทย

นี่คือบทพิสูจน์ ตลาดหุ้นไทย และ ก.ล.ต.  ดูแลมา 40  ปี บัญชีคนเทรดหุ้นเติบโตอย่างอุ้ยอ้าย ต่อไปต้องพิสูจน์อีกมากว่า มาตรการจับ-ปรับโจร-ปล้นรายย่อย จะแข็งขันเทียบเท่าการยื่นมือตรวจสอบช่วยรายใหญ่หรือไม่

ถ้าไม่ขุนตลาดหุ้นให้ดูดี   ถ้าไม่ยอมรับว่ามีหุ้นปั่น แล้วปราบให้สิ้น

จัดระเบียบ แยกประเภทความเสี่ยงง่ายขึ้น

ให้ทางเลือกนักลงทุนว่า จะเข้าไปลงทุน หรือจะเข้าบ่อน

เงินนักลงทุนไทยคงจะเข้าปากสินค้านอก และกระดานเทรดนอกกันหมด

ถ้าของในบ้านไม่ดี ไม่อร่อย ไม่แปลกใจเลยทำไมคนไทยโหยหาสินค้าใหม่นอกบ้าน เพราะเข้าถึงง่าย เครื่องมืออำนวยความสะดวกครบครัน แทนที่จะสนับสนุนกระดานเทรดไทย ไม่ว่าจะหุ้น หรือวงการคริปโตเคอร์เรนซี่ให้เติบโต ควบคุมพร้อมกับส่งเสริมอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่วนเวียนคิดอยู่แค่เรื่องเทรดครั้งละ 5,000 บาทต่อออเดอร์…!

ถามจริงๆ ถ้านักลงทุนมีเล่นทดลองตลาดคริปโตฯ แค่ครั้งละ 2-3 พัน แล้วมันหนักหัวกะบาลใคร เพราะมาตรการ 5 พันบาทในวงการคริปโตฯ นอกจากไม่ส่งเสริมการศึกษาคนงบน้อยแล้ว ยังทำลายอารมณ์การเติบโตของวงการคริปโตฯ อีกเสียด้วยซ้ำไป

ถ้านักลงทุนหนีไปเทรดกระดานนอก เหรียญนอก ก.ล.ต. เอื้อมไม่ถึง แต่พอออกนอกบ้านตัวเล็กขึ้นมาเชียว….โอกาสความเสียหายของนักลงทุนไทยก็ยิ่งเสี่ยงตาม อย่าว่าแต่รายย่อยเสี่ยงเลย ขนาดทุนธนาคารใหญ่สีม่วงยักษ์ใหญ่ไทย ยังเคยยืนงง-หลงเข้าดง FTX จากกระดานเทรดนอกที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก ล่าสุดที่เพิ่งล้มละลายไปแล้วจ้า…

ธนาคารสีม่วงที่ว่าได้ประกาศข่าวร่วมทุนกันหลายต่อหลายครั้ง เชื่อมต่อสภาพคล่องเข้ากับเว็บเทรด FTX หรือแม้แต่การจับมือเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์มให้กู้ยืม Blockfi บริษัทคริปโตฯ ที่เพิ่งยื่นล้มละลายไป

จนล่าสุดเจ้าตัวต้องออกมาชี้แจงว่า  เรื่องดังกล่าวไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินธุรกิจ และไม่มีผลใดๆ กับการให้บริการของบริษัท รวมถึงแอปพลิเคชั่นเทรดของบริษัท และบริษัทไม่ได้ร่วมลงทุนใน FTX แต่อย่างใด โดยลูกค้าสามารถซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและถอนเงินได้ตามปกติ

อย่าชี้หน้าว่านักลงทุนเจ๊งกันเพราะศึกษาน้อยเลย เพราะขนาดทุนใหญ่สีม่วงยังหลวมตัว โชคดี ที่ยังไม่ได้ลงเงินสักบาท แค่ประกาศจับมือเฉยๆ ถ้ารออีกนิดควักเงินไปแล้ว คงได้หน้าแตกเป็นเสี่ยงๆ

เพราะฉะนั้น ก.ล.ต. จงตระหนักไว้ว่า ตรวจสอบ โปร่งใส เท่าเทียม และสนับสนุน   วงการตลาดทุนไทยและกระดานเทรดคริปโตฯ ไทย จะได้เติบโตภายในการดูแลควบคุมอย่างเท่าเทียมจริงๆ เผลอๆ ผลงานดีเอกชนไทยได้ขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศ น่าชื่นชมไม่น้อย ส่วนเครื่องมือ AI ด้านความโปร่งใสที่ซุกไว้ใช้เงียบๆ  ก็เอามาใช้ แล้วเผยข้อมูลให้รายย่อยได้ทราบข้อมูลบ้าง ไม่ใช่ใช้แค่เรื่องมาตรการแคลชบาลานซ์ง่ายๆ นักลงทุนยังงุนงง ว่าหุ้นบางตัวครบเกณฑ์ติด แต่ปิดตลาดบอกไม่ติด หุ้นบางตัวแค่เฉี่ยวๆ เกณฑ์ สุดท้ายติดเฉยๆ รายย่อยห่อข้ามวัน เปิดตลาดเช้าอีกวัน หน้าชา กระเป๋าแฟบ!!!
>> ดูบนยูทูป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts