กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) สรุปสถานการณ์ข่าวปลอมสัปดาห์ล่าสุด พบว่าข่าวปลอมกรมสรรพากรโทรศัพท์เรียกจ่ายหนี้ภาษีอากรค้างชำระมาอันดับหนึ่ง ขณะที่กระแสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดและทำให้การติดโควิด-19 ง่ายขึ้น ส่งผลมีข่าวปลอม 7 เรื่อง
น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (DES) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 2-8 ธันวาคม 2565 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบข้อความที่เข้ามาจำนวน 5,131,164 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 222 ข้อความ แบ่งเป็นข้อความที่มาจาก Social listening จำนวน 184 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Line Official จำนวน 38 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 103 เรื่อง
ทั้งนี้ DESได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจ เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ข่าวปลอมเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศจำนวน 49 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 ข่าวปลอมเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 39 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 ข่าวปลอมเศรษฐกิจ จำนวน 11 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 ข่าวปลอมเรื่องภัยพิบัติ จำนวน 4 เรื่อง
สำหรับข่าวปลอมทั้ง 4 กลุ่มมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องโควิค-19 จำนวน 7 เรื่อง
น.ส.นพวรรณ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจสูงสุด 10 อันดับระหว่างวันที่ 2-8 ธันวาคม ดังนี้
อันดับที่ 1 เรื่อง กรมสรรพากรโทรศัพท์เรียกจ่ายหนี้ภาษีอากรค้างชำระ
อันดับ 2 เรื่อง ห้ามสแกนจ่ายเงินค่าปรับ ผ่านใบสั่งเจ้าหน้าที่พนักงานเด็ดขาด
อันดับที่ 3 เรื่อง คลื่นแผ่จากเสาส่งโทรศัพท์มือถือและคลื่น WiFi เป็นสาเหตุหลัก ๆ ของการก่อมะเร็ง
อันดับที่ 4 เรื่อง 37 จังหวัด เตรียมรับมือพายุกระหน่ำไทย แรงที่สุดในปี 2565 ความแรง 160 km.hr
อันดับที่ 5 เรื่อง กัญชาช่วยบรรเทาอาการลมชักเฉียบพลันได้
อันดับที่ 6 เรื่อง กรมการจัดหางานรับสมัครงานออนไลน์ และงานพาร์ทไทม์ ผ่านเพจ BLOODHUNTER
อันดับที่ 7 เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดรับนักลงทุนหน้าใหม่
อันดับที่ 8 เรื่อง รักษาโรคหวัด ด้วยการดื่มน้ำผสมเบคกิ้งโซดา
อันดับที่ 9 เรื่อง เกาหลีเปิดรับแรงงานไทยทำไร่ส้ม
อันดับที่ 10 เรื่อง เดินไขว้เท้าช่วยให้หัวใจแข็งเเรง
“DES ตระหนักถึงผลกระทบของข่าวปลอมที่มีผลกระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมาก ขอให้ประชาชนอย่างหลงเชื่อข่าวปลอมที่มีการแพร่ระบาดในทุกช่องทางทั้งจากโชเชียลมีเดีย โทรศัพท์ และเอสเอ็มเอส หากท่านได้รับการแจ้งข้อมูลที่ผิดปรกติ ผ่านโชเชียลมีเดีย sms หรือทางโทรศัพท์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ท่านสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ”