วันศุกร์, พฤศจิกายน 29, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงิน5 เรื่อง (ชวนกังขา) คริปโตเคอร์เรนซี ปี 65 ก.ล.ต. ทำถูกต้อง? หรือแค่ขวางคลอง

Related Posts

5 เรื่อง (ชวนกังขา) คริปโตเคอร์เรนซี ปี 65 ก.ล.ต. ทำถูกต้อง? หรือแค่ขวางคลอง

“….กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลติดหล่ม บางกฎเกณฑ์หาความชัดเจนไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอยู่เนืองๆ ขาดความเท่าเทียมในการกำกับดูแล เข้มงวดกับบริษัทคริปโตฯ ไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้ การซื้อคริปโตฯ ขั้นต่ำ 5 พันบาท เป็นการดูแลนักลงทุน หรือ ทำหมันวงการ ออกกฎต่างๆ มาใช้บังคับอย่างไม่สมดุล เน้นแต่การกำกับและควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ไม่เคยส่งเสริมและพัฒนา ทำให้เอกชนไทยผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายประกอบกิจการ แข่งขันได้อย่างยากลำบาก กำหนดเพิ่มทุนแรกเข้าและดำรงเงินกองทุนสูงเกินจริง เหมือนเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ในการริเริ่มประกอบธุรกิจโดยไม่จำเป็น และกรณีหุ้น More รู้ทุกช่องโหว่ตลาดทุน แต่คอยไล่กวดขันทีหลัง…”

ปี 2565 กำลังจะผ่านพ้น ปี 2566 ใกล้จะมาเยือน ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ยังติดหล่มความกังขาของผู้ประกอบการคริปโตฯ หลายเรื่องว่าในปีที่ผ่านมา เลขา ก.ล.ต. ดำเนินการกฎระเบียบถูกต้องจริงหรือเปล่า มีเรื่องอะไรบ้างไปดูกันเลย

1. กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลติดหล่ม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เมืองไทย ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการคริปโตฯ ว่า ยังติดหล่มกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล บางกฎเกณฑ์หาความชัดเจนไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอยู่เนืองๆ จนทำให้ผู้ประกอบการไม่เป็นอันทำมาหากิน ต้องคอยติดตามดูว่ากฎระเบียบที่ ก.ล.ต.ประกาศออกมานั้นจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง เพราะถ้ามีการประกาศเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบแบบกะทันหัน แล้วบริษัทไหวตัวไม่ทัน หรือไหวตัวช้า นอกจากจะถูก ก.ล.ต. เพ่งเล็งแล้ว ยังโดนนักลงทุนตั้งข้อสงสัยว่า มีพฤติกรรมดื้อแพ่งหรือเข้าข่ายกระทำความผิดโดยเจตนาหรือเปล่า? กฎระเบียบบางอย่างครั้งหนึ่งเคยทำได้ แต่ต่อมากฎหมายระบุว่าทำไม่ได้ และโดนความผิดย้อนหลัง ทั้งที่ตามหลักการของกฎหมายไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น หรือ การกำหนดคุณสมบัติการออกเหรียญดิจิทัลที่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ว่า “ความสมดุล” อยู่ตรงไหน เช่นนโยบายคุมเหรียญที่ ก.ล.ต. เคยอนุมัติเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ แต่ต่อมาระบุว่าไม่ถึงเกณฑ์ ก่อให้เกิดความไม่เสถียร วันนี้เป็นอย่าง พรุ่งนี้เป็นอีกอย่าง สร้างความสับสนอลหม่านและบั่นทอนธุรกิจนี้ให้ลดความน่าเชื่อถือโดยใช่เหตุ ซึ่งถ้ากฎเกณฑ์ยังมีความหละหลวม ลักลั่น นอกจากรายเก่าจะทำธุรกิจได้ยากแล้ว รายใหม่ก็ไม่กล้าเข้ามา กลายเป็นการบอนไซธุรกิจคริปโตฯ เมืองไทยให้แคระแกร็น

2.ขาดความเท่าเทียมในการกำกับดูแล

มีการตั้งข้อสงสัยว่า กฎระเบียบบางอย่าง ก.ล.ต.เข้มงวดกับริษัทคริปโตฯ ไทย แต่กลับเปิดทางให้บริษัทข้ามชาติทำได้ อาทิ การกำหนดให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนทำธุรกิจคริปโตฯ ได้เฉพาะการเปิดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ไม่สามารถเป็นโบรกเกอร์ไลเซ่นส์ หรือ เป็นผู้จัดการการลงทุนได้ ทั้งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์กำหนด บางบริษัทกระทำผิดกฎ แต่บทลงโทษที่ได้รับถูกสังคมมองว่าเบาเกินไปหรือเปล่าเมื่อเทียบกับความผิด เหตุการณ์ Zipmex Ziplock Zipup+ เป็นหนึ่งในกรณีที่ถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่าง exchange ไทยกับต่างชาติหรือเปล่า?

กรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (EXCHANGE) “Zipmex” ซึ่งมีบริษัทแม่ในสิงคโปร์ นำผลิตภัณฑ์ “Zipup+” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไทยฝากสินทรัพย์ไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ ไปลงทุนในแฟลตฟอร์มสินเชื่อคริปโตฯ ของ บาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) และ เซลเซียส (Celsius ) ซึ่งทั้งสองแห่งต่างประสบปัญหาจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทั้งสองบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงิน ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน Zipup+ โดยเฉพาะ บิทคอยน์ (BTC), อีเธอเรียม (ETH), USDTและ USDC เป็นต้น ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ส่งผลให้ Zipmex ประเทศไทย ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดคริปโตฯ และลูกค้านักลงทุนเป็นวงกว้าง เบื้องต้นมีความเสียหายเกิดขึ้นราว 2,000 ล้านบาท จากผู้เสียหาย 3,800 ราย ขณะที่ผู้ลงทุนเหรียญขาดทุนกว่า 88% ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ในการทำหน้าที่ของธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯ หากมีการรับฝากทรัพย์สินของลูกค้า มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนว่า “บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย”

กลต. ไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องเลยหรือว่า ZipUp+ ทำให้นักลงทุนเสียหายหลักพันล้านบาท ตั้งแต่เริ่มเกิดเรื่อง ก.ล.ต.อ้ำอึ้ง แจ้งว่าไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องว่ามีเอกชนนำเงินลูกค้าไทยไปลงทุนต่ออีกทอดหนึ่งที่บริษัทต่างชาติ ทั้งๆ ที่ zipmex โฆษณาอยู่ทุกวัน ประชาชนก็ลงทุนไปเพราะอุ่นใจที่นำเงินไปลงทุนในผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลของไทย จากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วระดับพันล้าน เป็นเวลากว่า 4 เดือน ก.ล.ต. ปรับเงินไปเพียง 1.92 ล้านบาท ด้วยข้อหาเล็กๆ น้อยๆ พร้อมทั้งสั่งการ กล่าวโทษ อีกครั้งสองครั้ง พอเป็นพิธีให้คนรู้ว่าติดตามเรื่องอยู่ แต่ประชาชนตั้งคำถามว่าทำเท่านี้เพียงพอแล้วหรือ ไม่มีกระบวนการดำเนินงานที่ชัดเจนจริงจังกับ Zipmex หรือไม่

ล่าสุดศาลสิงคโปร์พึ่งตำหนิ Zipmex Global ว่าทำไมถึงคืนเงินให้ผู้เสียหายในอินโดนีเซียก่อนประเทศอื่น ผู้เสียหายในไทยตั้งคำถามว่า ก.ล.ต.ไทย ทำอะไรอยู่ ถ้ากระตือรือร้นและจริงจังกับ Zipmex ได้สักครึ่งหนึ่งของที่ไล่บี้กระดานเทรดเจ้าอื่น ผู้เสียหายในไทยคงจะได้รับเงินคืนแบบอินโดนีเซียไปแล้ว

น่าเสียดายแทนคนไทย และยินดีกับผู้เสียหายชาวอินโดนีเซียที่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่รักษาผลประโยชน์ของนักลงทุนจริงๆ ขณะที่ ก.ล.ต. เดินหน้าไล่บี้ ไล่ปรับเอกชนอื่นๆ ตลอดเวลา 4 เดือน หากเปิดเว็บ ก.ล.ต.ดูว่าไล่บี้ใคร เรื่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะทั้งในแง่ของจำนวนครั้ง และปริมาณเงินที่ปรับ จะเห็นว่า ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร หรือใครมากกว่ากัน ยังไม่นับเรื่องที่ผ่านมาแล้วเป็นปีๆ วันดีคืนดีก็ขุดขึ้นมาปรับ ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านั้นยังไม่มีผู้เสียหายสักคน จนคนสงสัยว่าเรื่องใหญ่อยู่ตรงหน้า ผู้เสียหายร้องเรียน ความเสียหายระดับพันล้าน ท่านได้สนใจบ้างหรือไม่ ก.ล.ต.เคยลงมาตรวจสอบหรือไม่ว่าเหรียญ Zipmex Token (zmt) ยังมีคุณสมบัติพอที่จะถูก List ในกระดานได้อีกหรือเปล่า เพราะในมุมมองของคนทั่วไปที่เข้าดู Trading Rules จากเว็บของ zipmex เอง หรือถ้า ก.ล.ต.จะตรวจดูจากเอกสาร trading rules ที่ ก.ล.ต.มีอยู่และเป็นผู้อนุญาตเอง ก็จะเห็นว่าเหรียญ zmt นั้นเข้าข่ายที่จะถูก delist ออกจากกระดานเทรด จากการบริหารเงินที่ผิดพลาด (misuse of funds) แล้ว

หรือว่ามาตรฐานการทำงานระดับนี้จะใช้ไม่ได้กับ zipmex แต่ใช้เฉพาะกับกระดานเทรดเจ้าอื่นเท่านั้น หรือในกรณีที่ผู้เห็นต่างมองว่า exchange นอกสร้าง vollume เทรดเทียม ไม่เคยโดนสอบสวน ไม่เคยโดนลงโทษ ขณะที่ exchange ไทยกลับโดนลงโทษหากทำแบบเดียวกัน กลายเป็นคำถามดังๆ ไปยัง ก.ล.ต.ว่า ตรงนี้คือการเลือกปฏิบัติ..หรือเปล่า?

3.ซื้อคริปโตฯ ขั้นต่ำ 5 พันบาท ดูแลนักลงทุน หรือ ทำหมันวงการ

อีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ประกอบการคริปโตฯ มองว่า ก.ล.ต.ออกกฎต่างๆ มาใช้บังคับอย่างไม่สมดุล เน้นแต่การกำกับและควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ไม่เคยส่งเสริมและพัฒนา ทำให้เอกชนไทยผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายประกอบกิจการ แข่งขันได้อย่างยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 5,000 บาทต่อธุรกรรม ที่หากผ่านจริงจะส่งผลกระทบมากมาย คนจะหนีไปเทรดต่างประเทศ ผู้ซื้อขายจะเปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ให้บริการในต่างประเทศแทน เนื่องจากกระดานซื้อขายต่างประเทศไม่มีเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ระบุราคาซื้อขายขั้นต่ำ เพราะต้องการให้ช่องทางนี้เป็นการออมรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดราคาซื้อขายเริ่มต้น 5,000 บาท จึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นการแปรเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางการออมเงิน เปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า โดยเฉพาะคนมีรายได้น้อยๆ อาจจะถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย

ในขณะที่มุมมองของผู้เห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ในเชิงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีการบังคับใช้หลักการซื้อคริปโตฯ ขั้นต่ำ 5,000 บาท อาทิ จะกระทบสิทธิในการใช้บริการของผู้ซื้อขายที่มีกำลังซื้อน้อยกว่า 5,000 บาท ต่อธุรกรรม ซึ่งคิดเป็นประมาณ 46% ของจำนวนผู้ซื้อขายทั้งหมด กระดานซื้อขายจะไม่เกิดสภาพคล่อง เนื่องจากคำสั่งซื้อและขายขนาดเล็กที่สุดจะต้องมีมูลค่าขั้นต่ำที่ 5,000 บาท โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีขนาดเล็กหรือมีความเสี่ยงที่สูง ซึ่งหากตั้งสมมติฐานว่าจะลงทุนในเหรียญขนาดเล็กและเสี่ยงสูงเพียง 1% ของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลงทุนทั้งหมด (Portfolio) โดยลงทุนที่ขั้นต่ำ 5,000 บาท จะต้องมี Portfolio รวมมากถึง 500,000 บาท และผู้ที่มีความพร้อมที่จะซื้อขายสินทรัพย์ฯ ระดับนี้ในประเทศไทยมีอยู่ไม่มาก ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นไทยที่จำกัดให้การซื้อหุ้นต้องซื้ออย่างน้อย 100 หุ้น (lot size) ซึ่งตลาดหุ้นไทยที่มีหุ้นกว่า 800 ตัว จะมีหุ้นกว่า 700 ตัว ที่มีราคาต่ำกว่า 50 บาท ทำให้สามารถสรุปได้ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะทำให้การลงทุนในหุ้นไทยทำได้ง่ายกว่าในสินทรัพย์ดิจิทัล

ประเด็นดังกล่าวจะทำให้เกิดวาทกรรม “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น คนรวยกว่านั้นเล่นคริปโตฯ” ปิดโอกาสชนชั้นกลางธรรมดาจะเข้ามาเลือกลงทุนในคริปโตฯ เว็บเทรดรายเล็กจะตายเรียบ เนื่องจากสภาพคล่องที่ลดลงทำให้กระดานซื้อขายที่มีปริมาณการซื้อขายต่ำจะยิ่งต่ำลงไปอีก จากการที่ไม่มีคำสั่งซื้อขนาดเล็ก บีบให้เหลือรายใหญ่รายเดียว เนื่องจากผู้ที่เริ่มต้นซื้อขายจะต้องเริ่มที่ขั้นต่ำ 5,000 บาท ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถกระจายสมัครหลายๆ ผู้ให้บริการได้ เนื่องจากต้องรวมเงินให้ครบกำหนดขั้นต่ำ จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ซึ่งมักจะเป็นผู้ให้บริการที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในเวลานั้น ส่งผลให้เกิดผู้ให้บริการที่ชนะเพียงรายเดียวในที่สุด (Winner takes all) เท่ากับว่าต้องรวยก่อนถึงจะลงทุนในคริปโตฯ ได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ขัดกับวินัยการลงทุน ซึ่งแนะนำการถัวเฉลี่ยลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ในช่วงเวลาที่สม่ำเสมอ (DCA) เช่น แบ่งการลงทุน 10 สินทรัพย์และซื้อเพิ่มทุกเดือน แต่หากเป็นเกณฑ์ใหม่นี้ จะต้องมีเงินลงทุนเดือนละ 50,000 บาท จึงจะสามารถทำเช่นเดิมได้ กลายเป็นเรื่องที่คนสงสัยว่า ก.ล.ต. ทำแบบนี้เพื่ออะไร เพื่อดูแลนักลงทุน หรือ ทำหมันวงการคริปโตฯ กันแน่

4.กำหนดเพิ่มทุนแรกเข้าและดำรงเงินกองทุนสูงเกินจริง

กรณีที่ ก.ล.ต.ผลักดันให้เพิ่มเงินทุนแรกเข้าซึ่งเป็นทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้ว (paid-up capital) และปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน (Net Capital) ก็เป็นเรื่องที่น่าเจ็บกระดองใจสำหรับผู้ประกอบการที่ทำตามกฎระเบียบ โดยในส่วนของ เงินทุนแรกเข้า ก.ล.ต. ให้ความเห็นว่านับตั้งแต่เริ่มให้ใบอนุญาต ผู้ประกอบธุรกิจ 9 จากทั้งหมด 12 ราย มีการเพิ่มทุนเพิ่มเติมหลังจากประกอบธุรกิจไประยะหนึ่ง ดังนั้นจึงพิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนแรกเข้าอาจกำหนดอยู่ในระดับต่ำเกินไป จึงต้องเพิ่มหลักเกณฑ์เงินทุนแรกเข้าขั้นต่ำ เป็นการสรุปที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการเพิ่มทุนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในการเริ่มดำเนินธุรกิจในระยะแรก (early stage) ที่เริ่มจากเงินทุนที่น้อย ประกอบการไประยะหนึ่งจึงเพิ่มทุนเมื่อประสบความสำเร็จและมองเห็นโอกาสในการเติบโต การกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มทุนแรกเข้าจากเหตุผลข้างต้นจึงเป็นการสรุปที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ในการริเริ่มประกอบธุรกิจโดยไม่จำเป็น

ขณะที่ การดำรงเงินกองทุน (Net Capital) ก.ล.ต. ให้เหตุผลว่า หลักเกณฑ์ด้านเงินกองทุน (ongoing capital หรือ NC) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงแบบ risk-based ที่ชัดเจน จึงกำหนดให้ต้องมีเงินกองทุนเป็น 100% ของ hot wallet จากเดิมที่ 5% นั้น เท่ากับ ก.ล.ต. มีแนวคิดว่าความเสี่ยงจาก custody risk ของ hot wallet ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการตามปกติมีโอกาสแน่นอน 100% ที่จะสูญเสียมูลค่าสินทรัพย์ทั้งจำนวน ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริงแม้แต่น้อย กล่าวคือ แม้ว่าจะเป็นการเก็บสินทรัพย์ฯ แบบ hot wallet แต่ยังมีมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นระดับสากลและเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว

การกำหนดให้ต้องดำรงเท่ากับ 2% ของมูลค่า trading value รายวันเฉลี่ยย้อนหลัง 90 วันนั้นมากเกินความจำเป็น เนื่องจากผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถซื้อขายได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งและได้ตลอดเวลา จึงทำให้ trading value ของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นสูงกว่าสินทรัพย์ฯ ที่ผู้ประกอบการเก็บรักษาไว้ นอกจากนี้ยังสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากตลาดคริปโตเคอร์เรนซีมีความผันผวนที่สูงในช่วงเวลาที่รวดเร็วมาก ภายใน 3 เดือน มูลค่า trading value อาจพุ่งขึ้นไปได้ถึง 3 เท่า  เมื่อปรับขึ้นผู้ประกอบการต้องหาเงินเพิ่ม 3 เท่า และหากมูลค่า trading value ลดลงในอีก 3 เดือนถัดมา เงินกองทุนส่วนที่เกินจะไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.พยายามผลักดันโดยให้เหตุผลที่เหมือนชักแม่น้ำทั้งห้ามาประกอบการพิจารณา  ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเสี่ยง Risk-based แบบที่ ก.ล.ต.พยายามบอก หวังแค่ดันเพดานให้เก็บเงินเข้ากองทุนเยอะไว้ก่อน หรือ ก.ล.ต.กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยนำเงินลูกค้าไปใช้ทำอย่างอื่นที่ไม่ได้อนุญาต อย่างกรณีนำเงินไปลงทุนต่ออีกทอดแล้วพลาดอีก จะได้มีเงินจ่ายเอง ก.ล.ต.ไม่ต้องมาคอยปกป้องอย่างทุกวันนี้ กลายเป็นว่า “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง”

แม้ว่าการกำหนดเงินกองทุนให้เยอะนั้นดูจะเป็นเรื่องที่ดีกับผู้ลงทุน เพราะจะได้มีเงินชดใช้หากเกิดเรื่อง แต่ถ้ามองในมุมผู้ประกอบการที่ทำตามกฎระเบียบ ทำตามกติกาอยู่แล้ว จะเป็นการเพิ่มภาระโดยใช่เหตุ ซึ่งการดำรงเงินกองทุนแบบเดิมถือว่าเหมาะสมกับการดำเนินงานที่ดีอยู่แล้ว ไม่ควรเพิ่มภาระให้กับเหล่าผู้ประกอบการเพียงเพื่อรักษาหน้าของรายใดรายหนึ่ง และที่น่าเจ็บปวดใจอย่างยิ่งก็คือ กฎเกณฑ์เหล่านี้จะไม่ถูกบังคับใช้กับผู้ประกอบกิจการต่างชาติซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาต และหากเป็นอย่างนี้ต่อไป เอกชนรายเก่าก็จะต้องแพ้ให้กับต่างชาติ เพราะมีทั้งข้อจำกัดและต้นทุนที่สูงกว่า หรือแม้แต่ผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดก็ไม่อยากจะวุ่นวายขอใบอนุญาต เพราะเมื่อขอไปแล้วต้องมาอยู่ใต้กฎเกณฑ์ที่ลักลั่น ราวกับกีดกันผู้ประกอบการชาติเดียวกัน ปล่อยให้ Exchange ต่างชาติอยู่สบาย ผิดกับ Regulator ประเทศอื่นที่มีแต่ปกป้องผู้ประกอบการชาติเดียวกันเป็นหลัก ท่านแน่ใจหรือว่าพฤติกรรมบีบคอผู้ประกอบการในประเทศ แต่วางเฉยกับผู้ประกอบการต่างประเทศที่อยู่นอกการกำกับดูแล เป็นผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยแล้ว เหมือนกับการล่มสลายของ FTX ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจาก ก.ล.ต. แน่นอนว่าต้องมีคนไทยเสียหาย ก.ล.ต. รู้ทั้งรู้ แต่ไม่เคยมี action ที่ชัดเจน เพื่อป้องกัน สกัดกั้น หรือปกป้องนักลงทุนไทยแต่อย่างใด ถ้านำเรื่องนี้ไปถามท่านเลขาฯ คงไล่ให้ไปเปิดแอปพลิเคชัน SEC Check First หากไม่พบรายชื่อ FTX ในแอป ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นผู้ประกอบการที่ไม่หวังดี ซึ่งแอปนี้เป็นผลงานเชิงรับ (defensive) อันแสนภาคภูมิใจของท่านกระนั้นหรือ

5.หุ้น More รู้ทุกช่องโหว่ตลาดทุน แต่คอยไล่กวดขันทีหลัง

มหกรรมการซื้อขายหุ้น “MORE” ที่โบรกเกอร์บางคนใช้คำว่า “ปล้นกลางแดด” เนื่องจากเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะไม่เคยมีใครที่จะกระทำการแบบนี้ ที่มาทำรายการซื้อขายและจะชิ่งไม่ยอมจ่ายเงิน โดยทิ้งภาระให้เป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์ที่ต้องทำหน้าที่ในการเคลียริ่งหุ้น 4.5 พันล้านบาท

หนึ่งไฮไลท์ที่น่าสนใจจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือ รายการซื้อขายหุ้น MORE เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พ.ย.2565 มีการตั้งคำสั่งซื้อ (ATO) ที่ราคา 2.90 บาท มีปริมาณการซื้อขายที่  1,531.77 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4,442.13 ล้านบาท รายการซื้อขายหุ้น MORE ที่เกิดขึ้นในปริมาณที่มาก ซึ่งกรณีปกติแบบนี้จะเป็นรายการซื้อขายรายใหญ่ (บิ๊กล็อต) ทำให้โบรกเกอร์ที่รับคำสั่งซื้อ เริ่มรู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น และเริ่มตรวจสอบโบรกเกอร์ด้วยกันจึงรู้ว่าคำสั่งซื้อ ATO ที่ 2.90 บาท  กระจายจากโบรกเกอร์ประมาณ 14-20 ราย เพราะเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำหนดว่าลูกค้าแต่ละรายไม่สามารถสั่งซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งในแต่ละครั้งได้เกิน 20 ล้านหุ้น ตัวแทนโบรกเกอร์ได้เข้าหารือกับ ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อร่วมหาทางออกและให้คำสั่งซื้อดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะเห็นว่าหุ้น MORE  มีสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ โดยเหล่าโบรกเกอร์มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น AI ของตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะตรวจจับได้ แต่ทาง ก.ล.ต.มองว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโบรกเกอร์ หากทำให้รายการเป็นโฆฆะจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ที่ทำรายการด้วย

แม้เหตุผลของ ก.ล.ต.จะฟังดูมีน้ำหนัก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจนโบรกกเกอร์หลายรายต้องกลายเป็นแพะรับบาป รับผิดชอบเคลียร์ริ่งมูลค่าการซื้อขายหุ้น MORE หลายพันล้านบาท ทำให้รู้ว่าตลาดทุนยังมีช่องโหว่ให้ฉ้อฉล กลายเป็นชิ้นเนื้อร้าย ตีหัวโบรกเกอร์ผ่านหุ้น MORE

ระบบ AI ตรวจสอบบัญชีซื้อขายผิดปกติมีไว้ทำไม ถ้าไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างทันท่วงที

เหตุการณ์หุ้น MORE สะท้อนช่องโหว่ให้ทุนโบรกเกอร์ใหญ่และทุนปั่นบางรายเข้ามาชิงความได้เปรียบ หักเหลี่ยมเฉือนคมจนนักลงทุนรายย่อยกลายเป็นแมงเม่าบินเข้ากองไฟ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก จะหันไปแสวงหาการลงทุนโลกใหม่อย่าง คริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะกระดานเทรดคริปโตฯ ในต่างประเทศที่อยู่เหนือการควบคุมของ ก.ล.ต. ซึ่งหากเกิดความผันผวนขึ้นก็ยากจะเข้าไปบริหารจัดการ

แต่ก็เป็นธรรมดา ถ้าของในบ้านไม่ดี ไม่อร่อย ติดกฎระเบียบหยุมหยิม ก็ไม่แปลกใจว่าทำไมคนไทยโหยหาสินค้าใหม่นอกบ้าน เพราะเข้าถึงง่าย เครื่องมืออำนวยความสะดวกครบครัน และกระดานซื้อขายต่างประเทศไม่มีเกณฑ์การซื้อขายขั้นต่ำ เมื่อนักลงทุนหนีไปเทรดกระดานนอก เหรียญนอก ก.ล.ต. เอื้อมไม่ถึง โอกาสความเสียหายของนักลงทุนไทยก็ยิ่งเสี่ยงตาม อย่าชี้หน้าว่านักลงทุนเจ๊งกันเพราะศึกษาน้อย เพราะขนาดทุนใหญ่ยังหลวมตัวเข้าไปจับมือกับกระดานเทรดเมืองนอกจนเกือบเสียหายมาแล้ว

ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจนี้ ควรเน้นการส่งเสริมแบบไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งธุรกิจที่เป็นของคนไทย และ ธุรกิจข้ามชาติ

ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา ก.ล.ต. เดินสายโชว์ผลงาน เคลมว่าบัญชีการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จากปี 2562 ซึ่งมีประมาณ 1 แสนบัญชี เป็นประมาณ 3 ล้านบัญชี ภายในเวลา 3 ปี ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้เวลากว่า 40 ปี  จึงมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในจำนวนใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ต่างชาติเชื่อมั่นต่อวงการคริปโตฯ ไทย แต่แท้จริงแล้วล้วนเป็นผลงานโปรโมทของเอกชนทั้งสิ้น

วันนี้ “เวียดนาม” ครองแชมป์ประเทศอันดับหนึ่งของโลกที่มีการใช้คริปโตฯ ตามด้วยประเทศฟิลิปปินส์, ยูเครน อินเดีย และสหรัฐฯ ตามลำดับ ที่สำคัญคือนี่ไม่ใช่ปีแรกที่เวียดนามครองตำแหน่งนี้ แต่เป็นการครองตำแหน่ง 2 ปีซ้อน ต่อจากปี 2564 “สปป. ลาว” ทุ่มเทเปิดรับเทรนด์คริปโตฯ ผ่านการอนุญาตให้บริษัท 6 แห่งทำการค้าและขุดเหรียญคริปโตฯ

ระวังไทยจะถูกเวียดนามหรือแม้แต่ สปป.ลาวแซงหน้าเพราะไม่ส่งเสริม “คลื่นลูกใหม่” ที่มีพลังช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ออกกฎแปลกๆ ที่นักลงทุนเกาหัวแกรกๆ ว่าออกมาเพื่ออะไร หรือออกมาเพื่อใคร

จนอาจถูกตราหน้าว่า regulator ไทยไร้ความสามารถ แต่ยังทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts