วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจกสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 45/2565

Related Posts

กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 45/2565

กสม. ชี้กรณีกองบิน 56 จังหวัดสงขลา ลงโทษทหารที่มีอาการทางจิตเวช ข้อหาหนีราชการด้วยวิธีการเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เป็นการละเมิดสิทธิฯ – แนะหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยให้เข้าถึงที่ทำกิน และสั่งไม่ฟ้องชาวบ้านข้อหาบุกรุก เหตุอาศัยทำกินมาก่อนประกาศเขตอุทยาน

วันที่ 22 ธันวาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 45/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. ชี้กรณีกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 จังหวัดสงขลา ลงโทษทหารซึ่งป่วยทางจิตเวชข้อหาหนีราชการด้วยวิธีการเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เป็นการละเมิดสิทธิฯ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 จากผู้ร้องรายหนึ่งระบุว่า เมื่อปี 2560 บุตรชายของผู้ร้องได้สมัครเป็นพลทหารกองประจำการ ประจำปี 2560 ผลัด 2 สังกัดกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 จังหวัดสงขลา (ผู้ถูกร้องที่ 2) ต่อมาได้หนีราชการไปจากต้นสังกัดตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2561 หลังกลับมารับราชการได้ถูกลงทัณฑ์จำขัง โดยในระหว่างนั้น ผู้ร้องอ้างว่าบุตรชายถูกเจ้าหน้าที่ทหารกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 (ผู้ถูกร้องที่ 1) และนักโทษในเรือนจำทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บหลายแห่งเป็นเหตุให้กลายเป็นคนพิการและสติฟั่นเฟือน ภายหลังเกิดเหตุ กองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 ไม่ได้เยียวยาหรือชดเชยความเสียหายให้กับผู้ร้องและบุตรชายซึ่งเป็นผู้เสียหายแต่อย่างใด จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 ซึ่งได้บัญญัติให้การรับรองและคุ้มครองไว้ว่า การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และการทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการอันโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้ อีกทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี กำหนดให้รัฐภาคีป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันมีลักษณะที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกเป็นสองประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง การจำขังผู้เสียหายไว้ที่เรือนจำทหารในข้อหาหนีราชการไปจากต้นสังกัดและการลงโทษผู้เสียหายเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เสียหายถูกลงทัณฑ์จำขังโดยควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำทหาร กองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 56 เป็นเวลา 72 วัน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหมที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนที่เรือนจำกองบินจะนำตัวผู้เสียหายไปควบคุมนั้น ได้นำผู้เสียหายไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลกองบิน 56 และได้ทราบว่า ผู้เสียหายมีอาการทางจิตเวชก่อนจำขังแล้ว แต่ก็ยังคงลงโทษผู้เสียหายด้วยวิธีการคุมขังซึ่งเป็นวิธีการลงโทษแบบเดียวกับการลงโทษบุคคลทั่วไปที่กระทำผิดวินัยทหาร โดยไม่มีมาตรการรองรับสำหรับบุคคลผู้มีอาการทางจิตเวช ซึ่งในระหว่างที่ควบคุมตัวผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายยังคงมีอาการทางจิตเวชรุนแรง ทั้งการหลบหนี การทำร้ายร่างกายตนเอง และกระทั่งนอนจมกองปัสสาวะหรืออุจจาระ แต่ยังคงถูกจำขังและเพิ่มบทลงโทษให้มีการจำขังเดี่ยวซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งไม่เหมาะสม แม้ว่าการดำเนินการจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้กับบุคลทั่วไป หากเป็นบุคคลที่มีอาการทางจิตจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ด้วย การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำในลักษณะย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เสียหายซึ่งมีลักษณะเป็นการทรมาน จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สอง หน่วยงานต้นสังกัดและเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากประวัติการรักษาพยาบาลของผู้เสียหายจากโรงพยาบาลกองบิน 56 และโรงพยาบาลหาดใหญ่ ประกอบกับข้อเท็จจริงของศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 9 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก ไม่ปรากฏรายงานการบันทึกของแพทย์หรือรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ชี้ได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายจริง อีกทั้งจากการลงพื้นที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ที่ได้สอบข้อเท็จจริงจากแพทย์โรงพยาบาลตรัง ผู้ทำการรักษา พบว่า ร่องรอยบาดแผลของผู้เสียหายมีเพียงรอยแผลกดทับที่ก้นกบเท่านั้น ในชั้นนี้ จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่แสดงได้ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานต้นสังกัดได้ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่กล่าวอ้าง

ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยให้กองบิน 56 จังหวัดสงขลา เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหาย และครอบครัว และให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทัณฑ์ทหารในลักษณะที่เป็นการจำขังต่อทหารที่มีอาการทางจิตเวช เพื่อให้มีความสอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเป็นภาคี และให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts