- กสม. แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยให้เข้าถึงที่ทำกินและร่วมใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ เสนอพิจารณาสั่งไม่ฟ้องชาวบ้านที่อาศัยอยู่ก่อนประกาศเขตอุทยาน
นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นชอบให้มีการศึกษาเพื่อจัดทำรายงานข้อเสนอแนะกรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ประกอบกับมีผู้ร้องเรียนว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ซึ่งอาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินนโยบายของหน่วยงานภาครัฐและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายกรณี จึงขอให้ตรวจสอบ นั้น
กสม. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 โดยเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิและสถานะของบุคคล สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว และสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐ โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ ใน 4 ประเด็น ดังนี้
1) สิทธิชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง เป็นชุมชนดั้งเดิมที่เคยตั้งถิ่นฐานและอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี 2524 ย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐและมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันถือเป็นสิทธิของบุคคลและชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 และมาตรา 57 และเห็นว่า การดำเนินการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมา มิได้ดำเนินการให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยซึ่งถือเป็นชุมชนดั้งเดิมได้เข้าถึงสิทธิชุมชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างแท้จริง จึงเห็นว่า กรณีนี้มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีการจับกุมและการดำเนินคดี
จากการตรวจสอบพบว่า ในเหตุการณ์จับกุมและดำเนินคดีกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ในความผิดฐานบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุม การตรวจสอบสารพันธุกรรม การจัดล่ามแปล และการสอบสวน เจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นว่า กรณีนี้มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
3) สิทธิและสถานะของบุคคล กรณีการกำหนดสถานะบุคคลของกลุ่มกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย
จากการตรวจสอบพบว่า จังหวัดเพชรบุรีได้แต่งตั้งคณะทำงานในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่บางกลอย จังหวัดเพชรบุรี โดยมีคณะทำงานด้านสำมะโนประชากร และอำเภอแก่งกระจานได้ดำเนินการผ่านคณะทำงานด้านสำมะโนประชากร ภายใต้คำสั่งจังหวัดเพชรบุรี มาอย่างต่อเนื่องกระทั่งถึงปัจจุบัน จึงเห็นว่า กรณีตามคำร้องนี้ไม่พบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด
4) สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว และสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐ
จากการตรวจสอบพบว่า รัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามในการจัดสรรที่ดิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอยนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา แต่จากข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่สะท้อนให้เห็นว่า การจัดสรรที่ดินยังคงมีความไม่เหมาะสมและมาตรการให้ความช่วยเหลือรวมถึงการใช้มาตรการด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของรัฐยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปัญหาการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขของรัฐอันเนื่องจากการคมนาคมที่ไม่สะดวก ข้อจำกัดเชิงพื้นที่ซึ่งห่างไกลจากโรงพยาบาล และปัญหาการสื่อสาร จึงเห็นว่า การดำเนินการของรัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมา ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย
ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 จึงเห็นควรให้มีมาตรการและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
1) ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดการสำรวจการถือครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยให้เป็นปัจจุบัน โดยให้สำรวจความประสงค์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่เคยถูกอพยพโยกย้ายถิ่นฐานในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินตามวิถีชีวิตดั้งเดิมในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดเจตจำนงของตนเองและชุมชนเป็นสำคัญ และเร่งพิจารณากฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และมาตรา 65 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยพิจารณาประกอบกรณีที่ กสม. ได้เคยให้ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคณะรัฐมนตรีด้วย นอกจากนี้ ให้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจับกุมและดำเนินคดี ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกหมายจับ การควบคุมตัว การแจ้งสิทธิ การติดต่อญาติหรือผู้เสียหายที่ไว้วางใจ รวมทั้งการจัดเตรียมทนายความ และล่ามแปลภาษาว่า มีการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายหรือหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องหรือไม่
2) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้คณะรัฐมนตรีเร่งรัดพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ที่เสนอโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และควรพิจารณาจัดตั้งกลไกที่เป็นรูปธรรมเพื่อผลักดันพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และควรอำนวยการให้เกิดการบูรณาการการแก้ไขปัญหาจากผู้แทนที่รอบด้านทั้งภาครัฐ ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ นักวิจัย/นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และองค์กรท้องถิ่น
นอกจากนี้ ให้อัยการสูงสุดและอัยการจังหวัดเพชบุรี พิจารณาใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องในคดีอาญาที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยถูกดำเนินคดีอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์จับกุมและควบคุมตัวเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 หากเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วย
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
22 ธันวาคม 2565