วันที่ 28 ธ.ค.2565 ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 66 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) เฉพาะส่วนที่กำหนดเหตุที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ โดยให้นำเหตุที่จะออกหมายจับตามมาตรา 66 มาใช้โดยอนุโลม ซึ่งเหตุตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า (1) เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี หรือ(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการหนึ่ง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มาตรา 28 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง
และยังมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัย ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 วรรคหนึ่ง (2) (3)(4) และ (5) ที่กำหนดเหตุที่ศาลสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อ ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 26 วรรคหนึ่ง มาตรา 28 วรรคหนึางและมาตรา 29 วรรคสอง และวรรคสาม
ทั้งนี้คดีดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียน จากนายจิรัฎฐ์ รุ่งอุทัย ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 66 วรรคหนึ่ง (1) และ(2) และมาตรา 108/1 วรรคหนึ่ง (2)(3)(4) และ (5) เฉพาะส่วนที่กำหนดเหตุการณ์ควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยอาศัยเหตุอื่นนอกจากเพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 26 วรรคหนึ่ง มาตรา 28 วรรคหนึ่ง และมาตรา 29 วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่